Tuesday, October 18, 2005

บทบรรณาธิการ ECHO (ตุลาคม 2548)

กลับมารายงานตัวแล้วครับผ้ม!

David Ginola กลับมาแล้วพร้อมกับฟอร์มร้อนแรงของไก่เดือยทอง สเปอร์ส ที่ตอนนี้ตีปีกขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของตารางแล้ว (เหนือกว่าแมนยูฯ ลิเวอร์พูล และอาร์เซนอล ฮ่าๆๆ)...

ผมไม่ได้อัพบล็อกเสียนาน (เพราะเรื่องยุ่งๆและความขี้เกียจเป็นสาเหตุหลัก) ตอนนี้เลยจะพยายามกลับมาอัพอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง

วันนี้เลยขอนำบทบก.ที่ผมเพิ่งเขียนเสร็จและจะลงใน ECHO เล่นใหม่มาให้อ่านกันนะครับ

เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็คอมเมนต์ได้เลยนะครับทุกท่าน

.........

บทบรรณาธิการ

เมื่อปีก่อน ผมโชคดีที่มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ University of California, Davis เป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็คือ การได้ทำความรู้จักกับ “ตัวตน” ของคนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้เรียนรู้ถึงแนวทางการใช้ชีวิตของนักศึกษาอเมริกัน

จุดหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเป็น “บริโภคนิยม” ของนักศึกษาที่นั่น เพราะนักศึกษาแต่ละคนต่างก็ใช้จ่ายบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน (แต่ละอย่างมีขนาดใหญ่มาก) สินค้าแฟชั่น สินค้าที่เกี่ยวกับกีฬาและดนตรี หรือสินค้าเทคโนโลยีอย่าง iPod

แต่ถึงแม้พวกเขาจะบริโภคอะไรต่อมิอะไรมากมาย ผมกลับมีความรู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตที่ค่อนข้าง “เรียบง่าย สบายๆ” ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาใช้เงินอย่าง “ฟุ่มเฟือย” หรือใช้ชีวิตอย่าง “ฟุ้งเฟ้อ” แต่อย่างใด ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเห็นว่า นักศึกษาอเมริกันไม่ได้ “ใช้เงิน” เป็นอย่างเดียวแต่ยัง “หาเงิน” เป็นด้วย เพราะพวกเขารับจ้างทำงานพิเศษทั้งในช่วงปิดเทอมและเปิดเทอม ซึ่งการทำงานพิเศษเพื่อหาเงินด้วยตัวเองนี้เอง ที่ทำให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงินและรู้จักใช้เงินมากกว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ แต่จะโทษวัยรุ่นไทยก็คงจะไม่ได้ เพราะสังคมไทย (พ่อแม่ผู้ปกครอง) ก็ไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาทำงานพิเศษ หากแต่ต้องการให้พวกเขาตั้งใจเรียนให้จบปริญญาเร็วๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับตัววัยรุ่นเองและกับสังคมได้ในอนาคต ทั้งนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นก็เพราะวัยรุ่นไทยจำนวนมากขาดความเป็น “มืออาชีพ” (Professionalism) ใน “งาน” ของตัวเอง ซึ่งความเป็น “มืออาชีพ” ที่ผมพูดถึงนี้ก็คือ การรู้จักรับผิดชอบใน “งาน” ของตน รักใน “งาน” นั้น และทำ “งาน” นั้นให้ดีที่สุด

แน่นอนว่า “งาน” หลักของเยาวชนก็คือการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น ความเป็น “มืออาชีพ” ของเยาวชนจึงขึ้นอยู่กับ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่หากเราลองเหลียวดูพฤติกรรมการเรียนของเยาวชนไทยในปัจจุบัน เราจะพบว่าเยาวชนไทยมีความเป็น “มืออาชีพ” น้อยจนน่ากังวลใจ

อย่างเมื่อวันก่อน ในคลาสเรียนคลาสหนึ่งของผมซึ่งควรจะเริ่มตอนเก้าโมงตรง แต่นักศึกษาส่วนใหญ่กลับนำ “การบ้าน” มาทำในห้องเรียนอย่างไม่เกรงใจอาจารย์และเพื่อนคนอื่นที่ทำเสร็จมาก่อนแล้ว ทำให้อาจารย์และเพื่อนคนอื่นต้องรอจนถึงเกือบเก้าโมงครึ่งกว่าจะได้เริ่มเรียน ส่วนการเข้าเรียนสาย การลอก (ปั่น) การบ้าน ทานขนมในห้องเรียน คุยในห้องโดยไม่เกรงใจอาจารย์ ตลอดจนถึงการโดดเรียนไปเที่ยวเล่น ต่างก็เป็นพฤติกรรมที่นักศึกษาหลายคนทำเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ พวกเขาก็แค่ไปฟังการติวจากเพื่อนที่เข้าเรียนและถ่ายเอกสารเลกเชอร์ของเพื่อนที่ตั้งใจเรียนมาอ่าน หรือไม่ก็ทุจริตในการสอบ เท่านี้ก็สามารถสอบผ่านและเรียนจบปริญญาได้

ผมพยายามมองโลกในแง่ดีว่า นักศึกษาบ้านเรากระทำสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่รู้สึกตัว คือเห็นเพื่อนคนอื่นๆ ทำกันก็เลยทำตามไปโดยไม่รู้สึกว่าไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าหากความคิดและนิสัยเหล่านี้ติดตัวพวกเขาไปจนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม บ้านเมืองเราจะไม่ยิ่งเละเทะเข้าไปใหญ่หรือ?

เมื่อผมย้อนกลับไปมองดูสังคมอเมริกัน ผมพบว่านักศึกษาที่นั่นมีความเป็น “มืออาชีพ” สูงกว่าในเมืองไทยมาก พวกเขาดูจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนค่อนข้างสูงทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน พวกเขาจะมาจับจองที่นั่ง (แถวหน้า) ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน ระหว่างเรียนก็จะไม่คุยกันเพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติอาจารย์ผู้สอน เมื่อมีปัญหาสงสัยอะไรพวกเขาก็จะไปคุยกับอาจารย์ที่ห้องพักอาจารย์ ที่สำคัญ พวกเขายังรู้จักแบ่งเวลาเรียนและเวลาเล่น คือถ้าไม่ใช่เวลาเรียน พวกเขาก็จะเที่ยวเล่นและทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเต็มที่ เหมือนปรัชญา “Study hard and play hard.” นั่นเอง

นอกจากนักศึกษาอเมริกันจะมีความเป็น “มืออาชีพ” มากกว่านักศึกษาไทยโดยรวมแล้ว ผมยังคิดว่าพวกเขาดูจะมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปของสังคมส่วนรวมมากกว่านักศึกษาไทยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งล่าสุด นักศึกษาที่นั่นก็ได้จัดการพูดปราศรัยขึ้นหน้าโรงอาหารของมหาลัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของผู้สมัครจากทั้งสองพรรค ส่วนนักศึกษาคนอื่นก็สนใจมาฟังการปราศรัยกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยที่สวยงามยิ่งในหมู่นักศึกษาที่นั่น

นอกจากนี้ นักศึกษาที่นั่นยังได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เช่น กลุ่มต่อต้านสงคราม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานในประเทศยากจนอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น เรียกได้ว่าวัยรุ่นที่นั่นรู้จักคิดถึงผู้อื่น คิดถึงสังคม และมีความพยายามที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ผมอยากเห็นวัยรุ่นไทย (และ “ผู้ใหญ่” ในสังคม) มีความเป็น “มืออาชีพ” และมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ และขอฝากคำพูดสองประโยคของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไว้ให้ทุกคนคิด

“Never regard study as a duty, but as the enviable opportunity to learn… for your own personal joy and to the profit of the community to which your later work belongs.”
“จงอย่าถือว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นหน้าที่ หากแต่เป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้... เพื่อความสุขของตัวเองและเพื่อประโยชน์ของสังคมที่เราจะทำงานให้”

“The value of a man resides in what he gives and not what he is capable of receiving.”
“คุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาให้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาสามารถแสวงหามาได้”

มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนกันเถอะครับ

Sunday, August 21, 2005

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

สวัสดีครับ ช่วงนี้ไม่ได้อัพบล็อกมานาน เพราะเปิดเทอมแล้ว งานค่อนข้างเยอะครับ

พรุ่งนี้ก็จะถึงเวลา Meet the Bloggers แล้ว รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่เด็กที่สุดในชุมชนนี้ (แฮ่ๆ)

วันนี้ตอนแรกผมกะว่าจะเขียน "เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้" ตอนสุดท้ายให้จบ แต่ปรากฎว่าอากาศที่บ้านผมมันร้อนมากๆ เลยไม่มีอารมณ์เขียนถึงแอฟริกาใต้อันหนาบเหน็บ (เกี่ยวกันไหมเนี่ย)

ผมเลยเขียนเรื่องนี้แทน

เดี๋ยวเจอกันนะครับ

.........

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้กันดีว่า ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์นั้นคือ “การเลือก” หรือ “การจัดสรร” ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การเลือก” เป็นกระบวนการที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่ทุกชั่วขณะเวลา เช่น เลือกว่าจะทำอะไร จะเรียนอะไร จะซื้ออะไร จะกินอะไร จะไปไหน ฯลฯ

การที่เราทุกคนต้องตัดสินใจ “เลือก” ทำอะไรบางอย่างนั้น ก็เป็นเพราะ “ทรัพยากร” ของเรามีอยู่อย่างจำกัด เช่น มีเงินจำกัดใช้ได้แค่วันละ 100 บาท หรือมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน

ในเมื่อ “ทรัพยากร” มีอยู่อย่างจำกัด แต่เรามีความต้องการอยากทำหรืออยากได้หลายอย่าง เราจึงต้อง “เลือก” ว่าจะทำอะไร

แน่นอนว่า การที่เรา “เลือก” ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เราต้องสูญเสียโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นๆไปพร้อมกันด้วย เช่น เราเลือกที่จะใช้เงิน 100 บาทซื้อตั๋วดูหนัง เราก็สูญเสียโอกาสที่จะใช้เงินจำนวนนั้นซื้อหนังสือ ซื้อเสื้อผ้า หรือซื้อซีดีเพลง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็คือ “ภาวะได้อย่างเสียอย่าง” (Trade-off) นั่นเอง

วันนี้ ผมอยากนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การเลือก” ที่แตกต่างกันระหว่างคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส ซึ่ง Paul Krugman เขียนไว้ในบทความใน New York Times เรื่อง “French Family Values” มาเล่าสู่กันฟังครับ

.........

ทุกวันนี้ พวกเราต่างก็รู้ดีว่า หากใช้ฐานะทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นตัววัด สหรัฐอเมริกาถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกชนิดที่ทิ้งคู่แข่งประเทศอื่นๆแบบขาดลอย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีขนาดใหญ่คิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของเศรษฐกิจโลก ส่วนรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของคนอเมริกันนั้นก็สูงถึงประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบกับคนอเมริกา ฐานะทางเศรษฐกิจของคนฝรั่งเศสดูจะด้อยกว่าอยู่มากพอสมควร เห็นได้จากตัวเลขรายได้ต่อหัวของคนฝรั่งเศสซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งน้อยกว่าของคนอเมริกันอยู่ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐทีเดียว

แต่คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ว่า คนอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ในชีวิตมากกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

กับคำถามนี้ คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนได้แน่ เพราะ “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ของแต่ละคนนั้นมันเป็นนามธรรมซึ่งยากจะเปรียบเทียบกันได้

แต่ถ้าผมลองตั้งคำถามใหม่อีกสองข้อต่อไปนี้ ผมคิดว่าเราน่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก

ข้อแรก คนอเมริกันร่ำรวยกว่าคนฝรั่งเศสเพราะคนอเมริกันทำงาน “เก่ง” และมีประสิทธิภาพกว่าคนฝรั่งเศสใช่หรือไม่?

กับคำถามข้อนี้ การศึกษาข้อมูลเรื่องผลิตภาพ (Productivity) ของ Organization for Economic Corporation and Development (OECD) บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผลิตภาพ (จีดีพีต่อหนึ่งชั่วโมงการทำงาน) ของคนฝรั่งเศสสูงกว่าผลิตภาพของคนสหรัฐฯอยู่เล็กน้อย พูดง่ายๆก็คือ ถ้าให้เวลาทำงานเท่าๆกัน คนฝรั่งเศสสามารถผลิตงานได้มีมูลค่ามากกว่าคนอเมริกัน

ดังนั้น เราจึงอาจสรุปได้คร่าวๆว่า ในความเป็นจริงนั้น คนอเมริกันไม่ได้ทำงาน “เก่ง” หรือมีประสิทธิภาพมากไปกว่าคนฝรั่งเศส

ข้อสอง คนอเมริกันซึ่งมีรายได้มากกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ชีวิตความเป็นอยู่” ดีกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

สำหรับคำถามข้อสองนี้ ผมขอตอบว่า “มันไม่แน่เสมอไป” ที่ผมตอบเช่นนี้เพราะผมสรุปจากข้อมูลที่น่าใจมากเกี่ยวกับพฤติกรรม “การเลือก” แบ่งเวลาการทำงานที่แตกต่างกันของคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส

ข้อมูลที่ผมว่านี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้คนฝรั่งเศสจะมีรายได้น้อยกว่าคนอเมริกันถึง 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่นั่นเป็นเพราะคนฝรั่งเศสให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ คนฝรั่งเศสให้เวลากับการพักผ่อนอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกันนั่นเอง

จริงอยู่ว่ามันมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้คนฝรั่งเศสมีชั่วโมงการทำงานและรายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนสหรัฐฯ เช่น เรื่องอัตราการว่างงานของฝรั่งเศสที่สูงกว่าของสหรัฐฯ เรื่องการเกษียณอายุการทำงานของคนฝรั่งเศสที่เร็วกว่าของคนอเมริกัน

แต่สุดท้ายแล้ว Krugman ก็สรุปว่าเหตุผลหลักจริงๆก็คือ คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกัน คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน และคนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะลาหยุดงานเพื่อเดินทางท่องเที่ยวนานกว่าคนอเมริกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งปี คนฝรั่งเศสจะหยุดงานไปเที่ยวคิดเป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์ ในขณะที่คนอเมริกันหยุดงานไปเที่ยวแค่ไม่ถึง 4 สัปดาห์ต่อปีเท่านั้น

ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในครอบครัวของคนฝรั่งเศส ครอบครัวคุณมีรายได้น้อยกว่าครอบครัวคนอเมริกัน ครอบครัวคุณจึงบริโภคสินค้าและบริการต่างๆได้น้อยกว่าครอบครัวอเมริกัน เช่น มีบ้านหลังเล็กกว่า มีรถน้อยคันกว่าหรือรุ่นเก่ากว่า มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกน้อยกว่าหรือคุณภาพด้อยกว่า แต่สมาชิกในครอบครัวของคุณมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าครอบครัวอเมริกัน

ชั่วโมงการทำงานและเงินรายได้ของครอบครัวคนฝรั่งเศสที่น้อยกว่านั้นได้ถูกทดแทนด้วย “เวลาพักผ่อนกับครอบครัว” ที่มีเพิ่มมากขึ้น

นี่คือการตัดสินใจ “เลือก” ของคนฝรั่งเศส ที่ยอมทำงานน้อยลง (ทำให้รายได้และการบริโภคลดลง) เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนและไปเที่ยวกับครอบครัวมากขึ้น เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของคนฝรั่งเศสเอง

ส่วนการตัดสินใจของอเมริกันชนผู้ “เลือก” ที่จะทำงานมากขึ้น (เพื่อเพิ่มรายได้และความสำเร็จ) โดยยอมลดเวลาพักผ่อนกับครอบครัวลงไป ก็เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของอเมริกันชนเองเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของคนอเมริกันที่สูงกว่าของคนฝรั่งเศสนั้น จึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนอเมริกันมี “ชีวิตความเป็นอยู่” ที่ดีกว่าคนฝรั่งเศส เพราะตัวเลขที่สูงกว่านั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความแตกต่างในเรื่องประสิทธิภาพหรือผลิตภาพการผลิต หากแต่เป็นผลมาจาก “การเลือก” หรือ “การจัดลำดับความสำคัญ” (Priority Setting) ที่ไม่เหมือนกันของคนสองประเทศ

จะว่าไปแล้ว พฤติกรรมการแบ่งเวลาของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของผู้คนในสองประเทศ

โดยคนอเมริกันนั้นมีค่านิยมแบบ Masculine บวกกับลัทธิปัจเจกชน (Individualism) ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่นับถือความสำเร็จในอาชีพการงานเป็นสำคัญ ยึดถือคติที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” และให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาในสังคมค่อนข้างมาก

ซึ่งประสบการณ์ของผมตอนที่ไปอยู่อเมริกาก็ได้พิสูจน์ให้ผมเห็นว่า พวกเขาค่อนข้าง “บ้างาน” และ “บ้าความสำเร็จ” มากกว่าคนประเทศอื่นจริง ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ทำงานวิจัยกันอย่างทุ่มเทมาก บางคนทำงาน 6 วันครึ่งต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ เรายังสามารถสังเกตความเป็น Masculine ของอเมริกันชนได้จากการที่คนอเมริกันซื้อรถยนต์ส่วนตัวและบริโภคสินค้าต่างๆที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขาให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรือสังเกตจากการยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคนอเมริกัน (เช่น นักกีฬา เจ้าของธุรกิจ) ให้เป็น Idols

ส่วนคนฝรั่งเศสและคนยุโรปส่วนใหญ่นั้นจะมีค่านิยมเอียงไปทางด้าน Feminine พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัวคุณภาพชีวิต และความสุนทรีย์มากกว่าความสำเร็จทางหน้าที่การงานหรือความมีหน้ามีตาทางสังคม

โดยจะสังเกตได้ว่าคนยุโรปจะไม่ค่อยยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากเท่ากับคนอเมริกัน หรือสังเกตจากชนชั้นสูงของอังกฤษ (เช่น นายธนาคารใหญ่ เจ้าของธุรกิจ) ที่ไม่ได้สนใจซื้อหารถยนต์ส่วนตัวมาโชว์ออฟ แต่ยังคงใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟใต้ดินเหมือนๆกับชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานอยู่ หรือจะสังเกตจากความตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยของอาหาร ซึ่งคนยุโรปตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้สูงกว่าคนอเมริกันมาก

.........

