ก่อนอื่นคงต้องขอนอกเรื่องเล็กน้อยด้วยการแสดงยินดีกับแฟนๆหงส์แดงทุกคนด้วย ผมโดดเรียนมานั่งดูสดๆ ถึงแม้ผมจะไม่ใช่แฟนหงส์ แต่ก็เชียร์ลิเวอร์พูลเต็มที่ ตอนที่อลอนโซ่ตีเสมอได้สำเร็จนี่มันอารมณ์มันถึงขีดสุดๆจริงๆนะครับ
ต้องชมเชยหัวจิตหัวใจนักสู้ของนักเตะลิเวอร์พูลทุกคนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แต่ถ้าจะให้เลือกแมนออฟเดอะแมทช์คนเดียว ผมคงต้องเลือกดูเด็คนั่นแหละครับ เพราะทั้งซูเปอร์เซฟลูกยิงเชฟเชนโกช่วงต่อเวลา แล้วก็มาเต้นแร้งเต้นกา (เลียนแบบบรู๊ซ กรอบเบลล่าตอนปี 1984) จนเซฟจุดโทษได้อีกสองลูก!
เอาแหละครับ กลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่า
ผมได้เกริ่นไว้ในตอนแรกว่า เป้าหมายของ Jeffrey Sachs ที่เขาเขียนไว้ใน The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time นั้น คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025
ก่อนที่ผมจะเขียนถึงข้อเสนอของ Sachs ต่อไปนั้น ผมคิดว่าเราควรจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คนยากจนที่ยากจนที่สุด (the extreme poor หรือ the poorest of the poor) ที่เขาต้องการจะช่วยเหลือนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และทำไมพวกเขาถึงยากจน
เราสามารถใช้ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประชากรโลก (ซึ่งมีประมาณ 6 พันล้านคน) ออกได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ
กลุ่มแรกคือ คนยากจนที่สุด (extreme poor or the poorest of the poor) คนจนในกลุ่มนี้เป็นคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวันเพื่อความอยู่รอด พวกเขาแทบไม่มีรายได้เลย (น้อยกว่า $1 ต่อวัน) พวกเขาขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีพ คือ ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขอนามัย ขาดแคลนยารักษาโรค ต้องเผชิญกับโรคร้ายต่างๆโดยไม่มีเงินจะรักษา พวกเขามีอายุเฉลี่ยเพียง 40-50 กว่าปีเท่านั้น คนจนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชเพื่อยังชีพ ไม่มีผลผลิตเหลือพอที่จะขายได้ หรือถึงแม้จะมีผลผลิตเหลือก็ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ (อาจเป็นเพราะตลาดอยู่ไกลเกินกว่าที่พวกเขาจะเดินทางไปถึงก่อนที่ผลผลิตจะเน่าเสียก่อน)
ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความทุกข์ และความตายอยู่ตลอดเวลา ประชากรโลกประมาณ 1.1 พันล้านคนจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจนที่สุดนี้ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียใต้ คนจนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ Sachs ต้องการจะช่วยเหลือครับ
กลุ่มที่สองคือ คนยากจน (the poor or the moderate poor) ถึงคนจนกลุ่มนี้จะมีรายได้น้อย ($1 - $2 ต่อวัน) แต่พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างทรมานทุกๆวันเหมือนคนจนกลุ่มแรก คนจนกลุ่มที่สองนี้พอมีอาหารกิน มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอยู่บ้าง แต่ก็ต้องต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อหาเงินมาซื้อปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ คนจนเหล่านี้มักจะมีหนี้สินมาก เพราะบางครั้งต้องไปกู้ยืมมาใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ลดลง (consumption smoothing)
คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 1.5 พันล้านคนในโลก มีทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในชนบทและในเมืองใหญ่ต่างๆ คนจนในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในกลุ่ม moderate poor นี้เองครับ ถ้ารวมคนจนทั้งหมดกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองก็จะได้ประมาณ 2.5 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรโลก
กลุ่มที่สามคือ คนมีรายได้ระดับกลาง (middle-income) คนเหล่านี้ก็คือคนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อาจจะแบ่งย่อยออกเป็น higher-middle กับ lower-middle income ก็ได้ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง คนเหล่านี้ไม่มีปัญหาเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ มีอาหารการกินดี และมีโอกาสทางการศึกษา คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2.5 พันล้านคน ซึ่งก็รวมไปถึงคนชั้นกลางในเมืองไทยด้วยครับ
กลุ่มสุดท้ายคือ คนรวย (the rich or high-income) คนกลุ่มนี้คงทราบกันดีนะครับ มีชีวิตที่สุขสบาย รายได้เกินพอในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นเศรษฐีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา คนกลุ่มนี้ก็มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านคนครับ
ถึงตรงนี้ก็ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายของ Sachs คือการช่วยเหลือคนจนที่ยากจนมากๆกลุ่มแรก (extreme poor) ไม่ใช่กลุ่มที่สอง ดังนั้น ข้อเสนอของ Sachs จึงไม่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือคนจนกลุ่มที่สองได้ เพราะโจทย์ปัญหามันไม่เหมือนกันครับ
......