เรื่องราวทางเลือกที่แตกต่างกันของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสนี้ สอนให้เราตระหนักว่า การใช้ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของผู้คนในประเทศต่างๆเพื่อเปรียบเทียบ “ชีวิตความเป็นอยู่” ของพวกเขานั้น มันมีช่องโหว่และจุดด้อยที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายมิอาจมองข้ามไปได้

ตัวเลขจีดีพีที่สูงอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะให้เวลากับงานมากขึ้น ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยเวลาที่จะพักผ่อนกับครอบครัวนั้นน้อยลง (เหมือนคนอเมริกัน) ส่วนตัวเลขจีดีพีที่ต่ำอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้เวลาทำงานน้อยลงก็ได้ (เหมือนคนฝรั่งเศส)

บางคนอาจตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วสังคมไหนล่ะที่ “เลือก” ทางเลือกที่ดีกว่า?

ผมคิดว่า คำถามนี้มันไม่มีคำตอบ เพราะการที่ผู้คนในสังคมใดก็ตาม “เลือก” ที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มันแปลว่าผู้คนในสังคมนั้นได้ตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของความพึงพอใจสูงสุดของพวกเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกอย่างไร มันก็เป็นทางเลือกที่ทำให้พวกเขาได้รับความพึงพอใจมากที่สุดแล้วภายใต้สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่


เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาถูกบังคับหรือไม่ได้เต็มใจที่จะ “เลือก” ทางเลือกนั้นๆ (เช่น นโยบายของรัฐบาลทำให้คนบางคนต้อง “เลือก” ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา) ถ้าหากเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทางเลือกที่สังคมเลือกอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความพอใจสูงสุดของผู้คนในสังคมก็ได้

.........

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในบ้านเรา ตัวเลขการเจริญเติบโตของจีดีพีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอาจจะดูดีเป็นที่น่าพอใจ แต่มันอาจต้อง “แลก” ด้วยเวลาพักผ่อน (ทั้งกับตัวเองและกับครอบครัว) ที่น้อยลงก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีข้อมูล เพียงแต่อาศัยการสังเกตจากคุณแม่ผมและข้าราชการหลายคนที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาล (เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้า เป็นต้น)

ข้าราชการเหล่านี้ต้องทำงานกันหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หลายครั้งที่ต้องอยู่ทำงานจนค่ำหรือเอางานมาทำต่อที่บ้าน บางครั้งถ้าจำเป็นก็ต้องไปทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ เรียกว่าต้องทำงานมากขึ้นและนานขึ้น ในขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ผมไม่รู้ว่านี่เป็น “ทางเลือก” ที่พวกเขาได้รับความพึงพอใจสูงสุดหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอยากทำงานน้อยกว่านี้และให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้นหรือเปล่า

ผมรู้แต่ว่า ตัวเลขจีดีพีที่เติบโตนั้นมันต้อง “แลก” มาด้วยเวลาพักผ่อนกับตัวเองและครอบครัวที่ลดน้อยลง “แลก” มาด้วยเวลาที่จะใช้ชื่นชมศิลปะและสุนทรียะอื่นๆ ซึ่งเวลาพักผ่อนที่น้อยลงนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพเสื่อมโทรม ปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น เป็นต้น

ผมได้แต่หวังว่า ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะมองเห็นถึงสิ่งที่คนทำงานเหล่านี้ต้องสูญเสียไปด้วย มิใช่มัวสนใจแต่ตัวเลขการเติบโตของจีดีพี (และธุรกิจของตน) เพียงอย่างเดียว แล้วมา “บังคับ” ให้ข้าราชการทำงานหนักขึ้นๆ (ให้ทำงานเหมือนเป็นบริษัทเอกชน) แต่ไม่ได้เพิ่มค่าตอบแทนพวกเขาให้เหมาะสมกับงาน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ขึ้นอยู่คนไทยเองนั่นแหละว่าจะ “เลือก” ใช้ชีวิตแบบไหน...

แบบอเมริกัน แบบฝรั่งเศส หรือว่าแบบไทยๆ?

Wednesday, August 03, 2005

เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้ (3)

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ (เช่น การเดินป่าการเรียนรู้จากขี้สัตว์ การส่องสัตว์ การศึกษาแหล่งน้ำ) ไปแล้ว

มาในตอนนี้ ผมจะเล่าถึงกิจกรรมอื่นๆที่พวกเราเยาวชนกว่าห้าสิบชีวิตได้เข้าร่วมระหว่างเข้าค่าย Cathay Pacific Wilderness Experience นี้บ้างนะครับ ผมคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้การเดินป่าสำรวจธรรมชาติเลย

.........

กิจกรรมแรกที่ผมจะเล่าให้ฟังเป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของค่ายนี้ มันมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Mock Wedding

เรื่องของเรื่องก็คือ เยาวชนแต่ละชาติจะต้องแสดงพิธีแต่งงานประจำชาติ (พิธีแบบจำลองนะครับ ไม่ใช่ของจริง) ให้ทุกคนในค่ายได้ชมกันเป็นขวัญตา เก๋ดีไหมครับ?

เยาวชนทุกคนต่างก็ต้องเตรียมตัวอย่างดีเพื่อให้การแสดง “งานแต่งงานประจำชาติจำลอง” นี้ออกมาได้ดีที่สุด โดยเริ่มเตรียมตัวกันตั้งแต่ก่อนเข้าค่าย

งานนี้พวกเราเด็กไทยสามคนก็ต้องเตรียมชุดไทยและอุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่นๆไปจากเมืองไทย โดยผมเตรียมชุดราชประแตน (สะกดอย่างนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจนะครับ) พร้อมโจงกระเบนสีเหลืองๆทองๆและผ้าพาดไหล่แบบไทยๆไป ส่วนสองสาวก็เตรียมชุดไทยไปด้วยเช่นกัน

ส่วนอุปกรณ์ประกอบพิธีนั้น พวกเราก็เตรียมหอยสังข์ไป แล้วก็เตรียมขนมไทย(จีน)จำพวกถั่วตัด (ขนมแบบที่เห็นกันทั่วไปในช่วงตรุษจีน) นอกจากนั้นก็เตรียมพานไปอีกสองสามอันและเตรียมกระดาษเงินกระดาษทองไปด้วย

ตอนก่อนไปค่ายนี่พวกเราสามคนก็ยังไม่ได้ตกลงกันนะครับ ว่าใครจะแสดงเป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งมันก็มีความเป็นได้หลายทาง

ทางเลือกหนึ่งคือให้ผมแสดงเป็นเจ้าบ่าว แล้วก็จะต้องให้หนึ่งในสองสาวไทยมาเป็นเจ้าสาว (จำเป็น) ของผม

ปัญหาก็คือ ดูเหมือนว่าเธอทั้งสองจะเกี่ยงกันไม่มีใครต้องการเป็นเจ้าสาวของผมเลย (ฮือๆ)

อีกทางเลือกหนึ่งคือให้หนึ่งสาวแสดงเป็นเจ้าบ่าว อีกคนก็เป็นเจ้าสาวไป แต่ก็จะติดปัญหาเรื่องชุด เพราะสองสาวไม่มีเสื้อผู้ชาย ใส่ของผมก็ขนาดไม่ได้

เลยยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเจ้าบ่าวเจ้าสาวจนถึงหนึ่งวันก่อนวันแสดงจริง

ถึงวันนั้น พวกเราตกลงกันว่า ผมจะเล่นบทพระเอกของเรื่อง นั่นคือเล่นเป็นเจ้าบ่าว ส่วนหญิงสาวผู้โชคดี (หรือโชคร้าย?) ที่จะมาเล่นบทเจ้าสาวของผมนั้นก็คือ ไผ่ สาวน้อยร่างเล็กจากพิษณุโลกนั่นเอง (ผมจำไม่ได้ว่าทำไมไผ่ถึงรับเล่นบทเจ้าสาว ไม่แน่ใจว่าสองสาวเป่ายิ้งฉุบหรือจับไม้สั้นไม้ยาวกันหรือเปล่า!)

เอาแหละครับ พอถึงวันแสดงจริง ช่วงบ่ายพวกเราก็เปลี่ยนชุดแต่งกายเป็นชุดไทย สองสาวก็ได้พี่นักข่าวสาวคนไทยสองคนช่วยแต่งหน้าให้

พอแต่งตัวเสร็จพวกเราก็เตรียมอุปกรณ์ให้เรียบร้อย หากิ่งไม้สองสามกิ่ง แล้วเอากระดาษสีเงินสีทองที่เตรียมมามาพันรอบกิ่งไม้ เอาไว้ใช้ในพิธี

ช่วงบ่ายวันนั้น ชาวค่ายทุกคนต่างก็แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของตน ทำให้บรรยากาศภายในค่ายคึกคักและดูมีสีสันตระการตาขึ้นมาเป็นพิเศษ

เด็กจีนและฮ่องกงก็มาในชุดอาหม๋วยอาตี๋ เด็กมาเลย์ก็แต่งแบบมลายู เด็กอินโดนีเซียก็มาในชุดสีเหลืองทองหรูอร่าม เด็กไต้หวันมาในชุดชาวเขา (ทำให้ผมได้รู้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีภูเขาอยู่เยอะ มีชาวเขาอาศัยอยู่หลายเผ่า)

นอกจากนี้ก็ยังมีเด็กเกาหลี ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงแขกอย่างบาห์เรน ซึ่งทุกคนต่างก็สวมใส่ชุดประจำชาติอันสวยงามของตน

เห็นแล้วชวนให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “ความหลากหลายคือความสวยงาม” ขึ้นมาทันที

พอตกค่ำ หลังทานอาหารเย็นกันเรียบร้อย พวกเราชาวค่ายก็มานั่งรอบกองไฟกัน เตรียมพร้อมที่จะชมการแสดงพิธีแต่งงานจำลองของแต่ละชาติ

เมื่อถึงเวลา พวกเราก็ตั้งหน้าตั้งตาชมการแสดงกันอย่างใจจดใจจ่อ พิธีของแต่ละประเทศนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจมากๆ

ผมประทับใจในพิธีแต่งงานของทุกๆชาติเลยครับ แต่ผมยอมรับเลยว่าจำรายละเอียดของแต่ละพิธีไม่ค่อยจะได้ แต่จำชุดแต่งกายได้ค่อนข้างดี

ชุดแต่งกายที่ผมชอบที่สุดเป็นชุดของอินโดนีเซีย

คู่บ่าวสาวอินโดฯ (เจ้าบ่าวเป็นเด็กญี่ปุ่นที่ถูกยืมตัวมา เพราะเด็กอินโดฯที่ไปเป็นผู้หญิงทั้งหมด) มาในชุดสไตล์มลายูสีเหลืองทองดูหรูหรางามวิจิตรมากๆ เจ้าบ่าวใส่หมวกแบบมลายูสีครีม ส่วนเจ้าสาวก็มีปิ่นปักผมสีเหลือง ด้านหลังคู่บ่าวสาวมีคนถือร่มสีเหลืองทองคันใหญ่อยู่ด้วย

อ้อ... พิธีของอินโดฯนี้มีเอกลักษณ์หนึ่งที่แตกต่างไปจากของชาติอื่นๆ นั่นคือจะมีการให้เจ้าสาวล้างเท้าให้เจ้าบ่าวในขันด้วย (“ล้าง” ในที่นี้คือ ให้เจ้าสาวเทน้ำจากขวดดินผ่านเท้าเจ้าบ่าวลงขัน)

อีกชาติหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ ชุดแต่งกายของเกาหลีครับ เจ้าบ่าวมาในชุดประจำชาติเกาหลี (ไม่รู้เรียกว่าอะไร) สีน้ำเงิน เสื้อมีลวดลายรูปคล้ายๆนกกระเรียนบนหน้าอก ผ้าผูกเอวสีแดง ใส่หมวกแบบขุนนางราชสำนักสีดำด้วย

ส่วนเจ้าสาวก็มาในชุดที่สีสันสดสวยที่สุดในงาน คือมีพื้นสีเขียว มีลวดลายสีทองบนเสื้อ ส่วนแขนเสื้อมีแถบสีหลายแถบ ทั้งสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว และบานเย็น นอกจากนี้ยังมีผ้าคลุมหัวสีแดง และหมวดสีบานเย็นที่ประดับตกแต่งด้วยมุกและลูกปัดได้อย่างงดงาม แถมเจ้าสาวยังถือผ้าพาดมือพาดแขนสีขาวปักลวดลายสีสันไว้ด้วย อ้อ... หน้าเจ้าสาวมีจุดกลมๆสีแดงแต้มอยู่สามจุดด้วยครับ หนึ่งจุดกลางหน้าผากและอีกสองจุดอยู่ที่แก้มสองข้าง ดูแล้วน่ารักมาก

ส่วนอีกพิธีที่น่ารักมากก็คือพิธีของฟิลิปปินส์ เด็กฟิลิปปินส์ที่มาเข้าค่ายมีสี่คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด เลยต้องไปยืมตัวหนุ่มฮ่องกงมาเป็นเจ้าบ่าว (ผมเริ่มสงสัยว่าทำไมไม่มีใครติดต่อยืมตัวผมบ้างวะ?...)

พิธีของฟิลิปปินส์นั้นได้รับอิทธิพลจากสเปนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อน ชุดของเจ้าสาวนั้นเป็นชุดกระโปรงยาวสีขาว แขนเสื้อมีลูกไม้สวยงาม ดูแล้วก็คล้ายๆกับชุดผู้หญิงแบบสแปนิช ส่วนเจ้าบ่าวมาในเสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว

พิธีของฟิลิปปินส์นี้ก็มีการโชว์การเกี้ยวเจ้าสาว โดยเจ้าบ่าวคว้ากีต้าร์มาออกลีลาทั้งเต้นทั้งร้องจีบสาวได้อย่างได้อารมณ์มาก ส่วนความแตกต่างของพิธีนั้นอยู่ที่ “ไข่” ครับ คือพิธีการของฟิลิปปินส์มีการนำไข่มาใช้ในพิธีด้วย แต่ผมจำไม่ค่อยได้ว่าเอามาทำอะไร แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าเจ้าสาวถือไข่สองใบไว้ในมือแล้วก็อธิษฐาน แล้วก็ห่อไข่ในผ้า อะไรประมาณนี้นะครับ ต้องขอโทษจริงๆที่จำไม่ได้

เอาละครับ เล่าถึงพิธีของหลายชาติไปแล้ว ถึงเวลาเล่าถึงพิธีของพวกเราเด็กไทยแล้วครับ

พิธีของเราเริ่มต้นด้วยการรวบรวมเด็กชาติอื่นๆยี่สิบกว่าคนมาช่วยแสดงด้วย คือให้มาร่วมขบวนขันหมากครับ บางคนถือพานใส่ขนม บางคนถือกิ่งไม้ทองไม้เงินที่เตรียมไว้ และอีกสองคนถือพานใส่ถุงเงินถุงทอง ซึ่งเป็นเหมือนสินสอดทองหมั้นนั่นเอง

ก่อนเริ่มเดิน แน่นอนว่าจะต้องมีการร้อง “โห่....... งี้โอ่งี้โอ่งี้โอ่........ หิ้ววววว....” สามครั้ง ซึ่งผมได้ซักซ้อมกับเพื่อคนแอฟริกันอีกคนให้ช่วยโห่ให้ด้วย ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทีเดียว (เพื่อนคนอื่นๆหลายคนก็ชอบการ “โห่” และขบวนแห่ขันหมากแบบไทยๆเรามากเลยนะครับ)

โห่สามทีเสร็จ พวกเราก็เริ่มเดินขบวนกัน จำได้ว่ามีดนตรีประกอบด้วยนะครับ รู้สึกจะยืมกลองชาติอื่นมาเล่น แห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว (จริงๆเป็นแค่ม้านั่ง) ผมกับเจ้าสาวก็ไปนั่งหน้าม้านั่งซึ่งมีพ่อแม่เจ้าสาวนั่งอยู่ (พ่อเป็นหนุ่มเกาหลี แม่เป็นสาวฟิลิปปินส์) แล้วเราก็กราบไหว้พ่อแม่ซึ่งก็รับสินสอดของหมั้นไปตามพิธี

หลังจากนั้นก็มีการรดน้ำสังข์ ผมกับไผ่ก็ไปนั่งให้แขกผู้ใหญ่รดน้ำสังข์และกล่าวคำอวยพร (ส่วนใหญ่อวยพรให้รักกันนานๆ forever love) เสร็จแล้วก็เป็นอันจบพิธี

เท่าที่คุยกับเพื่อนชาติอื่นๆ เค้าก็ชอบพิธีของไทยเรานะครับ ชอบตรงขบวนแห่ขันหมากกับการรดน้ำสังข์ ชาติอื่นๆเค้าไม่มีอะไรแบบนี้ ส่วนผมเองก็ได้เปิดหูเปิดตาขึ้นมาก ประทับใจการแสดงของแต่ละชาติมากๆเช่นกัน

...........

โอ้โห... นี่ผมเล่าถึงกิจกรรมเดียวมาสี่หน้ากระดาษแล้วหรือครับเนี่ย... เอาเป็นว่าผมจะเล่ากิจกรรมต่อไปเลยนะครับ กิจกรรมนี้มีชื่อว่า Mapping the World

กิจกรรมนี้ให้เยาวชนแต่ละชาติออกมา present นำเสนอเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับประเทศของตน โดยมีการจัดตารางให้หนึ่งหรือสองประเทศ present ในแต่ละวัน

อย่างของพวกเราคนไทย เราก็กางแผนที่ประเทศไทยโชว์บน chart แล้วเราก็พูดถึงเรื่องข้อมูลทั่วไป เช่น สถานที่ตั้ง สภาพอากาศ พื้นที่ เมืองหลวง ฯลฯ แล้วก็พูดถึงระบบการปกครอง พูดเรื่องเศรษฐกิจ บอกเค้าว่าบ้านเราแต่เดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้าวเป็นผลผลิตสำคัญ ตอนนี้ถึงแม้ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตมามาก แต่แรงงานเกือบครึ่งก็ยังอยู่ในภาคเกษตร พูดเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ฯลฯ

พอเราพูดเสร็จ เยาวชนชาติอื่นก็จะเริ่มถามคำถาม มีคำถามหนึ่งผมยังจำได้ดี คือเค้าถามว่า เคยได้ยินคนพูดถึงเมืองไทยว่าเป็นเมืองแห่งเซ็กส์ มีโสเภณี มีที่เที่ยวผู้หญิงขึ้นชื่อลือชา เค้าถามว่าเมืองไทยเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า?

ผมกะอีกสองสาวก็ตอบเค้าไปว่า มันก็จริงอยู่ที่มีที่เที่ยวผู้หญิงที่ขึ้นชื่ออยู่ (พัฒน์พงษ์) มีซ่องโสเภณีอยู่มาก แต่เป็นเพราะเด็กสาวในชนบทถูกขายหรือถูกล่อลวงมาเป็นนะ แล้วตอนนี้ปัญหาโสเภณีก็เริ่มบรรเทาลงมากแล้ว เพราะรัฐบาลมีการปราบปรามและให้ความรู้และสร้างอาชีพในชนบทมากขึ้น... ตอนนั้นตอบไปประมาณนี้แหละครับ เท่าที่จะพอมีความรู้ตอบเขาได้ (ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษด้วย สำหรับพวกเราในตอนนั้นถือว่าไม่ง่ายเลย)

สรุปว่ากิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้เปิดโลกทัศน์ขึ้นมาอีกเยอะ ได้ความรู้เกี่ยวกับประเทศที่เราไม่ค่อยจะรู้จักมักคุ้นนัก เช่น บาห์เรน ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆในตะวันออกกลาง


.........

กิจกรรมอีกอันหนึ่งที่ทุกคนเข้าร่วมอย่างสนุกสนานและเอร็ดอร่อยก็คือ การทำอาหารประจำชาติครับ

ในช่วงเวลาแปดเก้าวันที่เราอยู่กันในค่ายนั้น เยาวชนแต่ละชาติจะผลัดกันทำอาหารประจำชาติเลี้ยงชาวค่ายกันชาติละหนึ่งมื้อครับ โดยทางค่ายเค้ากำหนดมาก่อนแล้วว่าจะให้เราทำอะไร แล้วก็ให้พวกเราเตรียมส่วนประกอบไปจากประเทศเรา

กิจกรรมการทำอาหารประจำชาตินี้ ทำให้อาหารแต่ละมื้อของเรามันน่าสนใจและน่าตื่นเต้นขึ้นมาเยอะ เพราะได้ลองของใหม่ทุกๆมื้อ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับว่าอยู่ค่ายเก้าวันได้ลองอะไรมาบ้าง

เริ่มด้วยของไทยเราก่อนเลย ทางค่ายได้กำหนดให้เราทำอาหารเย็นเลี้ยงชาวค่าย โดยให้ทำแกงเขียวหวานไก่และส้มตำแครอทเลี้ยง

วันนั้นพวกเราเด็กไทยสามคนกับพี่นักข่าวไทยอีกสองคนก็ต้องช่วยกันเตรียมอาหาร ต้องต้มน้ำแล้วใส่เครื่องแกงเขียวหวานแล้วก็เคี่ยว ต้องหั่นแครอทเพื่อเอาไว้ตำส้มตำ

ตอนที่ผมกำลังจะหั่นแครอท เพื่อนชาติอื่นสองสามคนเค้าก็มาจะช่วยหั่นด้วย แล้วเค้าก็ถามผมว่าหั่นอย่างนี้ถูกมั้ย ผมก็ตอบไปว่าไม่ใช่ๆ ต้องหั่นเป็นเส้นๆ เค้าก็เลยให้ผมหั่นให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมเลยหั่นให้ดู ปรากฎว่าออกมาเหมือนของเพื่อนเป๊ะเลย คือไม่เป็นเส้นเหมือนกัน (หน้าแตกเต็มเปา) ไอ้เพื่อนฮ่องกงคนที่ถามมันเลยป่าวประกาศให้เพื่อนอีกคนฟังว่า “He doesn’t know how to do it. Ask the girls.”


ผมฟังแล้วอยากจะมุดหัวลงดินไปไม่ให้ใครเห็นอีกเลย อายมากๆๆ (อยากจะบอกมันว่า ก็เรามันทำกับข้าวไม่เป็นนี่หน่า อุตส่าห์หัดมานิดหน่อยก่อนมาแล้วนะโว้ย แกจะกินรึเปล่า ถ้าจะกินก็อย่ามาว่ากันดิ เรานะอยากจะทำอะไรที่มันง่ายๆกว่านี้ แบบไข่เจียวหรือหมูทอดกระเทียม ง่ายกว่าแต่อร่อยเหมือนกัน แต่เค้ากำหนดมาให้ทำแกงเขียวหวานกะส้มตำแครอท มันยากนะเฟ้ย)

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งแกงเขียวหวานไก่และส้มตำแครอทก็ออกมาอร่อยใช้ได้ เพราะฝีมือพวกเราคนไทยทั้งห้า (จริงๆแล้วต้องบอกว่าเป็นฝีมือของสาวไทยทั้งสี่ ผมเป็นตัวถ่วงมากกว่า)

ส่วนอาหารชาติอื่นๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน พวกเราได้ลองทานอาหารแอฟริกาใต้ที่เรียกว่า “บ๊าบ” (ออกเสียงประมาณนี้แหละครับ แต่สะกดยังไงผมไม่แน่ใจ) “บ๊าบ” หน้าตาคล้ายๆมันฝรั่งบด แต่มันทำมาจากพืชพื้นเมืองของแอฟริกาใต้เขา จะว่าไปแล้ว “บ๊าบ” กับคนแอฟริกาใต้ ก็เหมือนกับ ข้าวกับคนไทยนั่นแหละครับ

ส่วนเด็กเกาหลีก็ทำเนื้อย่างร้อนๆมาให้พวกเราได้ทานกัน ส่วนเด็กเวียดนามก็ทำปอเปี๊ยะญวน ส่วนอาหารของชาติอื่นๆนั้นก็อร่อยไม่แพ้กัน

แต่อาหารประจำชาติที่เด็ดที่สุดนั้น ผมขอยกให้อาหารญี่ปุ่นครับ

นึกถึงอาหารญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึงกุ้งเทมปุระ ปลาดิบ ปลาซาบะย่างซีอิ้ว ซูชิ ข้าวปั้น ข้าวห่อสาหร่าย อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ? ผมเองก็คิดเช่นนั้น ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอาหารญี่ปุ่นเต็มที่ คิดว่าต้อง “เด็ด” สะระตี่แน่ๆ

พอถึงเวลากินก็ “เด็ด” จริงๆครับ แต่ไม่ได้ “เด็ด” แบบที่ผมคิดไว้ตอนแรก

ไม่มีวี่แววของเทมปุระ ซูชิ ปลาย่าง หรือข้าวปั้นให้เห็นเลยครับ พี่แกเล่นเอาอาหารญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือชามากกว่านั้นมาให้พวกเราทานกัน

อาหารจานนั้นก็คือ... บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป!!!

เพื่อนญี่ปุ่นก็บอกว่าให้เอาบะหมี่ใส่ถ้วย แล้วแบบเติมน้ำร้อนปิดฝาไว้สามนาทีแล้วซดได้ทันที ไม่ต้องต้มให้ยุ่งยาก แถมมีสาหร่ายและเครื่องเล็กน้อยในซองให้ใส่ด้วย

ผมเห็นแล้ว... อึ้งไปเลยครับ อึ้งจริงๆ... เทมปุระ ซูชิ และอะไรอีกหลายๆอย่างที่คิดไว้มันอันตรธานหายไปในทันที เหลือก็แต่บะหมี่หนึ่งซองตรงหน้า...

ผมก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากใส่น้ำร้อนปิดฝาไว้สามนาทีแล้วก็กินบะหมี่ถ้วยนั้นเสีย (ทีเราต้องทำส้มตำกับแกงเขียวหวานเป็นชั่วโมงๆ) หลังจากนั้นเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็สอนให้พวกเราพูดวลีภาษาญี่ปุ่นอะไรสักอย่างก่อนกินข้าวตามประเพณี แล้วก็ลงมือโซ้ยกันทันที ซึ่งรสชาติของบะหมี่มันก็อร่อยดีแหละครับ

ทีนี้เชื่อผมหรือยังครับว่าอาหารญี่ปุ่นจานนี้ “เด็ด” จริงๆ

.........

(ทีแรกผมกะว่าจะเรื่องนี้จบในตอนที่สามนี้ แต่มันเขียนเพลินยืดเยื้อไปหน่อยเลยยังไม่จบ ขอเลื่อนไปให้ตอนหน้าเป็นตอนจบนะครับ มีกิจกรรมที่ผมประทับใจที่สุดในค่ายมาเล่าให้ฟังด้วยครับ)

Thursday, July 21, 2005

เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้ (2)

หลังจากคืนแรกอันหนาวเหน็บผ่านพ้นไป พวกเราก็เริ่มต้นทำกิจกรรมต่างๆตามโปรแกรมที่วางไว้

ผมจำไม่ได้หรอกครับว่าวันไหนพวกเราทำกิจกรรมอะไรก่อนหลัง ผมจำได้แต่ว่ากิจกรรมที่พวกเราเข้าร่วมในช่วงเวลาเก้าวันในค่ายนั้นทั้งน่าสนใจและน่าประทับใจมาก เดี๋ยวผมจะค่อยๆเล่าทีละเรื่อง

........

ไปถึงแอฟริกาใต้ ยิ่งไปอยู่ในค่ายกลางป่ากลางเขาด้วยแล้ว กิจกรรมที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเดินทางในป่าสะวันนาของแอฟริกาใต้

พวกเรามีโอกาสได้เดินป่าอยู่หลายครั้ง บางครั้งก็เริ่มเดินตั้งแต่ที่พัก บางครั้งก็ขึ้นรถ jeep ไปสักพักก่อนแล้วค่อยลงเดินทีหลัง

การเดินป่าของพวกเราไม่ได้เป็นแค่การเดินไปเรื่อยเปื่อยเพื่อให้ถึงจุดหมายปลายทางแล้วก็กลับที่พัก การเดินป่าของพวกเรามันมีอะไรพิเศษมากกว่านั้น

วันแรกที่พวกเราได้เดินป่า กลุ่มของผม (มีสมาชิก 10 คน มี Hanneke เป็นสต๊าฟฟ์ประจำกลุ่ม) ก็เดินออกจากค่ายที่พักแรม เดินท่องไปในทุ่งหญ้าสะวันนา เจอต้นไม้ใหญ่อยู่บ้างเป็นระยะๆ

เดินไปได้สักพัก Hanneke ก็หยุดแล้วชี้ให้พวกเราดูสิ่งๆหนึ่งบนพื้นดิน... สิ่งๆนั้นคือขี้ของสัตว์ชนิดหนึ่งครับ

ขี้ที่เราเจอแต่ละก้อนมีขนาดประมาณถั่วแดงหนึ่งเม็ด มีสีดำสนิท โดยผมนับได้ยี่สิบกว่าก้อนนอนเรียงรายกันอยู่บนพื้นดิน อ้อ ขี้เหล่านี้แห้งแล้วนะครับ

Hanneke บอกให้พวกเราหยิบขี้ขึ้นมาจับดู ให้เราลองบี้ดู แล้วก็ให้พวกเราทายว่าเป็นขี้ของสัตว์อะไร

ผมลองบี้ๆดูก็พบว่าข้างในเป็นเส้นๆเล็กๆสีน้ำตาล มีเส้นใหญ่บ้างนิดหน่อย ดูแล้วทุกคนก็ให้ความเห็นว่าน่าจะเป็นสัตว์กินพืช เพราะไม่เห็นอะไรที่บ่งบอกถึงเนื้อสัตว์ในก้อนขี้เลย

Hanneke ก็เฉลยว่าน่าจะเป็นขี้ของม้าลายหรือไม่ก็กวาง impala ซึ่งเป็นสัตว์กินพืช (กินหญ้า กินใบไม้พุ่มไม้) ทั้งคู่
เดินต่อมาไม่นาน พวกเราก็เห็นขี้อีกก้อน แต่คราวนี้เป็นก้อนใหญ่กว่ากำปั้นเสียอีก มีอยู่สี่ห้าก้อน

พวกเราก็เริ่มกระบวนการบี้และตรวจสอบก้อนขี้กันอีก ปรากฏว่าภายในก้อนขี้ก้อนใหญ่นั้นมีแต่เส้นๆสีน้ำตาลอีกเป็นส่วนใหญ่ บางเส้นมีรูปร่างคล้ายใบไม้สีน้ำตาลอยู่ด้วย พวกเราก็สรุปกันว่าเป็นสัตว์กินพืชอีกชนิดหนึ่งที่ตัวใหญ่กว่าม้าลายหรือกวาง เพื่อนผมคนหนึ่งเดาว่าเป็นช้าง ซึ่ง Hanneke ก็เห็นด้วย

เดินไปอีกสักพัก พวกเราก็ได้เจอขี้ที่เป็นของสัตว์กินเนื้อบ้าง เพราะเวลาบี้ดู ข้างในก้อนขี้จะเป็นเหมือนเนื้อ มีเส้นใยเพียงเล็กน้อย Hanneke บอกว่าน่าจะเป็นขี้ของสิงโตนั่นเอง (พวกเราเริ่มกลัวขึ้นมาทันที!)

นี่คือการเรียนรู้นอกห้องเรียน แบบไม่ต้องท่องจำ เพราะเรียนจากธรรมชาติจาก(ขี้)ของจริง... เด็ดไหมครับ?

นอกจากก้อนขี้แล้ว ระหว่างการเดินป่า บางครั้งพวกเราก็ได้พบกับซากกระดูกสัตว์ริมทาง ซากที่ผมจำได้แม่นที่สุดเป็นซากของควายป่าชนิดหนึ่งครับ ที่รู้ว่าเป็นควายป่าก็เพราะเราเจอกะโหลกของมันพร้อมเขาทั้งสองข้าง ผมถ่ายรูปมาด้วยแต่น่าเสียดายว่าเป็นกล้องแบบใช้ฟิล์ม เลยเอามาลงให้ดูไม่ได้ ไม่มีสแกนเนอร์

มีอยู่ครั้งหนึ่ง พวกเราได้เห็นฝูงแร้งกลุ่มหนึ่งกำลังยุ่งอยู่กับการจัดการกับซากสัตว์ตัวหนึ่งที่สัตว์นักล่ากินเหลือไว้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนนอกห้องเรียนเรื่องห่วงโซ่อาหาร

อ้อ วันแรกที่พวกเราเดินป่ากันนั้น พวกเราได้เดินขึ้นเขาลูกหนึ่ง เมื่อไปถึงด้านบน Hanneke ก็แจกกระดาษแล้วให้พวกเราเขียนความคาดหวังของเรา ให้คิดและเขียนว่าเราหวังอยากได้อะไรกลับไปจากการมาค่ายครั้งนี้ ซึ่งพวกเราก็แยกย้ายกันหามุมสบายๆของตัวเองเขียนความคิดลงไป

พอเขียนเสร็จ Hanneke ก็บอกกับพวกเราว่า ต่อจากนี้ระหว่างที่อยู่ในค่าย ให้เราระลึกถึงสิ่งที่เขียนลงไป แล้วก็ตั้งใจมุ่งมั่นร่วมทำกิจกรรมเพื่อให้เราได้บรรลุสิ่งที่ได้ตั้งความหวังเอาไว้

.........

ต่อมาอีกวันหนึ่ง พวกเราได้เดินทางโดยรถ jeep ขึ้นเขาไปสักพัก แล้วก็เดินเท้าต่ออีก เดินไปจนพบลำธารแห่งหนึ่ง

รอบๆลำธารเป็นพื้นหินเรียบๆ เป็นเนินสเต็ป มีลำธารไหลผ่าน มีแอ่งน้ำอยู่ด้วย (บรรยายภาพยากจริงๆครับ)

Hanneke บอกว่า เราจะมาทำกิจกรรม Water Study กันที่นี่

ตอนแรกผมก็งงๆ ว่าเราจะศึกษาอะไรได้จากน้ำในลำธารเล็กๆนี้ ต่อมาผมถึงรู้ว่าเราเรียนรู้อะไรต่างๆได้เยอะเหลือเกินจากระบบนิเวศเล็กๆนี้

Hanneke แจกอุปกรณ์ให้พวกเรา คือ แว่นขยาย และขวดพลาสติก แล้วบอกให้พวกเราลองสำรวจลำธารและแอ่งนั้นในบริเวณนี้ดู ว่ามีสิ่งมีชีวิตเล็กๆอะไรอาศัยอยู่บ้าง ถ้าเจออะไรก็ให้จับมันใส่ขวดพลาสติกมา

มองดูแบบเผินๆ ผมไม่เห็นว่าลำธารและแอ่งน้ำเล็กๆนี้จะมีสิ่งมีชีวิตอะไรอาศัยอยู่

แต่พอลองนั่งลงแล้วใช้เวลามองสำรวจดูแบบใจเย็นๆแล้ว ผมพบว่าแอ่งน้ำเล็กๆนี้มีสิ่งมีชีวิตตัวน้อยอาศัยอยู่เต็มไปหมดมากมายกว่าที่ผมคิดไว้นัก

บางแอ่งน้ำ พวกเราก็พบลูกน้ำของยุง บางแอ่งก็พบแมลงประหลาดๆอยู่ตามผิวน้ำ บางแอ่งก็พบสิ่งมีชีวิตประหลาดๆ หน้าตาคล้ายหนอนตัวเล็กมาก ว่ายอยู่ในน้ำ เจอตัวนู้นตัวนี้เต็มไปหมดครับ นี่ถ้าไม่ลองสังเกตดูแบบจริงจัง ไม่มีทางเห็นพวกมันได้แน่

หลังจากพวกเราได้จับสิ่งมีชีวิตประหลาดๆเหล่านี้มาจากแอ่งน้ำและลำธารบริเวณนั้นแล้ว พวกเราก็มารวมตัวกัน แล้วก็โชว์ให้เพื่อนในกลุ่มดูว่าจับอะไรมาได้บ้าง

Hanneke ก็หยิบแฟ้มขึ้นมาอันหนึ่ง เปิดให้พวกเราดู ในแฟ้มเป็นภาพของสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำ แต่ละตัวก็หน้าตาประหลาดๆทั้งนั้น Hanneke บอกให้พวกเราลองเช็คดูว่า มีตัวไหนบ้างที่เหมือนกับตัวที่เราจับมา โดย Hanneke บอกว่า เราสามารถบอกระดับความสะอาด ความบริสุทธิ์ ของน้ำจากแหล่งต่างๆได้ โดยดูจากชนิดของสัตว์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำนั้น

พอพวกเราลองเช็คดู ก็พบว่าไอ้เจ้าตัวประหลาดที่เราจับกันมาได้มีภาพเหมือนอยู่ในแฟ้มหลายตัวทีเดียว

สัตว์ประหลาดตัวหนึ่งที่ผมจับได้ ในแฟ้มภาพบอกว่าเป็นตัวอ่อนของแมลงปอพันธุ์หนึ่ง ซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่สะอาดและมีระดับปริมาณออกซิเจนสูง ข้อมูลในแฟ้มภาพยังบอกด้วยว่า ถ้าแหล่งน้ำใดมีเจ้าตัวนี้อยู่ แหล่งน้ำนั้นถือว่าสะอาดพอที่มนุษย์จะดื่มกินได้

ส่วนลูกน้ำยุงที่พวกเราจับมาได้จากแอ่งน้ำหนึ่ง แฟ้มภาพก็บอกว่ายุงจะวางไข่ในน้ำนิ่งที่มีออกซิเจนต่ำ เพราะน้ำที่ออกซิเจนน้อยจะไม่มีสัตว์ชนิดอื่นอยู่ เป็นการปกป้องไม่ให้ลูกน้ำถูกกินเป็นอาหารของสัตว์ชนิดอื่น แหล่งน้ำที่มีลูกน้ำอยู่ไม่ควรดื่มกิน เพราะถือเป็นน้ำขัง ไม่มีการเคลื่อนไหว มีออกซิเจนต่ำ