Sachs ได้เปรียบเทียบการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเหมือนการปีนบันไดการพัฒนา (ladder of economic development) ประเทศร่ำรวยก็อยู่ขั้นสูงๆบนบันได ส่วนประเทศยากจนก็ยังอยู่ช่วงล่างของบันไดหรือบางประเทศอาจยังไม่ได้เริ่มปีนด้วยซ้ำ
ข่าวดีก็คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (part of the moderate poor, most of the middle-income, and the rich) กำลังปีนไต่บันไดการพัฒนาอยู่ กำลังก้าวขึ้นไปบนขั้นที่สูงขึ้นๆ หมายความว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็มีเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นบวก บวกมากบวกน้อยแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นบวก ผู้คนเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น โดยภาพรวมแล้ว คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิต (ด้านวัตถุ) ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
แน่นอนว่าคนจนกลุ่มที่สอง (moderate poor) หลายคนก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ผมได้เขียนบอกไปแล้วว่าแนวทางของ Sachs ไม่ได้โฟกัสที่คนจนกลุ่มนี้ แต่โฟกัสที่คนจนที่ยากจนที่สุด (extreme poor) ครับ
ข่าวร้ายก็คือ ยังมีคนอีกร่วม 1 พันล้านคนในโลก (the extreme poor) ที่ยังไม่ได้เริ่มปีนบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจเลย ขั้นบันไดขั้นแรกดูเหมือนจะอยู่สูงเกินกว่าที่คนจนเหล่านี้จะก้าวปีนขึ้นไปถึง เพราะพวกเขากำลังติดอยู่ใน "กับดักความยากจน" (poverty trap) ซึ่งพวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดออกมาจากกับดักนี้ได้
หรือถ้าใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์หน่อยก็อาจจะเรียกได้ว่าคนจนเหล่านี้ติดอยู่ใน very-low-income stable equilibrium ก็ได้ครับ
Sachs ได้เน้นย้ำประเด็นนี้หลายครั้งว่า คนจนที่ยากจนที่สุดนี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ด้วยตัวเอง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นจากกับดักนี้ เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากกับดักที่หน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้แล้ว พวกเขาถึงจะสามารถช่วยตัวเองต่อไปได้ครับ
คำถามสำคัญต่อไปก็คือ ทำไมคนจนเหล่านี้ถึงติดอยู่ในกับดักความยากจนและไม่สามารถสลัดตัวเองให้พ้นจากกับดักนี้ได้? ทำไมเศรษฐกิจของประเทศอย่างเอธิโอเปียหรือเคนย่าถึงไม่เติบโต?
ถ้าเราถามคำถามนี้กับคนรวยในประเทศพัฒนาแล้ว คำตอบที่เราจะได้รับจากคนส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้นเรื่องคอร์รัปชั่น คนเหล่านี้มักจะบอกว่าประเทศเหล่านี้ยากจนเพราะรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุจริตโกงกิน
ในความคิดของ Sachs นั้น เขาไม่เถียงว่าประเทศยากจนบางประเทศมีรัฐบาลที่ทุจริตแบบสุดๆไร้ประสิทธิภาพที่สุด แต่เขาเน้นชัดว่า มีประเทศยากจนอีกมากมายที่มีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหาความยากจน และมีการคอร์รัปชั่นไม่มากนัก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงไม่ควรกล่าวโทษคอร์รัปชั่นว่าเป็นสาเหตุหลักประการเดียวของปัญหาความยากจน
Sachs บอกว่ามีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายข้อที่ทำให้เศรษฐกิจบางประเทศไม่เติบโตและติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน ผมจะขอยกเอาข้อที่สำคัญๆมานะครับ
ข้อแรก ความยากจนเองนั่นแหละที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต เศรษฐกิจจะเติบโตได้ก็ต้องมีการลงทุน จะมีการลงทุนได้ก็ต้องมีการออม แต่ผู้คนเหล่านี้ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะบริโภคเพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวันเลยด้วยซ้ำ พวกเขาจะมีเงินออมได้อย่างไร? เมื่อไม่มีเงินออมก็ไม่มีการลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนรายได้ก็ไม่เติบโต
นอกจากนี้ การลงทุนในตัวคน (human capital) ก็ไม่มี เพราะลูกหลานของคนเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษา หนำซ้ำทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ก็กำลังหมดไปเรื่อยๆ เพราะดินที่พวกเขาใช้เพาะปลูกนั้นขาดการบำรุงรักษา ทำให้แร่ธาตุในดินลดลงไปมาก ผลผลิตก็ลดลงตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยากจนนั่นแหละที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นออกมาจากกับดักความยากจนได้