นอกจากนี้ ในแอ่งน้ำแอ่งอื่นๆและลำธารช่วงอื่นๆ พวกเราก็เจอสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกมาก พอเรามาเทียบดูกับภาพในแฟ้มภาพ เราก็สามารถดูได้คร่าวๆว่าความสะอาดของน้ำแต่ละแอ่งนั้นมันเป็นอย่างไรบ้าง แหล่งไหนดื่มได้ แหล่งไหนดื่มไม่ได้

พอสรุปเสร็จ พวกเราก็แห่กันไปดื่มน้ำจากแหล่งที่สะอาดกันถ้วนหน้า น้ำนั้นช่างเย็นชื่นใจดีเหลือเกิน

พวกเราได้รับบทเรียนอีกเรื่องหนึ่งจากกิจกรรม Water Study นั่นคือการตระหนักถึงผลกระทบที่การกระทำของมนุษย์มีต่อสิ่งมีชีวิตเพื่อนร่วมโลกชนิดอื่นๆ

ผมเห็นว่า หากเราทำอะไรบางอย่างที่ก่อให้เกิดมลพิษขึ้นกับแหล่งน้ำ ผลเสียที่เกิดขึ้นมันไม่ได้กระทบกับมนุษย์เท่านั้น แต่มันกระทบกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกนับร้อยนับพันชนิดที่อาศัยอยู่ตามแหล่งน้ำด้วย

ถ้าลำธารที่พวกเราไปศึกษากันเกิดมีการปล่อยสารพิษจากโรงงานลงไป สิ่งมีชีวิตบางชนิดก็จะไม่สามารถวางไข่ในลำธารนี้ได้อีกต่อไป ชีวิตของพวกมันก็จะได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรง นี่แค่ลำธารซึ่งเป็นระบบนิเวศเล็กๆนะครับ ถ้าเป็นแม่น้ำลำคลองที่ใหญ่กว่าลำธารมากนัก ผลกระทบจะยิ่งร้ายแรงยิ่งขึ้น

บทเรียนนี้ทำให้ผมนึกถึงคลองแสนแสบขึ้นมา น้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบอาจส่งกลิ่นเหม็นเป็นที่น่ารำคาญแก่มนุษย์ ทำให้มีผู้คนที่อยู่ริมคลองและสัญจรไปมาโดยเรือออกมาก่นด่าโวยวายกันมาก แต่ผมว่าน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบส่งผลร้ายต่อวิถีชีวิตและความอยู่รอดของสัตว์น้ำและสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในคลองมากกว่าต่อมนุษย์มากนัก

ที่สำคัญ สิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในคลองแสนแสบนั้น มันไม่มีปากไม่มีเสียงจะร้องตะโกนก่นด่าเหมือนมนุษย์เสียด้วย

พวกเราจะทำอย่างไรกันดี?

.........

อีกวันหนึ่ง พวกเราออกเดินทางจากที่พักโดยแต่ละกลุ่มขึ้นรถ jeep คันใหญ่หนึ่งคัน โดยสต๊าฟฟ์ค่ายบอกว่า วันนี้เราจะไปนั่งรถส่องสัตว์กัน

รถที่พวกเรานั่งเป็นรถแบบไม่มีหลังคา ไม่มีประตู ทำให้เวลารถแล่น พวกเราได้สัมผัสกับลมที่พัดเอาอากาศแสนสดชื่นมาให้ สูดเข้าไปเต็มปอดดีเหลือเกิน

Hanneke เล่าให้ฟังว่า แอฟริกาใต้นั้นเป็นที่อยู่อาศัยของ The Big Five หรือสัตว์ใหญ่ห้าชนิด คือ ช้าง แรด ควายป่า เสือดาว และสิงโต พวกเราหวังว่าจะได้เจอเจ้าป่าทั้งห้านี้ก่อนกลับบ้าน

วันนั้นเราได้เห็นสัตว์หลายชนิดที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติจริงๆ ซึ่งบรรยากาศมันแตกต่างจากซาฟารีจำลองแบบสวนสัตว์บางแห่งโดยสิ้นเชิง พวกเราได้เห็นทั้งกวาง ม้าลาย ควายป่า แรด ยีราฟ เหยี่ยว ออกหากินกันอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

เสียดายก็แต่ที่ไม่มีโอกาสได้เจอช้างแอฟริกันตัวจริง ได้แต่เห็นรอยเท้าอันยิ่งใหญ่ของพวกมัน (ลืมบอกไปว่าระหว่างเดินป่า พวกเราก็จะได้พบเจอรอยเท้าสัตว์ชนิดต่างๆอยู่เรื่อยๆ ทั้งม้าลาย กวาง หรือแม้กระทั่งเสือดาว)

ไฮไลท์ของการส่องสัตว์ในวันนั้นผมคงต้องยกให้กับการได้ชมสิงโตกลุ่มหนึ่งแบบตัวเป็นๆ

บางคนอาจจะบอกว่าชมสิงโตไม่เห็นน่าตื่นเต้นเลย ในทีวีก็มีให้ดู ในสวนสัตว์ซาฟารีบางแห่งก็มีให้ชม

ข้อนี้ผมบอกได้เต็มปากว่า มันคนละเรื่องกันเลยครับ ความรู้สึกและความตื่นเต้นที่ได้รับจากการเผชิญหน้ากับสิงโตกลางป่าจริงๆ มันเหนือกว่าเยอะ

เพราะอะไรน่ะหรือครับ?

ก็เพราะว่าพวกเราได้เผชิญหน้ากับสิงโตสี่ตัว โดยพวกเราอยู่ห่างจากมันแค่ประมาณห้าเมตรเท่านั้น!

แล้วก็อย่าลืมนะครับว่ารถที่พวกเรานั่งอยู่มันไม่มีประตู ไม่มีกระจก ไม่มีอะไรทั้งนั้นที่จะกีดกั้นพวกเราจากสิงโต ถ้าเกิดมันคิดอะไรไม่ดีกับพวกเราขึ้นมา ถ้าเกิดมันวิ่งกระโจนเข้ามา พวกเราก็ไม่มีทางป้องกันตัวได้เลย

จึงไม่แปลกที่พวกเราทุกคนต่างเงียบกริบเวลาจดจ้องมองสิงโตเหล่านั้น (ผมแอบได้ยินเสียงเพื่อนกลืนน้ำลายด้วยความเสียวด้วยครับ) สิงโตแต่ละตัวนั่งๆนอนๆกันอยู่ บางทีมันก็ลุกเดินไปเดินมาบ้าง ส่งสายตามาทางพวกเราบ้าง แต่มันก็ไม่มีทีท่าว่าจะทำร้ายพวกเรา

นี่แหละครับคือความสุดยอด เพราะการได้ใกล้ชิดกับสัตว์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น “เจ้าป่า” แบบไม่มีอะไรขวางกั้นนี้ ทำให้ผมเกิดความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติขึ้นมาทันทีทันใด

ผมรู้สึกว่าสิงโตไม่น่ากลัวอย่างที่เคยคิด รู้สึกว่าทั้งสิงโตและมนุษย์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นเพื่อนร่วมโลกเดียวกัน

ผมรู้สึกว่า พวกมันไม่เคยคิดที่จะทำร้ายมนุษย์... มนุษย์ต่างหากที่เป็นฝ่ายทำร้ายพวกมันมาโดยตลอด...

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

Tuesday, July 05, 2005

เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้ (1)


ผมไม่มีวันลืมประสบการณ์สุดแสนประทับใจครั้งนั้น...

ย้อนเวลาไปเมื่อกลางปี 2545 (หนึ่งเดือนก่อนที่ผมจะเริ่มเข้าเรียนปีหนึ่งปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ภาคภาษาอังกฤษที่ธรรมศาสตร์) ผมมีโอกาสได้ไปเยือนประเทศแอฟริกาใต้เป็นครั้งแรก

การไปเยือนแอฟริกาใต้ของผมครั้งนี้มีความพิเศษตรงที่ผมไม่ได้ไปในฐานะนักท่องเที่ยว แต่ไปในฐานะเยาวชนค่ายสิ่งแวดล้อมที่มีชื่อว่า Cathay Pacific International Wilderness Experience

ค่ายนี้จัดขึ้นโดยสายการบินคาร์เธ่ แปซิฟิก (สายการบินประจำชาติของฮ่องกง) ที่ออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการออกค่ายให้ทั้งหมด โดยจัดขึ้นทุกๆปี เป็นเวลาเกือบสิบปีแล้ว

ค่ายนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนอายุประมาณ 15-18 ปีจากหลายประเทศในเอเชียเข้าร่วม ในปีที่ผมไป มีเยาวชนกว่า 50 คน มาจาก 13 ประเทศ โดยสำนักงานคาร์เธ่ แปซิฟิกในแต่ละประเทศจะต้องเปิดรับสมัครเด็กในประเทศของตน แล้วทำการคัดเลือกเด็กเพื่อที่จะส่งไปค่ายที่แอฟริกาใต้

ในปีที่ผมสมัครนั้น สำนักงานคาร์เธ่ฯที่เมืองไทยได้ร่วมมือกับนิตยสาร Nation Junior เปิดให้เด็กไทยสมัครเข้าค่ายโดยให้เขียนเรียงความภาษาอังกฤษเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนส่งเข้ามา

จากนั้นทางคาร์เธ่ฯและ NJ จะคัดเลือกเด็กประมาณ 30 คนที่เขียนเรียงความได้ดี ให้มาเข้าค่ายสามวันสองคืนที่โครงการพัฒนาการเกษตรที่เขาหินซ้อน จังหวัดฉะเชิงเทรา

พอตอนหลังจบค่าย ทางทีมงานคาร์เธ่และ NJ ก็จะเลือกเด็กไทย 3 คนเพื่อส่งไปเข้าค่ายจริงๆร่วมกับเด็กจากชาติอื่นๆที่แอฟริกาใต้

ผมโชคดีมากที่ผ่านการคัดเลือกทั้งสองขั้นตอน ได้เป็นหนึ่งในสามตัวแทนเยาวชนไทยไปเข้าค่ายที่แอฟริกาใต้

………

เมื่อรู้ตัวว่าได้รับคัดเลือกไปแอฟริกาใต้ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆถึงมากที่สุด

ก็แหงแหละครับ จะไม่ให้ตื่นเต้นได้อย่างไร เกิดมาผมไม่เคยคิดไม่เคยฝันว่าจะได้ไปเหยียบทวีปแอฟริกาเลย

เพื่อนคนไทยอีกสองคนที่ได้ไปกับผมก็คงตื่นเต้นไม่แพ้กัน คนหนึ่งชื่อไผ่ เป็นสาวน้อยร่างบางมาจากเฉลิมขวัญสตรี จังหวัดพิษณุโลก อีกหนึ่งสาวชื่อดอย อยู่เตรียมอุดมฯนี่เอง นอกจากนี้ยังมีพี่นักข่าวอีกสองคนที่จะติดตามไปทำข่าวด้วย คือพี่หยกจาก NJ และพี่มิ่งจากแพรวสุดสัปดาห์

ก่อนออกเดินทางพวกเราต้องเตรียมตัวเพื่อไปทำกิจกรรมหลายเรื่อง (เรื่องอะไรบ้างนั้นไว้เดี๋ยวผมค่อยเล่าทีเดียว) พี่ๆที่คาร์เธ่ฯโดยเฉพาะพี่แหม่ม ก็ได้คอยประสานงานและช่วยพวกเราเตรียมตัวได้ดีมาก

ถึงวันเดินทาง พวกเราห้าคนก็บินลัดฟ้าไปที่ฮ่องกงก่อน เพื่อไปรวมตัวกับเยาวชนจากชาติอื่นๆที่นั่น แล้วจึงออกบินข้ามทวีปไปแอฟริกาพร้อมๆกัน

ตอนไปถึงฮ่องกง บรรยากาศคึกคักมาก เพราะเป็นการพบกันครั้งแรกของเยาวชนห้าสิบคนจากสิบกว่าประเทศ เช่น มาเลเชีย จีน บาห์เรน ไต้หวัน สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และฮ่องกง

พวกเราเริ่มทำความรู้จักกันและได้เดินทางไปที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใจกลางเกาะฮ่องกงเพื่อร่วมงานเปิดตัวค่ายที่นั่น งานนี้มีผู้คนที่เดินห้างอยู่สนใจมานั่งดูยืนดูกันเยอะพอสมควร

หลังงานเลิก พวกเราก็พากันไปเดินชมศูนย์กลางค้าที่ฮ่องกงอยู่เกือบสองชั่วโมง พอกลับมารวมตัวกันก็ปรากฏว่าตัวแทนของสิงคโปร์ที่มาคนเดียว เกิดป่วยกะทันหัน อาการไม่ค่อยดี จึงอดไปแอฟริกาใต้กับพวกเรา ค่ายเราเลยขาดสมาชิกไปหนึ่งคนตั้งแต่ยังอยู่ที่ฮ่องกงนี่เอง

พอตกค่ำ พวกเราก็ออกเดินทางสู่แอฟริกาใต้พร้อมๆกัน บรรยากาศบนเครื่องก็สดใสและคึกคักเป็นพิเศษ จะไม่ให้คึกคักได้อย่างไร ก็เด็กกว่าห้าสิบคนบินไปไฟลท์เดียวกัน

หลังจากนั่งเครื่องบินอยู่หลายชั่วโมง พวกเราก็มาถึงประเทศแอฟริกาใต้ในช่วงเช้า โดยเครื่องลงจอดที่สนามบินนานาชาติโยฮันเนสเบิร์ก

เมื่อเราลงจากเครื่องแล้วเดินผ่านงวงช้างเข้าสู่ตัวสนามบิน มีทีมงานค่าย 5-6 คน และเพื่อนร่วมค่ายชาวแอฟริกาใต้อีกสิบคนมาต้อนรับพวกเรา แต่ละคนดูเป็นมิตรและเป็นกันเองมาก ส่วนบรรยากาศภายในสนามบินก็คล้ายๆกับสนามบินที่อื่นๆแหละครับ (แต่ดูดีกว่าสนามบินดอนเมือง)

หลังผ่านการตรวจคนเข้าเมือง พวกเราก็เดินออกจากสนามบิน...

“อูยยยย.... หนะ... หนะ... หนาววววมากกกก....” ผมบ่นกับตัวเอง

หนาวจริงๆครับ เดินไปสั่นไป ปากก็สั่น ตัวก็สั่น ต้องรีบหยิบเสื้อหนาวมาใส่โดยเร็วก่อนที่เป็นอะไรไปก่อน

เดินสักห้านาที พวกเราก็มาถึงรถบัสที่จอดรออยู่ เอากระเป๋าสัมภาระเข้าท้องรถเสร็จ พวกเราก็ออกเดินทางสู่สถานที่จัดค่าย ที่แห่งนี้มีชื่อว่า Entabeni Game Reserve เป็นคล้ายๆกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งหนึ่งของแอฟริกาใต้

ระหว่างการเดินทาง พวกเราก็งีบหลับบ้าง คุยกันบ้าง ภูมิประเทศสองข้างทางนั้นส่วนใหญ่เป็นเนินเขาที่มีทุ่งหญ้ากว้างไกล ผ่านไปสักสองชั่วโมงรถบัสก็แวะที่สถานที่แห่งหนึ่ง

ผมไม่แน่ใจว่าที่แห่งนี้คืออะไร มันดูเหมือนบ้านพักรับรอง มีห้องโถง มีสวนและสนามหญ้าสวยๆ

ที่นี่เป็นสถานที่จัดงานต้อนรับพวกเราสู่แอฟริกาใต้ครับ มีญาติของเนลสัน แมนเดลล่า มากล่าวเปิดงาน แล้วทีมงานค่ายก็กล่าวต้อนรับอย่างเป็นทางการ มีการแนะนำทีมงานค่าย แล้วก็แบ่งพวกเราออกเป็น 5-6 กลุ่ม โดยกลุ่มของผมมีสต๊าฟฟ์ผู้หญิงชื่อ Hanneke เป็นคนดูแลรับผิดชอบ

หลังจากนั้นพวกเราก็เริ่มทำกิจกรรมละลายพฤติกรรมกันที่สนามหญ้า แล้วก็เบรกกินกาแฟกันที่สวน อ้อ.. อากาศในช่วงกลางวันก็สบายๆนะครับ ไม่ร้อนไม่หนาว กำลังดีทีเดียว

เสร็จจากนั้นพวกเราก็เดินทางกันต่อจนไปถึงที่ค่ายก็ตอนบ่ายแก่ๆเห็นจะได้ ค่ายนี้ตั้งอยู่กลางป่าแอฟริกา ซึ่งมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้า มีต้นไม้สูงอยู่กระจัดกระจาย ไม่เหมือนกับป่าฝนเขตร้อนที่ต้นไม้ใหญ่อยู่ติดๆกัน

บริเวณค่ายมีรั้วไม้ล้อมรอบ พื้นที่ของค่ายน่าจะประมาณเกือบเท่าสนามฟุตบอล ตรงกลางค่ายมีจุดก่อกองไฟและมีเก้าอี้ล้อมรอบกองไฟเป็นวงกลม

ส่วนที่พักของพวกเราก็เป็นเต็นท์ครับ คล้ายๆกับเต็นท์ทหาร มีผ้าใบคลุมทั้งสี่ด้าน โดยผ้าใบด้านหนึ่งเปิดได้เพื่อเป็นทางเข้าออก ในหนึ่งเต็นท์ก็มี 3-4 เตียงนอน

ส่วนที่แปลกที่สุดเห็นจะเป็นห้องน้ำ ห้องน้ำหญิงกับห้องน้ำชายอยู่คนละด้านของค่าย โดยบริเวณห้องน้ำมีขนาดประมาณห้องเรียนหนึ่งห้องในโรงเรียนมัธยมบ้านเรา พื้นห้องน้ำเป็นหินก้อนเล็กๆ และมีเทปูนบ้างตรงที่อาบน้ำ ธรรมชาติดีจริงๆ

ที่สำคัญ บริเวณห้องน้ำเป็นแบบ open air ครับ คือไม่มีหลังคา มีแต่กำแพงไม้กั้นรอบบริเวณ มีอ่างล้างหน้าอยู่ 3-4 อ่าง มีห้องส้วมอยู่ 3 ห้อง (แต่ละห้องมีประตูไม้บางๆ) ส่วนที่อาบน้ำนั้น ไม่มีแบ่งเป็นห้องๆครับ เป็นที่อาบน้ำรวม มีฝักบัวอยู่ 4 ฝักเห็นจะได้ เวลาอาบก็ยืนอาบกันทีละสี่คนเรียงกันไม่มีอะไรมาขวางกั้นหรอกครับ!

ผมพักกับคนฮ่องกงและคนแอฟริกาใต้ อยู่กันสามคน เย็นวันนั้นหลังจากเอาของเข้าที่เต็นท์ของตัวเองเรียบร้อย อากาศเริ่มหนาวเย็นยิ่งขึ้น พวกเราทานข้าวกัน แต่ผมจำไม่ได้จริงๆว่าเราทานอะไรกันในมื้อนั้น

ที่ผมจำได้แม่นคือ ความทรมานในคืนแรกของผมและของใครอีกหลายๆคน...

ความทรมานที่ว่ามันคือ ความหนาวชนิดที่ผมไม่เคยพบเคยเจอมาก่อน หนาวยะเยือกไปถึงก้นบึ้งของหัวใจจริงๆ ทั้งๆที่ตอนนอนผมก็ใส่เสื้อหนาวเข้านอนในถุงนอน แล้วเอาผ้าห่มอีกสามชั้นห่มทับไว้ก็ยังไม่รู้สึกอุ่น

ตื่นมากลางดึกก็พบว่า ผ้าห่มสามผืนนั้นตกลงไปที่พื้นหมดแล้ว ผมเลยเอามันขึ้นมาใหม่ แล้วก็พยายามหลับตานอนท่ามกลางอากาศที่หนาวยะเยือกสุดแสนจะทน

ตื่นมาตอนเช้า อากาศยังคงหนาวจัดเหมือนเดิม เดินออกมาข้างนอกก็เห็นเพื่อนคนอื่นๆใส่เสื้อหนาว ผูกผ้าพันคอ ยืนผิงไฟกันอยู่ที่กองไฟ ผมก็ไปร่วมแจมด้วย

คุยกับเพื่อนคนไทยและเพื่อนคนอื่นๆก็ได้ความว่า เมื่อคืนนี้ทุกคนล้วนแล้วแต่ประสบกับชะตากรรมเดียวกัน คือนอนไม่ค่อยหลับ เพราะความหนาวเหน็บแทบจะขาดใจ

ตอนหลัง Hanneke ถึงได้บอกกับพวกเราว่า วิธีการนอนให้อุ่นนั้น ต้องใส่เสื้อหนาว แล้วก็ยัดผ้าห่ม 3 ผืนเข้าไปในถุงนอน แล้วก็เอาผ้าห่มผืนใหญ่ทับบนถุงนอนอีกที

เมื่อรู้วิธีการนอนที่ถูกที่ควรแล้ว คืนต่อๆมาพวกเราจึงได้นอนแบบไม่หนาว จะว่าอบอุ่นก็คงไม่ถูกต้อง เพราะมันไม่อุ่นเลย มันเย็นยะเยือก เพียงแต่มันไม่หนาวสั่น พอนอนหลับได้

ผมสงสัยเหลือเกินว่า ทำไมไม่บอกตั้งแต่คืนแรก! อาจเป็นเพราะทีมงานค่ายคงอยากจะให้เรารับรู้ถึงรสชาติความหนาวของป่าแอฟริกาสักคืนนึงก่อน

เวลาผมคิดถึงความหนาวเหน็บแบบในคืนแรกขึ้นมา มันทำให้ผมรู้สึกทึ่งและนับถือในความสามารถของบรรดาสัตว์ป่าทั้งหลาย ที่อยู่ท่ามกลางความหนาวได้โดยไม่ต้องมีผ้าห่มหรือเสื้อหนาวช่วยเลย

ข้าน้อยขอคารวะ

Friday, June 17, 2005

คุยเฟื่องเรื่องอาจารย์ที่ UCD


เย้! ในที่สุดการสอบ Finals ของผมก็เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์เสียที (ช้ากว่าชาวบ้านชาวช่องเค้ามากๆ)

นั่นก็เท่ากับว่า หนึ่งปีของผมในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ UC Davis ก็เกือบจะปิดฉากลงไปด้วย เพราะวันที่ 22 นี้ก็จะบินกลับเมืองไทยแล้ว

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆครับ รู้สึกว่าเพิ่งจะมาถึงที่นี่เมื่อวานนี้เอง

หนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นพอตัว เกิดมาไม่เคยมาอเมริกาเลยครับ นี่เป็นครั้งแรก ได้มาเรียนในยูที่นี่ปีนึงก็ได้เปิดหูเปิดตาขึ้นมากะเค้าบ้าง

ถ้าพูดถึงเรื่องเรียน ก็ได้เรียนกับอาจารย์ดีๆหลายคนครับ

ตอน Fall ได้เรียน Development 1 กับ Steve Boucher คนนี้เป็นอาจารย์หนุ่มหล่อ (เคยเห็นเดินคู่กับนาวิน ตาร์ ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้หล่อกว่าอีก!) จบจาก UW Madison เป็นคนที่สอนดีมากๆ มี Passion ในการสอนและในตัววิชาอย่างสูง งานวิจัยที่เค้าทำจะเกี่ยวกับ micro-credit in rural Latin America เป็นส่วนใหญ่ครับ

ตอนเรียนเค้าได้เชิญเพื่อนเค้าคนหนึ่งชื่อคุณจอห์น (อาจารย์และคุณจอห์นเพิ่งเจอและคุยกันใน Art gallery ในเมืองนี่เองครับ) คุณจอห์นมาพูดให้พวกเราฟังคาบนึง คุณจอห์นเล่าถึงการเดินทางของเขาเข้าไปตามหมู่บ้านชนเผ่าซูลูในแอฟริกา ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้เค้ามีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำตะกร้าสาน (สานจากไม้พื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง) คุณจอห์นเลยเกิดไอเดียนำตะกร้าสานเหล่านี้มาทำตลาดส่งออกมายังอเมริกาและยุโรป ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จดี สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในหมู่บ้านเผ่าซูลูได้ดี

สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมคุณจอห์นก็คือ เขาได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้าน จนเกิดความผูกพันกันเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เขาจึงได้ออกแบบระบบการจัดการที่ไม่ทำให้การทำตะกร้าสานนี้กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ คุณจอห์นยังพยายามสร้างแรงรูงใจให้คนในหมู่บ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้นๆ และเขาก็พยายามสอนให้คนในหมู่บ้านนั้นทำตะกร้าสานด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ไม่ใช่เร่งสานตะกร้าจนทรัพยากรในชุมชนร่อยหรอไป ต้องมีระบบอนุรักษ์ทรัพยากรในหมู่บ้านให้มีใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน

เรียกว่าเป็นการใช้ความรู้ในการบริหารจัดการของตนเข้าไปช่วยเหลือคนในหมู่บ้านชนบท ด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเคารพในตัวผู้คนและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบายขึ้น

กลับมาพูดถึงอาจารย์กันต่อนะครับ ตอนที่อาจารย์ Steve สอนเรื่อง Microfinance เขาได้นำวิดีโอเกี่ยวกับโปรแกรม Micro-credit ในบังกลาเทศและโบลิเวียมาฉายให้ชมกันด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากไปกว่าการอ่านอย่างเดียว ต่อมาพอสอนเรื่อง Trade and Development อาจารย์ก็นำวิดีโอเกี่ยวกับ Special Export Zones ในจาไมก้ามาให้ดู มาให้คิดกันต่ออีกด้วย

แถมวิชานี้ยังมี TA ที่เด็ดมากอีกด้วย เขาชื่อ David ครับ เป็นคนสัญชาติอเมริกันแต่พื้นเพน่าจะมาจากแถบลาตินอเมริกา ที่ผมบอกว่าเด็ดก็เพราะนาย David นี่เขาได้ตะลุยเดินทางรอบโลกมาแล้วถึง 60 กว่าประเทศ! ใช่ครับ ผมเขียนไม่ผิดหรอก 60+ ประเทศ! แล้วที่ไปนี่เขาไม่ได้ไปพักโรงแรมนะครับ เขาไปพักกับชาวบ้าน อยู่กับคนท้องถิ่น เพื่อให้รับรู้ว่าวิถีชีวิตและปัญหาของคนเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

สรุปแล้ว คอร์สนี้เป็นคอร์สที่สนุก ตื่นเต้น ได้ความรู้ และได้ข้อคิดมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

ถัดมาตอน Winter ผมก็ติดใจวิชา Development เลยลงเรียน Development 2 ต่อ คราวนี้ Prof. Wing Thye Woo เป็นอาจารย์สอน

คนนี้ก็เด็ดเหมือนกัน แต่คนละแนวครับ Prof. Woo คนนี้อายุประมาณ 50 เกิดในครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจนในมาเลเชีย ตอนเขาอายุ 13 เขาได้รับรู้ว่าในอเมริกามีมหาลัยบางแห่งที่ให้ทุนนักเรียนทุกคนที่สามารถเข้าเรียนได้ หนึ่งในนั้นคือ Swarthmore College อันมีชื่อเสียงใน Philadelphia

ปรากฏว่าอาจารย์ได้เข้าเรียนที่ Swarthmore ดังที่หวังไว้ครับ เรียนเมเจอร์ด้านวิศวะ ที่เจ๋งก็คือคอลเลจนี้เป็นสถานศึกษาที่ไม่เหมือนมหาลัยทั่วไปนะครับ เพราะที่นี่คลาสจะเล็กมากๆ อาจารย์ผมบอกว่าตอนที่เขาเรียนมีกันอยู่ 5 คนหรือ 8 คนในคลาสเองครับ (ผมไม่แน่ใจว่า 5 หรือ 8) วิธีการเรียนการสอนก็เน้นให้นักศึกษาคิดและเน้นการระดมสมอง แต่ละสัปดาห์นักศึกษาแต่ละคนจะต้องเขียน Paper แล้วเอามาแลกกันอ่านกับเพื่อนร่วมห้อง แล้วก็ระดมสมองวิจารณ์งานของแต่ละคนว่าดีไม่ดีอย่างไร ควรปรับปรุงตรงไหน ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยตรงไหนบ้าง

เด็ดสะระตี่จริงๆครับ (อ้อ อาจารย์ปราณี ทินกรก็จบตรีที่ Swarthmore นี่เช่นกันครับ)

อาจารย์ Woo สอนดีใช้ได้เลยครับ (แต่สู้อาจารย์ Steve ไม่ได้) แกเป็นคนที่มี Passion ในการสอนอยู่ในตัวมากเช่นกัน เวลาสอนแกจะเดินไปเดินมาทั่วห้องเลยครับ แล้วก็มักจะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆมาเล่าอยู่ตลอด เป็นคนที่มี Information สารพัดเรื่องอยู่ในตัวเยอะจริงๆ

งานวิจัยของอาจารย์ Woo นั้นส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับเรื่องที่สอนแหละครับ คือ Economic Development & Growth in China, Transition Economies (Formerly Socialist Economies) เรียกว่าทำวิจัยแล้วก็เอาเปเปอร์ที่เขียนนั่นแหละครับมาให้พวกเราเรียนกัน

………

ทั้งอาจารย์ Steve และอาจารย์ Woo ก็เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดีที่ผมได้เรียนด้วยในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ อาจารย์ที่สอนเก่งๆ มักจะไม่ค่อยได้สอนครับ เพราะที่อเมริกานั้นงานวิจัยคือการวัดผลการทำงานของอาจารย์มหาลัย และเป็นตัววัดสำคัญที่ใช้ในการจัด Ranking มหาลัยด้วย

ผมไม่ทราบว่าที่มหาลัยอื่นเป็นยังไงนะครับ แต่ที่นี่อาจารย์ที่เก่งๆ ได้สอนแค่ปีละ 1-2 ควอเตอร์เท่านั้น บางคนลาไปทำวิจัยที่อื่นทำให้ไม่ได้สอนเลยก็มี

ผมเคยคุยกับอาจารย์ Woo เรื่องนี้ อาจารย์ก็บอกว่าที่นี่เค้าวัดผลอาจารย์กันด้วยงานวิจัย ถ้าใครไม่มีผลงานวิจัยเป็นที่น่าพอใจ ก็จะถูกจัดให้ลงมาสอนบ่อยๆ ส่วนอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยดี ก็ไม่ต้องสอนมาก (เช่น อาจารย์ Woo สอนปีละแค่ควอเตอร์เดียวเอง)

ผมและนักศึกษาระดับปริญญาตรีคนอื่นๆ จึงต้องเจอกับอาจารย์ที่สอนไม่ดีหลายคนทีเดียว เพราะว่า:

หนึ่ง Professors ดีๆที่ทำวิจัยเก่งๆก็ไม่ค่อยได้ลงมาสอน ทำให้ Professors ที่ลงมาสอนส่วนใหญ่ก็คือเป็นคนที่ไม่ค่อยมีผลงานวิจัย และสอนไม่ค่อยดี

สอง เวลา Professors แข่งกันทำวิจัยกันมากๆเข้า ก็ทำให้ขาด Professors ที่ว่างจะสอน ทำให้คณะต้องไปหา Lecturers มาสอนแทน (Lecturers ไม่ต้องทำวิจัย แค่สอนอย่างเดียว) ปัญหาก็คือ Lecturers หลายคนความรู้ไม่แน่นเท่ากับพวก Professors เวลาสอนก็ไม่ค่อยจะดี ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์อยู่ไม่น้อยเวลาต้องไปเข้าคลาส

อารมณ์ประมาณว่า ผมอยากเรียนอยากรู้มากๆ แต่ทำไมอาจารย์ถึงสอนไม่ได้เรื่องอย่างนี้ พูดไม่รู้เรื่อง แถมเหตุผลที่นำมาอธิบายก็ไม่หนักแน่น มีอยู่คนหนึ่งสอน International Finance เค้าไปเอา Solow Growth Model (ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับเศรษฐกิจปิด) มาสอนมาใช้กับเศรษฐกิจเปิด โดยเค้าใช้ตรรกะแปลกๆ ผมมองไปรอบๆห้องนักศึกษาแต่ละคนทำหน้างงๆกันทั้งนั้นเลยครับ ผมก็งงเหมือนกัน พูดอะไรวะ ไม่รู้เรื่องเว้ย ในหนังสือก็ไม่มีสอนด้วย วิชานี้ถ้าเรียนกับอาจารย์คนนี้คนเดียว ผมคงต้องรู้สึกว่าได้ความรู้น้อยเหลือเกินแน่ๆ

แต่ยังโชคดีครับที่ได้ TA ที่ดี ตอน TA Section เค้าก็สอนไม่เหมือนที่อาจารย์สอนในห้อง แล้วเวลาตอบข้อสอบเราก็ต้องตอบเหมือนที่ทีเอบอกนะครับ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่เหมือนกับที่อาจารย์สอน) เพราะทีเอเป็นคนตรวจข้อสอบ

อีกวิชาคือ Econometrics 1 ผมลงเรียนกับอาจารย์คนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เป็น Lecturer เหมือนกัน (อาจารย์ที่เป็น Professor ไม่ได้สอนควอเตอร์นี้เพราะต้องทำวิจัย) ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้อธิบายไม่รู้เรื่องเลยครับ ไม่รู้เรื่องจริงๆ ยิ่งตั้งใจฟังยิ่งงง ทั้งๆที่เนื้อหาวิชาบางเรื่องก็ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่อาจารย์เค้าทำให้ยากขึ้นมาเอง ผมยิ่งไม่ค่อยจะถูกกับเลขอยู่ด้วย แต่ก็ยังโชคดีครับที่ได้ TA ดีอีกแล้ว TA คนนี้มาจากยูเครน มาช่วยชีวิตพวกเราไว้ (TA บอกว่ายูน่าจะลงเมื่อควอเตอร์ก่อนจะได้เจออาจารย์ที่ดีกว่านี้ ได้เรียนอะไรดีๆกว่านี้มาก)


หรือถึงแม้เราโชคดีได้เรียนกับ Professors ที่เก่งๆ ทำวิจัยเยอะๆ คุณภาพการสอนก็อาจจะไม่ดีนัก เพราะอาจารย์ต้องยุ่งกับงานวิจัยของตนจนไม่มีเวลาเตรียมสอน ก็เลยสอนจากในหัวสมองโดยไม่ต้องเตรียมตัว ซึ่งการสอนแบบนี้ก็พอใช้ได้ครับ แต่บางครั้งการเรียบเรียงเนื้อหาในการสอนจะไม่ค่อยดีนัก การสอนจึงไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาลัยผม ที่มหาลัยอื่นเป็นอย่างไรบ้างก็บอกเล่ามาได้นะครับ

ผมก็เข้าใจนะครับว่าเราที่เป็นนักศึกษาก็ต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยการอ่านหนังสือ แต่บางครั้งมันก็รู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์มากๆเวลาต้องจำใจไปเข้าคลาสของอาจารย์ที่สอนไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่เราอยากเรียนวิชานั้นมากๆ ผมก็เลยอดไม่ได้ต้องขอบ่นเสียหน่อยนะครับ

น่าคิดนะครับว่า การตัดสินผลงานของอาจารย์มหาลัยโดยดูจากงานวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้น ทำให้คุณภาพการสอนระดับปริญญาตรีลดลงมากแค่ไหน? ภาวะได้อย่างเสียอย่างระหว่างงานวิจัยกับงานสอนมันมากแค่ไหน? มีวิธีการใดที่จะสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ทำงานวิจัยและทำการสอนให้ดีควบคู่กันไปพร้อมๆกัน? หรือว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะมหาลัยที่นี่เขาไม่ได้สนใจการสอนระดับปริญญาตรีเสียแล้ว เลยปล่อยๆไปไม่ได้สนใจแก้ไข?

และถ้าคิดถึงในเมืองไทย ที่ผ่านมาผมก็เจออาจารย์ดีๆหลายท่าน แต่ก็เจออาจารย์ที่สอนไม่เป็น ถ่ายทอดไม่เป็น (ถึงแม้จะมีความรู้เยอะก็ตาม) หลายท่านเช่นกัน ผมเลยสงสัยว่า ก่อนจะเริ่มเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อาจารย์ที่มหาลัยไทยต้องเข้าคอร์สเรียนวิธีการสอน วิธีการพูด วิธีการถ่ายทอดความรู้บ้างหรือไม่?

และต่อไปถ้ามหาลัยไทยออกนอกระบบ ผมคิดว่าระบบการวัดผลก็คงส่งเสริมให้อาจารย์เน้นการทำงานวิจัยกันมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันนั้น คุณภาพการสอนจะตกลงไปบ้างหรือไม่?

.........

เอาล่ะครับ ยังไงก็แล้วแต่ตอนนี้ผมก็ปิดเทอมแล้ว เดี๋ยวจะไปเที่ยวซานฟรานฯทิ้งทวนก่อนบินกลับเมืองไทย คิดถึงขนมจีนน้ำยา, ต้มยำกุ้ง, น้ำจิ้มแจ่ว, เอ็มเคสุกี้ ฯลฯ จะแย่แล้วครับ!