ข้อสอง ลักษณะภูมิศาสตร์ทางกายภาพ (Physical Geography) ทำให้พวกเขาติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน Sachs ค่อนข้างให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศมากทีเดียว บางประเทศยากจนเพราะว่าไม่มีทางออกทางทะเล บางประเทศไม่มีแม่น้ำที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง บางประเทศมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงซึ่งการคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ทำให้การค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศมีต้นทุนค่าขนส่งสูง เมื่อค้าขายไม่ได้ก็ยากที่จะเพิ่มรายได้
จริงๆแล้ว Adam Smith ก็ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องภูมิประเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ไว้ด้วยเช่นกัน เขาเขียนไว้ว่าประเทศที่มีชายฝั่งติดทะเลที่เหมาะสมเป็นท่าเรือ และมีแม่น้ำที่เหมาะสมต่อการคมนาคม จะเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเริ่มขึ้นที่ริมฝั่งทะเลก่อน แล้วค่อยๆรุกคืบเข้าไปในผืนแผ่นดิน
ลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศลาวดูนะครับ แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมเราถึงพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วกว่าลาว เมืองไทยมีที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ มีฝนจากมรสุมที่ตกต้องตามฤดูกาล (ยกเว้นภาคอีสานที่แห้งแล้ง) มีแม่น้ำอื่นๆและคลองมากมายที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง มีชายฝั่งติดทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งหมดนี้เอื้อต่อการเกษตรกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าขายกับต่างประเทศทั้งสิ้น ในขณะที่ลาวนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง การเพาะปลูกและการคมนาคมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งลาวยังไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้การค้าขายและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก
นอกจากนี้ ประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรยังต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมาลาเรีย บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมประเทศแถบแอฟริกาจึงมีการแพร่ระบาดของมาลาเรียมากกว่าในเอเชียมากนัก สาเหตุข้อหนึ่งก็คือ ยุงเอเชียกับยุงแอฟริกาไม่เหมือนกันครับ! ยุงเอเชียชอบกัดวัวควาย แต่ยุงแอฟริกาชอบกัดคน การแพร่เชื้อมาลาเรียได้นั้น ยุงจะต้องกัดจากคนคนหนึ่งที่มีเชื้อ หลังจากนั้นเชื้อจะต้องใช้เวลาฟักตัวในตัวยุงประมาณเจ็ดวัน (เท่ากับเวลาชีวิตของยุง) พอวันที่เจ็ดเมื่อยุงไปกัดคนอีกคนหนึ่ง คนๆนั้นก็จะได้รับเชื้อเข้าไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่คนแอฟริกาจะได้รับเชื้อก็มีมากกว่าคนเอเชีย เพราะยุงแอฟริกันชอบกัดคนมากกว่ากัดวัวควาย!
ข้อสาม รัฐบาลของประเทศยากจนนั้นขาดงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศยากจนนั้นแทบไม่มีรายได้จากการเก็บภาษีเลย เพราะประชาชนยากจนจึงไม่มีเงินเหลือจ่ายภาษี เมื่อขาดงบประมาณ รัฐก็ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง และด้านอื่นๆที่จำเป็น เมื่อไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เศรษฐกิจก็ยากที่จะเติบโตได้
ข้อสี่ อัตราการเติบโตของประชากรในประเทศยากจนส่วนใหญ่จะสูง เมื่อครอบครัวคนยากจนมีลูกมาก พ่อแม่ก็ไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารให้ลูกทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่มีเงินส่งให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินดูแลรักษาสุขภาพของลูกแต่ละคน ทำให้เด็กๆเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และขาดการศึกษา เมื่อเป็นผู้ใหญ่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความยากจนอีก
ข้อห้า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นมักจะเกิดขึ้นในประเทศที่คนมีรายได้ดี เพราะมีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น สามารถทำกำไรได้ แต่ในประเทศยากจนที่ผู้คนแทบไม่มีรายได้เลยนั้น ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเลย เพราะไม่มีดีมานด์ ไม่มีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น
อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศสามารถใช้ advantage of backwardness ได้ โดยนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้หรือดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุน (ในประเด็นนี้ Sachs ตั้งข้อสังเกตว่าการลงทุนจากต่างชาตินั้นจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองชายฝั่งที่ติดทะเลเสมอ) แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถทำอย่างนี้ได้นะครับ ประเทศยากจนหลายประเทศไม่มีเงินจะไปซื้อเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ (อาจเป็นเพราะไม่มีทางออกทางทะเล ไม่มีชายฝั่ง หรือขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน)
......
ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ Sachs ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า the extreme poor กำลังติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจนที่พวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดพ้นออกมาได้
ขั้นแรกของบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจยังอยู่สูงเกินกว่าที่พวกเขาจะก้าวขึ้นไปถึง
Sachs เห็นว่าประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยให้ประเทศยากจนเหล่านี้หลุดพ้นจาก extreme poverty ให้ได้ หลุดพ้นจากกับดักความยากจนให้ได้ นั่นคือต้องช่วยให้พวกเขาได้ประเดิมก้าวแรกบนบันไดแห่งการพัฒนาให้ได้เสียก่อน
เมื่อประเทศยากจนสามารถเริ่มปีนบันไดขั้นแรกได้แล้ว Sachs เชื่อว่าพวกเขาก็จะสามารถปีนบันไดขั้นต่อๆไปได้ด้วยตัวเอง เหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆได้ทำมาแล้ว
จะว่าไปสถานการณ์มันก็คล้ายๆกับลิเวอร์พูลตอนตามหลังมิลาน 0-3 นะครับ นักเตะลิเวอร์พูลต้องการประตูแรกให้ได้โดยเร็วที่สุด ประตูที่สองและสามจึงจะตามมาได้ ถ้าไม่ได้ลูกแรก ลิเวอร์พูลก็คงติดอยู่ใน poverty trap (lack of goals, not lack of money) เหมือนกัน
ส่วนแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ของ Sachs จะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โปรดติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปนะครับ
2 comments:
Hej från Sverige ja (Hi from Sweden!!)
แวะมาเยี่ยมเยียนเอกเนาะ ไอ้ final นั่นก็ดูเหมือนกัน นั่งมุงจอกันเต็มหอ ฟ้าไม่เชียร์ทั้งลิเวอร์พูลและมิลานหรอกนะเอก แต่เพื่อนคนอิตาลีอีกสี่ห้าคนนั่งดูข้าง ๆ ฟ้าเลยทำใจเชียร์มิลานตาม ฮ่า ๆ ตอนลูกโทษนี่ ฮึ๊ยยยย อยากจะไปช่วยจับดูเดคให้มันยืนนิ่ง ๆ หน่อย ทำตัวยึกยือ ๆ เป็นไส้เดือนโดนน้ำขี้เถ้าไปได้ แต่ตอนนี้ล่ะ จะคอยดู เป็นแชมป์แต่ได้ที่ห้า วะฮ่ะฮ่า จะได้เข้าเล่นปีถัดไปมั้ยน้อออ หงส์น้อย...
เอกกลับเมื่อไร? เรายังอีกนานโขเลย เพราะจะไปเกาะแกะอยู่บ้านเพื่อนที่สวิสสองอาทิตย์หลังปิดเทอม ตอนนี้มัวแต่นั่งฝันหวานว่าเมื่อไรจะได้ไป หนังสือหนังหาสอบยังไม่กระเตื้องเลยยย
ไม่ได้คุยตั้งนาน มีการบ้านให้ไปหาที่แปลสวีดิชดีกว่าเนาะ ^^
Jag är mycket bra här. Vädret är så fint nu. Det finns inte mer snö!! Vår kommar!! Jag tycker om vår~~ ^^ Jag saknar båda Jair och Aek na.
Ha det bar!!! och vi ses i juni ja..
Kram~~~
คิดตึ๋งงง ทั้งป้าแจ และเอกอีเอ๊กเอ๊ก
FAH
http://spaces.msn.com/members/fahfah/
อ่านแล้วรู้สึกว่ามันหม่นหมองจริงๆนะครับ รู้สึกว่ามืดแปดด้านมาก ไม่รู้ว่าประเทศยากจนเหล่านั้น (รวมทั้งประเทศไทยด้วยละกัน) จะนำตัวเองหลุดพ้นจากกับดักแห่งความยากจนยังไง ยังไงห็จะคอยอ่านตอนที่สามนะครับ
Post a Comment