ป.ล. ตอนจบนี่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลยนะครับ เพราะผมนึกไม่ออกว่าจะจบยังไงดี ใจมันมัวแต่นึกถึงอาหารไทยครับ แฮ่ๆ

Monday, June 06, 2005

ว่าด้วย Trade and WTO


ผมได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณ kazamatsuri_sho มาเกี่ยวกับเรื่อง trade & WTO ในบล็อก

ความจริงใจของฝรั่งจากกรณีการกำจัดโควต้าสิ่งทอของจีน

ผมอยากฟังความคิดเห็นและมุมมองของทุกท่านเกี่ยวกับ free trade, WTO และผลดี/ผลเสียต่อประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆครับ


Saturday, June 04, 2005

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น


ช่วงนี้ผมกำลังยุ่งๆกับการสอบ final ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์นี้ เลยไม่ค่อยมีเวลาอัพบล็อกสักเท่าไหร่ ไม่รู้ทำไมมหาลัยผมถึงได้สอบช้ากว่าชาวบ้านเค้าขนาดนี้ เพื่อนๆผมส่วนใหญ่ก็ปิดเทอมกันไปหมดแล้ว ช่างน่าอิจฉาเสียจริง

วันก่อนเข้าไปอ่าน "คำให้การของ Anakin" ของอาจารย์ปิ่น อ่านจบแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจทำให้ผมนึกถึงบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนไว้ปีกว่าๆมาแล้ว ผมเขียนลงตีพิมพ์ในวารสาร be Political Economy ซึ่งนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) กลุ่มหนึ่ง (รวมทั้งผมด้วย) ได้ริเริ่มทำขึ้น

ผมกลับไปอ่านบทความชิ้นนั้นอีกครั้ง เพื่อดูว่าความคิดของผม ณ เวลานั้น เป็นเช่นไร เหมือนหรือแตกต่างจากความคิดของผม ณ เวลานี้อย่างไรบ้าง ผมพบว่า ความคิดผมเปลี่ยนไปบ้างในบางเรื่อง เวลาปีกว่าๆที่ผ่านมาสอนผมหลายอย่าง มันทำให้ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งที่ผมเคยเขียนลงในบทความ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ผมรู้สึกเห็นด้วยมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ย้อนไปตอนหลังจากบทความได้ลงตีพิมพ์ไปไม่นาน มีอาจารย์บางท่านและรุ่นพี่หลายคนบอกว่าชอบงานเขียนชิ้นนี้ ผมจำได้ว่ามีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะท่านหนึ่งส่งอีเมลล์มาบอกว่าในคณะมีอาจารย์ดีๆหลายคนพยายามต่อสู้กับปัญหาสารพัดอยู่ รู้สึกดีใจและมีกำลังใจมากขึ้นหลังได้อ่านงานเขียนของผม

ตอนนั้น ผมรู้สึกดีใจมาก... ดีใจเพราะว่า ถึงแม้งานเขียนของเราจะไม่ได้เพอร์เฟคเลิศเลออะไร แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ส่ง "กำลังใจ" ให้กับคนดีๆที่พยายามทำสิ่งดีๆท่ามกลางอุปสรรคปัญหาต่างๆมากมาย

บทความนี้จึงเป็นงานเขียนของตัวเองชิ้นที่ผมชอบมากที่สุดครับ

ไหนๆช่วงนี้ผมก็ยุ่งๆกับการสอบอยู่ ก็ขอนำงานเขียนเก่าชิ้นนี้มานำเสนอแล้วกันนะครับ

......

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น

สองปีที่แล้ว ผมเข้ามาเรียนที่โครงการภาคภาษาอังกฤษ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยความมุ่งมั่นจะแสวงหาวิชาความรู้ไปพัฒนาสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

เป็นเวลาสองปีที่ผมได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เต็มไปหมด

ความรู้ต่างๆ ที่ผมได้รับไม่จำกัดอยู่เฉพาะในตำราเรียน แต่ยังรวมถึงความรู้นอกตำรา ทั้งจากการอ่านบทความและสื่อหนังสือต่างๆ ทั้งจากการสนทนากับพี่ๆ และอาจารย์ และทั้งจากการเข้าร่วมวงสัมมนาเชิงวิชาการต่างๆ

ส่วนใหญ่ งานเขียนที่ผมอ่านและการสนทนาของวงสัมมนาต่างๆ จะเป็นการเสนอความคิดเห็นและการถกเถียงกันในประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, นโยบายประชานิยม, การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) และอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและสังคม

แต่บางครั้ง ผมเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ มันมากเกินไป ซ้ำซากจำเจ วกไปวนมาไม่รู้จบ

จนบางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “เอียน” กับการถกเถียงทางวิชาการเหล่านี้

อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “สับสนวุ่นวาย” ในจิตใจ

อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า “เรียนไปทำไม เถียงกันไปทำไมกัน?” หากสิ่งที่พูดหรือสิ่งที่เถียงกันนั้น มันไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรสักเท่าไร

คือ มีแต่คน “พูดๆๆๆๆ” และ “เขียนๆๆๆๆ” แต่น้อยนักที่จะเห็นคน “ทำ” จริงๆ

---------------

เรามักได้ยินปัญญาชนคนดีหลายๆคนพูดว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ทำอะไรให้สังคมในวงกว้างไม่ได้สักเท่าไรหรอก จะเข้าไปทำการเมืองก็ไม่ได้ เพราะการเมืองสกปรก ระบบไม่เปิดโอกาสให้คนดีผู้ยึดถืออุดมคติเข้าไปทำหรอก เข้าไปมีแต่จะทำให้ตัวเองสกปรกเปล่าๆ”

การเมืองไทยมันแย่มาแทบทุกยุคสมัย คนดีๆที่เข้าไปถูกกลืนไปเสียหมด นักวิชาการส่วนใหญ่จึงคิดว่า นี่เป็น “อนิจลักษณะของการเมืองไทย” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมรู้สึกว่าเขามองโลกในแง่ร้ายเกินไป

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขายังยึดมั่นถือมั่นใน “ทฤษฎี” มากจนเกินไป

ถามว่าทฤษฎีเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบก็คือมาจากการศึกษาสิ่งต่างๆในอดีตแล้วประมวลออกมาเป็น “ทฤษฎี” ดังนั้นในความคิดของนักวิชาการ ทฤษฎีจึงเป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ทฤษฎี” ของนักวิชาการส่วนใหญ่ อธิบายว่าการเมืองมันแย่ คนดีเข้ายาก เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เป็นที่ของคนไม่ดีให้เข้าไปหาประโยชน์เข้าตัว

ผมอยากจะแย้งกลับไปว่า “ก็คุณมัวแต่คิดอย่างนี้ การเมืองมันถึงได้เป็นเช่นนี้นั่นแหละ”

ทำไมไม่รู้จักคิดถึงพระราชดำรัสในหลวงที่สอนว่าเราควรขัดขวางไม่ให้คนไม่ดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง

นี่กระมังที่เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการและปัญญาชนส่วนใหญ่

ความเชื่อถือใน “อดีต” นั้นสูงเสียจนพวกเขาคิดว่า มันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “การคิดในเชิงบวก” และ “การมองโลกในแง่ดี” อันเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของ “การเปลี่ยนแปลง”

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” อันเป็นของขวัญชิ้นล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด

อยากให้ระลึกถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า

“Imagination is more important than knowledge.” จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

และคำพูดของ Karl Marx ที่ว่า

“Philosophers have only interpreted the world. The point, however, is to change it.”

เราควรจะพูดให้น้อยลง แต่ลงมือทำกันมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

---------------

ในหนังสือ “มองโลกง่ายง่าย สบายดี” นั้น “หนุ่มเมืองจันท์” ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “ต้นน้ำแห่งอุดมคติ” ผลงานเขียนของพระไพศาล วิสาโล มาอธิบายให้แง่คิดในเรื่อง “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ได้อย่างดี

กล่าวโดยสรุป “ต้นน้ำ” นั้นใสสะอาดบริสุทธิ์ดั่ง “อุดมคติ” แต่ต้นน้ำกว่าจะไหลมารวมกันเป็น “แม่น้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือน “ขบวนการ” นั้น ย่อมต้องเจือจางอะไรต่อมิอะไรมากมาย

แต่ถึงแม้จะมีสิ่งเจือปนอยู่มาก แม่น้ำก็นำพาประโยชน์มาสู่มหาชนได้อย่างมหาศาล

เปรียบดั่งขบวนการที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้นั้น ย่อมต้องรู้จักยืดหยุ่นและไม่ยึดติดในอุดมคติมากเกินไป อุดมคติดั้งเดิมย่อมต้องเจือจางไปบ้าง แต่ต้องไม่ให้เจือจางเกินไป

ทั้ง “ต้นน้ำ” และ “แม่น้ำ” หรือ “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ต่างก็มีความสำคัญ มีบทบาทของตนเอง

เราสามารถเลือกที่จะเป็น “ต้นน้ำ” คือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังทางสติปัญญา หรือเป็น “แม่น้ำ” คือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ในความคิดของผม สังคมไทยมีคนที่เป็น “ต้นน้ำ” ที่ใสบริสุทธิ์อยู่มากพอควรแล้ว แต่ยังขาดคนที่เป็น “แม่น้ำ” ที่ดีอยู่

พวกที่เป็น “ต้นน้ำ” ส่วนมากมีข้อจำกัดหลายอย่าง และไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถทำอะไรในวงกว้างได้

ส่วนพวกที่เป็น “แม่น้ำ” ในปัจจุบัน (ผมหมายถึง ผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งในรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ) ก็เป็นมลพิษเน่าเสีย ให้โทษมากกว่าให้คุณแก่สังคม

ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นปัญญาชนในสังคมร่วมกันสร้าง “แม่น้ำ” ที่ดี ให้แก่สังคมไทยด้วย คือ กล้าที่จะรวมตัวกันและเป็นผู้นำในการสร้างขบวนการที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงขึ้น มิใช่แต่จะคอยเป็น “ต้นน้ำ” สายเล็กๆ เพียงอย่างเดียว

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ใน “สันติประชาธรรม” ว่า

“ในบรรดาประชาชนนั้น ไม่ว่าแห่งใด ย่อมมีผู้นำ ในกรณีนี้คือ ผู้ที่ได้สำนึกแล้วในสิทธิเสรีภาพ และใครเล่าที่ได้สำนึกเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้มีวาสนาได้รับการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมีวาสนาถึงเพียงนี้ ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น การนำไม่ใช่เป็นสิทธิหรืออภิสิทธิ์ แต่เป็นหน้าที่”

ผู้ใหญ่ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อได้อ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยนี้แล้ว ควรย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ได้ทำ “หน้าที่” ในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ดีแล้วหรือยัง?

---------------

ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาเกือบสองปีแล้ว…

ผมรู้สึกแปลกใจที่ยังไม่มีอาจารย์ท่านใดนำงานเขียนของอาจารย์ป๋วย “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” มาเผยแพร่ให้ผมกับเพื่อนๆ ในชั้นได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำวิถีชีวิต คุณงามความดี และหลักการในการดำรงชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่ให้นักศึกษาได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำแนวคิด “สันติประชาธรรม” ของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์น้อยคนนักที่สอนให้นักศึกษาได้รู้ถึง “ความหมาย” ที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์ ความหมายที่ลึกซึ้งกว่า “การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ” จนบางครั้งผมอดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์ท่านรู้ถึงความหมายที่แท้จริงนี้หรือไม่…

และผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์แทบจะไม่เคยพูดถึงหลัก “ธรรม” อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยเลย

หาก “ศาสตร์” ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนขาด “ธรรม” นำทางแล้ว ความรู้ต่างๆ จะมีประโยชน์กับสังคมได้อย่างไร กลับกันอาจเป็นโทษแก่สังคมด้วยซ้ำ หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า

“การเรียนอย่างฝรั่งนั้น พัฒนาได้เพียงแค่หัวสมอง ถ้าธาตุแท้ของคนไม่มีดีเสียแล้ว ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปเพียงใด มันก็ยิ่งโกงและกอบโกยได้มากเพียงนั้น”

ผมอยากให้อาจารย์ผู้สอนเศรษฐศาสตร์และวิชาการทุกสาขาคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เพราะหากอาจารย์สอนแต่หลักวิชา โดยขาดการสอนคุณธรรมด้วยแล้ว มันจะเป็นโทษต่อสังคม มากกว่าเป็นประโยชน์ และหากเป็นเช่นนี้ จะมีการศึกษาไปเพื่ออะไรกัน?

แต่ผมยอมรับว่า “ธรรม” นั้น สอนยากกว่า “ศาสตร์” นัก แต่ถ้าจะให้มี “ศาสตร์” ที่ปราศจาก “ธรรม” แล้ว มันก็เหมือนกับมี “สมอง” แต่ไร้ซึ่ง “หัวใจ”… ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า ไม่มี “ศาสตร์” เสียเลยจะดีกว่า

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับ “ความหมาย” ของเศรษฐศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่า “เนื้อหา” ของเศรษฐศาสตร์

ผมอยากเห็น normative economics ไม่น้อยไปกว่า positive economics มิใช่มีแต่ positive อย่างเดียว เพราะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นร่างที่ไร้จิตวิญญาณ

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเราให้ความสำคัญกับ เศรษฐศาสตร์นอกกระแสต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ หรือความคิดแบบ Small is Beautiful ของ E.F. Schumacher ไปจนถึงพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเช่นกัน

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ตระหนักถึงข้อจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์ และตระหนักถึงความจริงที่ว่า “The really serious matters in life cannot be calculated.” (Schumacher, 1973) สิ่งที่สำคัญในชีวิต ดังเช่นความสุขของมนุษย์ ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับข้อเขียนของ Schumacher ใน Small is Beautiful ที่ว่า

“…greed and envy demand continuous and limitless economic growth of a material kind, without proper regard for conservation, and this type of growth cannot possibly fit into a finite environment… infinite growth of material consumption in a finite environment is an impossibility…”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา สอนให้นักศึกษารู้จัก limit wants ของตัวเองบ้างคือ ละความโลภ ความเห็นแก่ตัว รู้จักพอ และรู้จักให้บ้าง มิใช่สอนแต่ว่ามนุษย์มีความเห็นแก่ตัว มีความต้องการไม่สิ้นสุด การสอนเช่นนี้อาจทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่เห็นแก่ตัวเสียเอง

ผมอยากเห็นวิชาเศรษฐศาสตร์มี “ชีวิต” มากกว่านี้ และ “บูรณาการ” มิติต่างๆทางสังคม มิใช่มีแต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเต็มไปด้วยกราฟ และสมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงไปหมดเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ผู้ใหญ่และนักศึกษาในคณะ ระลึกถึงอาจารย์ป๋วย และระลึกถึงข้อเขียนของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ใน “บทเรียนจากการตายของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์” ว่า

“…สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ยกเอานายป๋วยเป็นดังบิดานั้น ก็จงอย่าทำตัวเป็นอวชาตบุตร โดยที่จะเป็นอภิชาตบุตรได้ ต้องเข้าใจถึงเศรษฐศาสตร์อย่างที่เป็นองค์รวม อย่างที่ท้าทายกระแสหลัก ด้วยการหันเอาเศรษฐศาสตร์มาสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ในการอยู่ข้างคนยากไร้… หาทางโยงหัวสมองมาสู่หัวใจ…นี้แล คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา อย่างเป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าอามิสบูชาด้วยวิธีอื่นๆ”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็น “แม่น้ำ” แห่ง “ธรรม” นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามมาสู่สังคมไทย (อีกครั้ง)




Friday, May 27, 2005

Jeffrey Sachs กับ The End of Poverty (2) : The Extreme Poor and the Poverty Trap


ก่อนอื่นคงต้องขอนอกเรื่องเล็กน้อยด้วยการแสดงยินดีกับแฟนๆหงส์แดงทุกคนด้วย ผมโดดเรียนมานั่งดูสดๆ ถึงแม้ผมจะไม่ใช่แฟนหงส์ แต่ก็เชียร์ลิเวอร์พูลเต็มที่ ตอนที่อลอนโซ่ตีเสมอได้สำเร็จนี่มันอารมณ์มันถึงขีดสุดๆจริงๆนะครับ

ต้องชมเชยหัวจิตหัวใจนักสู้ของนักเตะลิเวอร์พูลทุกคนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แต่ถ้าจะให้เลือกแมนออฟเดอะแมทช์คนเดียว ผมคงต้องเลือกดูเด็คนั่นแหละครับ เพราะทั้งซูเปอร์เซฟลูกยิงเชฟเชนโกช่วงต่อเวลา แล้วก็มาเต้นแร้งเต้นกา (เลียนแบบบรู๊ซ กรอบเบลล่าตอนปี 1984) จนเซฟจุดโทษได้อีกสองลูก!

เอาแหละครับ กลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่า

ผมได้เกริ่นไว้ในตอนแรกว่า เป้าหมายของ Jeffrey Sachs ที่เขาเขียนไว้ใน The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time นั้น คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงข้อเสนอของ Sachs ต่อไปนั้น ผมคิดว่าเราควรจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คนยากจนที่ยากจนที่สุด (the extreme poor หรือ the poorest of the poor) ที่เขาต้องการจะช่วยเหลือนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และทำไมพวกเขาถึงยากจน

เราสามารถใช้ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประชากรโลก (ซึ่งมีประมาณ 6 พันล้านคน) ออกได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือ คนยากจนที่สุด (extreme poor or the poorest of the poor) คนจนในกลุ่มนี้เป็นคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวันเพื่อความอยู่รอด พวกเขาแทบไม่มีรายได้เลย (น้อยกว่า $1 ต่อวัน) พวกเขาขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีพ คือ ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขอนามัย ขาดแคลนยารักษาโรค ต้องเผชิญกับโรคร้ายต่างๆโดยไม่มีเงินจะรักษา พวกเขามีอายุเฉลี่ยเพียง 40-50 กว่าปีเท่านั้น คนจนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชเพื่อยังชีพ ไม่มีผลผลิตเหลือพอที่จะขายได้ หรือถึงแม้จะมีผลผลิตเหลือก็ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ (อาจเป็นเพราะตลาดอยู่ไกลเกินกว่าที่พวกเขาจะเดินทางไปถึงก่อนที่ผลผลิตจะเน่าเสียก่อน)

ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความทุกข์ และความตายอยู่ตลอดเวลา ประชากรโลกประมาณ 1.1 พันล้านคนจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจนที่สุดนี้ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียใต้ คนจนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ Sachs ต้องการจะช่วยเหลือครับ

กลุ่มที่สองคือ คนยากจน (the poor or the moderate poor) ถึงคนจนกลุ่มนี้จะมีรายได้น้อย ($1 - $2 ต่อวัน) แต่พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างทรมานทุกๆวันเหมือนคนจนกลุ่มแรก คนจนกลุ่มที่สองนี้พอมีอาหารกิน มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอยู่บ้าง แต่ก็ต้องต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อหาเงินมาซื้อปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ คนจนเหล่านี้มักจะมีหนี้สินมาก เพราะบางครั้งต้องไปกู้ยืมมาใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ลดลง (consumption smoothing)


คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 1.5 พันล้านคนในโลก มีทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในชนบทและในเมืองใหญ่ต่างๆ คนจนในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในกลุ่ม moderate poor นี้เองครับ ถ้ารวมคนจนทั้งหมดกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองก็จะได้ประมาณ 2.5 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรโลก

กลุ่มที่สามคือ คนมีรายได้ระดับกลาง (middle-income) คนเหล่านี้ก็คือคนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อาจจะแบ่งย่อยออกเป็น higher-middle กับ lower-middle income ก็ได้ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง คนเหล่านี้ไม่มีปัญหาเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ มีอาหารการกินดี และมีโอกาสทางการศึกษา คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2.5 พันล้านคน ซึ่งก็รวมไปถึงคนชั้นกลางในเมืองไทยด้วยครับ

กลุ่มสุดท้ายคือ คนรวย (the rich or high-income) คนกลุ่มนี้คงทราบกันดีนะครับ มีชีวิตที่สุขสบาย รายได้เกินพอในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นเศรษฐีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา คนกลุ่มนี้ก็มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านคนครับ

ถึงตรงนี้ก็ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายของ Sachs คือการช่วยเหลือคนจนที่ยากจนมากๆกลุ่มแรก (extreme poor) ไม่ใช่กลุ่มที่สอง ดังนั้น ข้อเสนอของ Sachs จึงไม่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือคนจนกลุ่มที่สองได้ เพราะโจทย์ปัญหามันไม่เหมือนกันครับ

......

Sachs ได้เปรียบเทียบการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเหมือนการปีนบันไดการพัฒนา (ladder of economic development) ประเทศร่ำรวยก็อยู่ขั้นสูงๆบนบันได ส่วนประเทศยากจนก็ยังอยู่ช่วงล่างของบันไดหรือบางประเทศอาจยังไม่ได้เริ่มปีนด้วยซ้ำ

ข่าวดีก็คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (part of the moderate poor, most of the middle-income, and the rich) กำลังปีนไต่บันไดการพัฒนาอยู่ กำลังก้าวขึ้นไปบนขั้นที่สูงขึ้นๆ หมายความว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็มีเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นบวก บวกมากบวกน้อยแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นบวก ผู้คนเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น โดยภาพรวมแล้ว คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิต (ด้านวัตถุ) ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าคนจนกลุ่มที่สอง (moderate poor) หลายคนก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ผมได้เขียนบอกไปแล้วว่าแนวทางของ Sachs ไม่ได้โฟกัสที่คนจนกลุ่มนี้ แต่โฟกัสที่คนจนที่ยากจนที่สุด (extreme poor) ครับ

ข่าวร้ายก็คือ ยังมีคนอีกร่วม 1 พันล้านคนในโลก (the extreme poor) ที่ยังไม่ได้เริ่มปีนบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจเลย ขั้นบันไดขั้นแรกดูเหมือนจะอยู่สูงเกินกว่าที่คนจนเหล่านี้จะก้าวปีนขึ้นไปถึง เพราะพวกเขากำลังติดอยู่ใน "กับดักความยากจน" (poverty trap) ซึ่งพวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดออกมาจากกับดักนี้ได้

หรือถ้าใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์หน่อยก็อาจจะเรียกได้ว่าคนจนเหล่านี้ติดอยู่ใน very-low-income stable equilibrium ก็ได้ครับ

Sachs ได้เน้นย้ำประเด็นนี้หลายครั้งว่า คนจนที่ยากจนที่สุดนี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ด้วยตัวเอง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นจากกับดักนี้ เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากกับดักที่หน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้แล้ว พวกเขาถึงจะสามารถช่วยตัวเองต่อไปได้ครับ

คำถามสำคัญต่อไปก็คือ ทำไมคนจนเหล่านี้ถึงติดอยู่ในกับดักความยากจนและไม่สามารถสลัดตัวเองให้พ้นจากกับดักนี้ได้? ทำไมเศรษฐกิจของประเทศอย่างเอธิโอเปียหรือเคนย่าถึงไม่เติบโต?

ถ้าเราถามคำถามนี้กับคนรวยในประเทศพัฒนาแล้ว คำตอบที่เราจะได้รับจากคนส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้นเรื่องคอร์รัปชั่น คนเหล่านี้มักจะบอกว่าประเทศเหล่านี้ยากจนเพราะรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุจริตโกงกิน

ในความคิดของ Sachs นั้น เขาไม่เถียงว่าประเทศยากจนบางประเทศมีรัฐบาลที่ทุจริตแบบสุดๆไร้ประสิทธิภาพที่สุด แต่เขาเน้นชัดว่า มีประเทศยากจนอีกมากมายที่มีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหาความยากจน และมีการคอร์รัปชั่นไม่มากนัก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงไม่ควรกล่าวโทษคอร์รัปชั่นว่าเป็นสาเหตุหลักประการเดียวของปัญหาความยากจน

Sachs บอกว่ามีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายข้อที่ทำให้เศรษฐกิจบางประเทศไม่เติบโตและติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน ผมจะขอยกเอาข้อที่สำคัญๆมานะครับ

ข้อแรก ความยากจนเองนั่นแหละที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต เศรษฐกิจจะเติบโตได้ก็ต้องมีการลงทุน จะมีการลงทุนได้ก็ต้องมีการออม แต่ผู้คนเหล่านี้ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะบริโภคเพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวันเลยด้วยซ้ำ พวกเขาจะมีเงินออมได้อย่างไร? เมื่อไม่มีเงินออมก็ไม่มีการลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนรายได้ก็ไม่เติบโต

นอกจากนี้ การลงทุนในตัวคน (human capital) ก็ไม่มี เพราะลูกหลานของคนเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษา หนำซ้ำทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ก็กำลังหมดไปเรื่อยๆ เพราะดินที่พวกเขาใช้เพาะปลูกนั้นขาดการบำรุงรักษา ทำให้แร่ธาตุในดินลดลงไปมาก ผลผลิตก็ลดลงตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยากจนนั่นแหละที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นออกมาจากกับดักความยากจนได้

ข้อสอง ลักษณะภูมิศาสตร์ทางกายภาพ (Physical Geography) ทำให้พวกเขาติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน Sachs ค่อนข้างให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศมากทีเดียว บางประเทศยากจนเพราะว่าไม่มีทางออกทางทะเล บางประเทศไม่มีแม่น้ำที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง บางประเทศมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงซึ่งการคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ทำให้การค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศมีต้นทุนค่าขนส่งสูง เมื่อค้าขายไม่ได้ก็ยากที่จะเพิ่มรายได้

จริงๆแล้ว Adam Smith ก็ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องภูมิประเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ไว้ด้วยเช่นกัน เขาเขียนไว้ว่าประเทศที่มีชายฝั่งติดทะเลที่เหมาะสมเป็นท่าเรือ และมีแม่น้ำที่เหมาะสมต่อการคมนาคม จะเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเริ่มขึ้นที่ริมฝั่งทะเลก่อน แล้วค่อยๆรุกคืบเข้าไปในผืนแผ่นดิน

ลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศลาวดูนะครับ แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมเราถึงพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วกว่าลาว เมืองไทยมีที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ มีฝนจากมรสุมที่ตกต้องตามฤดูกาล (ยกเว้นภาคอีสานที่แห้งแล้ง) มีแม่น้ำอื่นๆและคลองมากมายที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง มีชายฝั่งติดทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งหมดนี้เอื้อต่อการเกษตรกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าขายกับต่างประเทศทั้งสิ้น ในขณะที่ลาวนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง การเพาะปลูกและการคมนาคมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งลาวยังไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้การค้าขายและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก

นอกจากนี้ ประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรยังต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมาลาเรีย บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมประเทศแถบแอฟริกาจึงมีการแพร่ระบาดของมาลาเรียมากกว่าในเอเชียมากนัก สาเหตุข้อหนึ่งก็คือ ยุงเอเชียกับยุงแอฟริกาไม่เหมือนกันครับ! ยุงเอเชียชอบกัดวัวควาย แต่ยุงแอฟริกาชอบกัดคน การแพร่เชื้อมาลาเรียได้นั้น ยุงจะต้องกัดจากคนคนหนึ่งที่มีเชื้อ หลังจากนั้นเชื้อจะต้องใช้เวลาฟักตัวในตัวยุงประมาณเจ็ดวัน (เท่ากับเวลาชีวิตของยุง) พอวันที่เจ็ดเมื่อยุงไปกัดคนอีกคนหนึ่ง คนๆนั้นก็จะได้รับเชื้อเข้าไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่คนแอฟริกาจะได้รับเชื้อก็มีมากกว่าคนเอเชีย เพราะยุงแอฟริกันชอบกัดคนมากกว่ากัดวัวควาย!

ข้อสาม รัฐบาลของประเทศยากจนนั้นขาดงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศยากจนนั้นแทบไม่มีรายได้จากการเก็บภาษีเลย เพราะประชาชนยากจนจึงไม่มีเงินเหลือจ่ายภาษี เมื่อขาดงบประมาณ รัฐก็ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง และด้านอื่นๆที่จำเป็น เมื่อไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เศรษฐกิจก็ยากที่จะเติบโตได้

ข้อสี่ อัตราการเติบโตของประชากรในประเทศยากจนส่วนใหญ่จะสูง เมื่อครอบครัวคนยากจนมีลูกมาก พ่อแม่ก็ไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารให้ลูกทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่มีเงินส่งให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินดูแลรักษาสุขภาพของลูกแต่ละคน ทำให้เด็กๆเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และขาดการศึกษา เมื่อเป็นผู้ใหญ่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความยากจนอีก

ข้อห้า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นมักจะเกิดขึ้นในประเทศที่คนมีรายได้ดี เพราะมีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น สามารถทำกำไรได้ แต่ในประเทศยากจนที่ผู้คนแทบไม่มีรายได้เลยนั้น ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเลย เพราะไม่มีดีมานด์ ไม่มีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศสามารถใช้ advantage of backwardness ได้ โดยนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้หรือดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุน (ในประเด็นนี้ Sachs ตั้งข้อสังเกตว่าการลงทุนจากต่างชาตินั้นจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองชายฝั่งที่ติดทะเลเสมอ) แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถทำอย่างนี้ได้นะครับ ประเทศยากจนหลายประเทศไม่มีเงินจะไปซื้อเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ (อาจเป็นเพราะไม่มีทางออกทางทะเล ไม่มีชายฝั่ง หรือขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน)

......

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ Sachs ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า the extreme poor กำลังติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจนที่พวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดพ้นออกมาได้

ขั้นแรกของบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจยังอยู่สูงเกินกว่าที่พวกเขาจะก้าวขึ้นไปถึง

Sachs เห็นว่าประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยให้ประเทศยากจนเหล่านี้หลุดพ้นจาก extreme poverty ให้ได้ หลุดพ้นจากกับดักความยากจนให้ได้ นั่นคือต้องช่วยให้พวกเขาได้ประเดิมก้าวแรกบนบันไดแห่งการพัฒนาให้ได้เสียก่อน

เมื่อประเทศยากจนสามารถเริ่มปีนบันไดขั้นแรกได้แล้ว Sachs เชื่อว่าพวกเขาก็จะสามารถปีนบันไดขั้นต่อๆไปได้ด้วยตัวเอง เหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆได้ทำมาแล้ว

จะว่าไปสถานการณ์มันก็คล้ายๆกับลิเวอร์พูลตอนตามหลังมิลาน 0-3 นะครับ นักเตะลิเวอร์พูลต้องการประตูแรกให้ได้โดยเร็วที่สุด ประตูที่สองและสามจึงจะตามมาได้ ถ้าไม่ได้ลูกแรก ลิเวอร์พูลก็คงติดอยู่ใน poverty trap (lack of goals, not lack of money) เหมือนกัน

ส่วนแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ของ Sachs จะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โปรดติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปนะครับ




Sunday, May 22, 2005

Jeffrey Sachs กับ The End of Poverty (1) : เกริ่นนำ


เท่าที่ผมสังเกตเห็นมา (correct me if i'm wrong) อาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ดังๆในอเมริกานั้น มีน้อยคนนักที่จะมีความสนใจแบบจริงจังในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา

แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆกลุ่มนั้น คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น
Jeffrey Sachs

เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์คงจะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อของ Sachs กันดี แต่สำหรับท่านอื่นๆที่ไม่ใช่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ชื่อของ Sachs อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าใดนัก

ผมเพิ่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Sachs ก็เมื่อตอน Winter ที่ผ่านมานี้เองครับ ผมรู้จักเขาผ่านบทความของเขา ซึ่งผมต้องอ่านในวิชา Economic Development ที่ UC Davis (อาจารย์ที่สอนผมชื่อ Wing Thye Woo เป็นลูกศิษย์และเป็นเพื่อนสนิทกับ Sachs มานานแล้ว)

ต่อมาผมก็ไปเจอชื่อของ Sachs เข้าอีกในฐานะ Co-Director ของ PhD Program in Sustainable Development ที่ Columbia ตอนนั้นผมถึงได้รู้ว่า Sachs เป็นถึง Director of the Earth Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาใช้ผสมผสานและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ผมก็เลยลองศึกษาประวัติของ Sachs แบบจริงจังดู ก็พบว่า Sachs เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์น่าสนใจมากและไม่เหมือนนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันส่วนใหญ่ เพราะเขาไม่เพียงแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา (development economist) ที่มีผลงานวิจัยมากมาย แต่ยังเป็นนักพัฒนาในเชิงปฏิบัติ (development practitioner) ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดารในประเทศด้อยพัฒนาด้วย

ยิ่งพอผมได้เข้าไปฟัง speech ของ Sachs ที่ได้พูดไว้ในหลายวาระแล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมในความคิดและความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้นไปอีก

ผมขอเล่าประวัติของ Sachs ให้ฟังคร่าวๆนะครับ

Sachs เป็นคน Detroit เขาจบการศึกษาจาก Harvard (ตรี-เอก) และเข้าเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ Harvard ในปี 1980 ช่วงแรกๆของชีวิตอาจารย์ของ Sachs ก็คล้ายๆกับอาจารย์คนอื่นๆแหละครับ งานวิจัยของเขาจะเกี่ยวกับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดย Sachs แทบไม่ได้ทำงานด้าน Development Economics เลย (ช่วง early 1980s อาจารย์เศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ มีน้อยคนนักที่สนใจด้านนี้)

แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของ Sachs เปลี่ยนไป

ลูกศิษย์ชาวโบลิเวียของ Sachs คนหนึ่งขอให้ Sachs มาร่วมงานสัมมนาเล็กๆ ซึ่งจัดโดยคณะดูงานจากโบลิเวีย Sachs ตัดสินใจมาร่วมสัมมนา (มีอาจารย์ Harvard มาฟังแค่ 2 คน) เขาได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นกับโบลิเวีย ซึ่งเกิดจากเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation)

หลังจากฟังจบ Sachs ได้ยกมือและออกไปเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงนี้ พอเขาพูดจบ ก็มีเสียงดังออกมาจากหลังห้องว่า "Well, if you're so smart, why don't you come to La Paz (Bolivia's Capital) to help us?"

โดนเข้าไปแบบนี้ พี่ Sachs ของเราก็อึ้งแล้วก็หัวเราะลั่นสิครับ

คณะจากโบลิเวียบอกกับ Sachs ว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ วันต่อมา Sachs ก็ตอบตกลงจะไปเป็นที่ปรึกษาช่วยโบลิเวียแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ ทั้งๆที่เขาก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้ประเทศกำลังพัฒนามาก่อนเลย และเขาก็ไม่แน่ใจด้วยนะครับว่าที่ตัดสินใจลงไปมันสมควรหรือไม่

แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากของชีวิตของ Sachs... การเปลี่ยนแปลงที่ได้หล่อหลอมเขาจนมาเป็นตัวตนของ Sachs ในวันนี้

Sachs ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหยุดเงินเฟ้อในโบลิเวีย ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น ต่อมาเขาก็ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอีกหลายที่ทั้งในละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เอเชีย และแอฟริกา

ทุกวันนี้ นอกจาก Sachs จะเป็น Director of the Earth Institute ที่ Columbia แล้ว เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยดูแลเรื่อง
Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งเป็นโปรเจ็กของ UN ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนทั่วโลกให้ดีขึ้นแบบรอบด้าน

ผลงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของ Sachs นั้นโดดเด่นจนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น "one of the 100 most influential people in the world" by Time Magazine ในปี 2004 และ 2005


จากวันแรกที่ Sachs ได้ไปเยือนโบลิเวีย ในช่วงเวลามากกว่ายี่สิบปีที่เขาได้ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามานี้ เขาได้รับประสบการณ์อันล้ำค่ามากมาย เขาได้พบปะกับผู้คนที่ยากจนหิวโหยในดินแดนอันห่างไกลและล้าหลังหลายแห่ง... ดินแดนที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะเดินทางไป

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในสถานที่จริง กับผู้คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆเหล่านี้ ทำให้ Sachs เกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้พ้นจากความยากจน ความหิวโหย และความทุกข์ที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วันให้จงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์เหล่านี้ยังทำให้ Sachs เกิดความเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ดีขึ้นได้จริงๆ

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ภายในปี 2025

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการช่วยเพื่อนมนุษย์กว่าหนึ่งพันล้านคนที่กำลังหิวโหย อดอยาก ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ และขาดแคลนปัจจัยสี่ ให้ลืมตาอ้าปากได้ ให้เลี้ยงตัวเองได้ ให้มีปัจจัยหลักที่จำเป็นในการดำรงชีพดังที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี

ความฝันสูงสุดของ Sachs ไม่ใช่ความฝันลมๆแล้งๆที่ใครๆก็คิดฝันได้ แต่เป็นความฝันที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงที่เขาได้เผชิญมา เป็นความฝันที่ตั้งอยู่บนหลักแห่งเหตุและผล เป็นฝันที่เขาเชื่อว่าเราสามารถทำให้เป็นจริงได้

ทั้งหมดนี้ Sachs ได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดและเป็นขั้นเป็นตอนในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา

"The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time"

ในหนังสือเล่มนี้ Sachs ได้อธิบายถึงสาเหตุของ "กับดักความยากจน" (poverty trap) ในประเทศยากจนต่างๆ และเขาก็ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย โปแลนด์ อินเดีย และจีน

ที่สำคัญ เขาได้เสนอแนวทางการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรงหรือ extreme poverty ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025 อย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้ด้วย

ไว้ตอนหน้าผมจะมาบอกเล่าไอเดียของ Sachs ให้ฟังกันนะครับ



Friday, May 20, 2005

'Civilization' - the Best Strategy Game ever!

วันนี้ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องอะไรที่มีสาระสักเรื่อง แต่สมองมันไม่ค่อยจะทำงานซักเท่าไหร่นัก มันเหนื่อยๆเบลอร์ๆ คิดอะไรไม่ค่อยออกครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสิบวันที่ผ่านมาผมต้องเผชิญกับการสอบมิดเทอมสามวิชา และการสอบเก็บคะแนนเล็กๆอีกสามครั้ง

ก็เลยเปลี่ยนใจมาเขียนเรื่องอะไรเบาๆสบายๆดีกว่า วันนี้จะเขียนเรื่องเกมครับ

ผมเล่นเกมอยู่สองประเภท เกมเกี่ยวกับกีฬา (CM, Winning, Madden) กับเกมวางแผนหรือที่นักเล่นเกมเรียกกันว่าเกม strategy

หากพูดถึงเกม strategy ดังๆ นักเล่นเกมบ้านเราทั้งพวกสมัครเล่นและพวกมืออาชีพคงจะนึกถึง Warcraft, Starcraft, Command and Conquer เป็นเกมแรกๆ

แต่สำหรับผม เกม strategy ที่เด็ดที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นมาคือเกม Civilization ครับ (หรือเรียกสั้นๆว่า CIV)

ในต่างประเทศ CIV เป็นเกมที่มีคนเล่นติดกันงอมแงมอยู่เยอะมากครับ แต่ว่าเกมนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นเกมเมืองไทยซักเท่าไหร่ เหตุผลคงเป็นเพราะเกมนี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากเกม strategy ทั่วไปอยู่มากพอสมควร และมีรายละเอียดวิธีการเล่นและเทคนิคการเล่นมาก ต้องใช้เวลาศึกษานาน ต้องอ่านคู่มือการเล่นที่เป็นภาษาอังกฤษ (คู่มือเกมภาษาไทยเขียนแบบอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง) นักเล่นเกมบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงนักเลยไม่นิยมเล่นกัน

แต่ถ้าลองได้ศึกษาให้เข้าใจวิธีการเล่นดูแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะติดงอมแงมไม่แพ้ติด CM หรือ FM แน่นอนครับ!

กรณีของผมเป็นกรณีตัวอย่างได้อย่างดีครับ

ผมรู้จัก CIV เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ผมไปเดินห้าง Target อยู่ดีๆ ก็เจอเซ็กชั่นเกม เลยแวะเข้าไปเยี่ยมชมว่ามีเกมอะไรน่าสนใจบ้าง ไม่รู้ผมนึกยังไงเหมือนกันผมถึงได้หยิบเกม Civilization III ขึ้นมาดู อ่านดูหลังกล่องมันก็เขียนประมาณว่า เราจะได้ปกครองประเทศและวางแผนสร้างประเทศ สร้างอารายธรรมของเราตั้งแต่ยุค 4000 ปีก่อนคริสตกาล ไปเรื่อยๆจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ หลังกล่องยังมีคำนิยมจากนิตยสารเกมหลายเล่น มีอยู่เล่มหนึ่งถึงกับบอกว่าเกมนี้เป็น the best strategy game ever!

ฟังแล้วน่าสนใจไหมครับ? ผมอ่านแล้วก็มีอารมณ์ขึ้นมาทันทีเลยครับ ไม่ใช่อารมณ์แบบนั้นนะครับ แต่เป็นอารมณ์อยากลองเล่นครับ... เหลือกล่องเดียวเสียด้วย ต้องรีบซื้อก่อนที่คนอื่นจะมาแย่ง เหลือบไปดูราคา...

$39.99 plus tax!

โอ้พระเจ้า เกมอะไรตั้งพันหก เกมอื่นเค้าขายกันแค่ $25-$30 เอง ผมเลยคิดว่าถ้าอดทนรออีกสักหน่อย กลับบ้านไปเมืองไทยค่อยซื้อคงได้ราคาถูกกว่านี้เยอะ ว่าแล้วก็ตัดใจไม่ซื้อครับ แพงเกิน

ไม่นานหลังจากนั้น โชคก็เข้าข้างผม ผมเจอเพื่อนคนชิลีของผมคนหนึ่งที่เรียน Computer Science ผมถามเค้าว่าเคยเล่นเกม CIV มั้ย เค้าบอกว่าเล่นเป็นประจำเลย สนุกมาก ผมบอกว่าอยากเล่นมากๆ เค้าก็บอกว่าเดี๋ยวเอาแผ่นมาให้ลงแล้วก็ crack ได้ไม่ต้องใช้แผ่น

ผมจำได้ว่าตอนลงเกมตื่นเต้นมาก เกมที่ผมลงเป็น CIV ภาค 3 ครับ (CIV III) ต่อมากลับมาเมืองไทยผมก็ซื้อภาคเสริมคือ CIV III Conquests มาเล่น

ผลก็คือ ผมติดงอมแงมครับ! ช่วงแรกๆจำได้ว่า วันไหนว่างๆก็นั่งเล่นไปเรื่อยตั้งแต่บ่ายๆถึงตีสี่ หยุดพักก็เฉพาะตอนกินข้าวกับอาบน้ำเท่านั้นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านที่ไม่เคยได้ยินชื่อเกมนี้มาก่อนคงจะสงสัยนะครับว่า CIV เป็นเกมแบบไหน? เล่นอย่างไร? ทำไมถึงสนุกนักหนา? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ

ภาพใหญ่ๆของเกม CIV ก็คือการปกครองและบริหารอารยธรรมของเราให้เจริญรุ่งเรืองเหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆครับ ตอนเริ่มเกม เราจะต้องเลือกอารยธรรม (civilization) ที่เราจะเล่นเสียก่อน (มีให้เลือกประมาณ 30 อารยธรรม เช่น Greek, Rome, Aztec, China, India, Babylon, Sumeria, England, Spain, France, Zulu etc.)

แต่ละอารยธรรมก็จะมีลักษณะเฉพาะ (civilization traits) ที่แตกต่างกันไปนะครับ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะอิงกับประวัติศาสตร์ของอารยธรรมนั้นๆจริงๆ เช่น Germany เป็นพวก Scientific and Militaristic, India เป็นพวก Religious and Commercial, England เป็นพวก Seafaring and Expansionist, Sumeria เป็นพวก Agricultural and Scientific เป็นต้น ลักษณะพิเศษแต่ละแบบก็จะให้ประโยชน์ในการเล่นเกมแตกต่างกันครับ

พอเราเลือกอารยธรรมของเราแล้ว เราก็ต้องเซ็ตว่าจะให้มีอารยธรรมอื่นๆอีกกี่อารยธรรมบนโลก แล้วก็เริ่มเล่นได้เลยครับ อย่าลืมนะครับว่าเป้าหมายการเล่นคือสร้างอารยธรรมของเราให้ยิ่งใหญ่ (ยิ่งใหญ่ในที่นี้มีหลายแบบนะครับ เดี๋ยวผมจะพูดต่อไป) ให้เหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆ

เริ่มแรก เกมจะให้คนตั้งถิ่นฐาน (settler) และคนงาน (worker) กับเรามาอย่างละคนครับ เราก็ต้องให้ settlerสร้างเมืองแรกของอารยธรรมของเราก่อนครับ คือตั้งเมืองหลวง แล้วเราก็เริ่มพัฒนาอารยธรรมของเรา โดยเราต้องใช้ให้ worker ทำงาน (งานหลักๆในยุคแรกของ worker คือ สร้างถนน สร้างชลประทานเพื่อการเพาะปลูก สร้างเหมืองเพื่อให้ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆในเมือง) ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างในเมืองของเรา (เช่น temple, library, barrack สิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างก็มี effects ไม่เหมือนกัน) ต้องสร้างกำลังทหารไว้เพื่อบุกประเทศเพื่อนบ้านหรือเพื่อป้องกันประเทศตัวเอง แล้วแต่ยุทธศาสตร์ของเรา และที่สำคัญเราต้องสร้าง settler เพิ่มเพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขยายอารยธรรมของเราไปด้วย

นอกจากนี้ เรายังต้องทำวิจัยเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันด้วยครับ วิจัยตั้งแต่เทคโนโลยียุคแรกๆไปจนถึงยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ bronze working, iron working, monotheism, ไปเรื่อยๆจนถึง democracy, industrialization, synthetic fiber etc. พอเราวิจัยเทคโนโลยีแต่ละอย่างเสร็จ มันก็จะทำให้สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้าง, สิ่งมหัศจรรย์ของโลก (Wonders), หรือสร้างยูนิตทางทหารใหม่ๆ หรือให้ระบบการปกครองแบบใหม่แก่เรา เช่น พอวิจัย literature เสร็จ เราก็จะสร้าง library ได้ หรือเมื่อวิจัย steam power เสร็จ เราก็จะสร้าง railroad ได้ หรือเมื่อวิจัย music theory เสร็จ เราก็จะสร้าง Bachs' Cathedral ได้ เป็นต้น

อ้อ ลืมบอกไปครับว่าเกมนี้เป็น turn-based strategy คือเล่นแบบทีละเทิร์นๆไปเรื่อยๆ พอเราเล่นจบหนึ่งเทิร์น AI ที่ควบคุมอารยธรรมอื่นๆก็จะเล่นเทิร์นนึง ลักษณะแบบนี้ทำให้เราไม่ต้องเร่งแข่งกับเวลาครับ ค่อยๆคิดไปได้ในแต่ละเทิร์น ไม่เหมือนเกมอย่าง starcraft ที่ไม่มีเทิร์น เล่นไปเรื่อยๆ ต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอด

เมืองแต่ละเมืองจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามอย่างครับ อย่างแรกคืออาหาร (food) อย่างที่สองคือ shields อย่างที่สามคือการค้า (commerce)

food เป็นตัวกำหนดว่าเมืองแต่ละเมืองจะโตเร็ว (ประชากรเพิ่มขึ้นเร็ว) แค่ไหน ส่วน shields นั้นเป็นเสมือนวัตถุดิบในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถ้าเมืองไหนมี shields เยอะก็จะสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆได้เร็ว ส่วน commerce ก็คือเงินรายได้ของเมือง ถ้ามีเงินเยอะก็สามารถใช้เงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับอารยธรรมอื่นๆได้ และก็สามารถใช้เงินเพื่อสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีได้

พื้นที่ที่เมืองของเราตั้งอยู่ก็ไม่ได้เหมือนกันทุกที่นะครับ บางที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ (ก็จะมีอาหารหรือ foodเยอะ) บางที่เป็นเนินเขา (ก็จะมี shields เยอะ) บางที่เป็นป่า เป็นทะเลทราย เป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแม้แต่ภูเขาไฟ

นอกจากนี้ เรายังต้องพยายามแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ที่จะปรากฎบนแผนที่ ทรัพยากรที่ว่านี้ก็สำคัญต่อเกมมาก ทรัพยากรบางอย่างเราต้องมีเพื่อผลิตยูนิต (เช่น การสร้าง swordman ต้องใช้ทรัพยากร iron, การสร้าง battleship ต้องใช้ oil) บางอย่างเป็น luxury resource คือทำให้ประชากรในประเทศของเรามีความสุข (ถ้าเราดูแลอาณาจักรของเราไม่ดี คนก็จะไม่ happy อาจทำให้เกิด civil disorder ได้)

ผมชอบ CIV เพราะมันทำให้เราได้คิดวางแผนบริหารบ้านเมืองภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะสร้างอะไรก่อน สมมติเราเลือกสร้าง temple มันก็จะมี trade-off คือเราจะไม่ได้สร้างทหารในเทิร์นนั้น บางครั้งเราก็ต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น สมมติในอาณาเขตเราไม่มีทรัพยากรสำคัญเช่นน้ำมัน เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี จะพยายาม trade กับประเทศอื่น (ซึ่งจะทำให้เรา dependent on that country) หรือจะก่อสงครามบุกประเทศที่มีน้ำมันดี เกมทั้งเกม (540 turns) ก็จะดำเนินไปแบบนี้เรื่อยๆครับ จนกว่าจะมีผู้ชนะ

วิธีการที่จะได้รับชัยชนะชั้นมีหลายวิธีครับ สำหรับคนที่ชอบรบ ชอบทำสงคราม อาจจะชนะแบบ domination หมายถึงอารยธรรมของเราครอบครองพื้นที่ 66% ของโลกและครอบครองประชากร 66% ของประชากรโลก หรือไม่ก็อาจจะชนะแบบ conquest คือกำจัดทุกประเทศให้หมดไป ถ้าใครชอบสันติภาพก็สามารถชนะแบบสันติวิธี คือชนะแบบ Culture หรือวัฒนธรรม การชนะแบบนี้เราจะต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีวัฒนธรรมสูงไว้ในเมืองเยอะๆ (สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้จะผลิตคะแนนวัฒนธรรมทุกๆเทิร์น) หรืออาจจะชนะแบบ Diplomacy หรือการทูต โดยเราจะต้องได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของทุกประเทศให้เป็นผู้นำของสหประชาชาติ (UN) และท้ายที่สุด เราสามารถชนะด้วยวิธี Space Race นั่นคือประเทศที่วิจัยเทคโนโลยีต่างๆได้เร็วจนสามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปได้เป็นชาติแรก

ถ้าเกมดำเนินไปจนถึงปี 2050 โดยไม่มีผู้ชนะด้วยวิธีการใดๆเลย อารยธรรมที่มีคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งคะแนนนี้จะคำนวณจาก power และ culture ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งอารยธรรมเป็นต้นมาครับ

เหตุผลหลักที่ผมติดเกมนี้จนงอมแงมคงเป็นเพราะว่า เกมนี้มันเหมือนกับแบบจำลองของโลกความจริงในหลายแง่มุมครับ ถึงแม้จะไม่ได้เหมือนไปเสียทุกมุม แต่เวลาเล่นเกม CIV แล้ว มันทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้นำประเทศทั้งหลายมากขึ้น ว่ามันต้องมองภาพกว้างภาพรวมให้ออก ต้องคิดและเลือกจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ประเทศเราเดินไป (เราจะเน้นพัฒนาเทคโนโลยี หรือเน้นสร้างกองทัพแข็งแกร่งเพื่อขยายอาณาเขต หรือเน้นสร้างวัฒนธรรม) โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ แล้วจึงวางยุทธศาสตร์และใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น อีกทั้งยังต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เกิดความผาสุกไปทั่วทั้งอาณาจักร

เราเล่นไปมากๆก็ไม่เบื่อนะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่าแต่ละอารยธรรมจะมีลักษณะพิเศษ (traits) ที่แตกต่างกัน ถ้าเราเล่น Egypt (Religious and Industrious) จบเกมนึง เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเล่น Germany (Militaristic and Scientific) เพราะอย่าลืมครับ ว่า trait แต่ละแบบนั้นให้ประโยชน์กับอารยธรรมแตกต่างกันไป เช่น Religious ทำให้เราสร้าง temple, cathedral ได้เร็วขึ้น Scientific จะให้เทคโนโลยีบางอันแก่เราโดยไม่ต้องเสียเวลาวิจัย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นลักษณะของเกม CIV แบบคร่าวๆนะครับ ถ้าใครชอบเล่นเกมสไตล์ strategy แล้วละก็ ผมว่าพลาดเกมนี้ไม่ได้เลยนะครับ ผมว่ารูปแบบเกมมันไม่ซ้ำกับเกมอื่นๆเลยครับ เล่นแล้วได้ใช้สมองแบบสนุกๆ ได้ความบันเทิง และได้มุมมองใหม่ๆด้วยครับ ลองหาซื้อดูได้ครับ CIV III + Conquests Expansion Pack ครับ และถ้าเล่นแล้วติดใจ ปลายปีนี้ เราก็จะได้พบกับภาคใหม่นั่นก็คือ CIV IV ครับ

ผมขอตัวไปเล่น CIV ก่อนนะครับ


Monday, May 16, 2005

เรื่องของไก่(เดือยทอง)

และแล้ว... พรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ก็รูดม่านปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

พลพรรคสิงโตน้ำเงินครามก็ประกาศความยิ่งใหญ่ให้พวกเราได้ประจักษ์กันทั่วหน้า เมื่อพวกเขาผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์ไปครองได้แบบสบายๆ ทำคะแนนทิ้งไอ้ปืนใหญ่ 12 แต้ม ทิ้งผีแดง 18 แต้ม ทิ้งหงส์แดงถึง 37 แต้มแบบไม่เห็นฝุ่น

ส่วนทางด้านท้ายตาราง เวสต์บรอมฯ ก็โชว์ผลงานคัมแบ๊กหนีตายได้อย่างหวุดหวิด ชนิดที่ต้องลุ้นกันถึงนัดสุดท้าย ปล่อยให้พาเลซ, นอริช และทีมที่อยู่ยงคงกระพันในลีกสูงสุดมานานกว่า 27 ปีอย่างเซาแธมป์ตันต้องตกชั้นไป

อย่างนี้แหละครับเค้าถึงพูดกันว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอน

เมื่อฤดูกาลจบลง เดี๋ยวเราก็คงได้เห็นหลายต่อหลายคนผลิตบทวิเคราะห์ว่าด้วยความสำเร็จของเชลซี และความล้มเหลวของทีมดังอื่นๆ มาให้ได้อ่านกันมากมายเป็นแน่

ผมในฐานะสาวกไก่เดือยทอง จึงขอแหวกแนวเขียนถึงทีมสุดรักเสียบ้าง ทุกท่านจะได้เปลี่ยนบรรยากาศไปในตัวด้วย

ที่สำคัญ ผมยังมองว่าการเขียนเรื่องเกี่ยวกับสเปอร์สนั้น เป็น Pareto improvement ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย ถ้าเขียนเรื่องเชลซี แฟนผี, แฟนปืน และแฟนหงส์ (premiership-wise) คงจะไม่สบอารมณ์เป็นแน่แท้ ส่วนถ้าเขียนเรื่องของทีมที่พลาดแชมป์ แฟนๆของทีมนั้นก็คงไม่สบอารมณ์อีกเช่นกัน เพราะเหมือนถูกตอกย้ำความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟอร์มไม่ได้เรื่อง ไม่คงเส้นคงวา ไม่ได้ลุ้นเลย ฯลฯ

เอ... นี่ผมทำให้แฟนผี แฟนหงส์ไม่สบอารมณ์หรือเปล่าครับ? จริงๆ ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องสเปอร์สนะครับ แต่ว่ามันก็ต้องมีเกริ่นถึงภาพรวมกันเสียก่อน ก็เลยต้องเขียนเกริ่นก่อนว่าเชลซีเป็นแชมป์แบบทิ้งขาด ปืน ผี หงส์พลาดแชมป์หมด แทบไม่ได้ลุ้น ฯลฯ

โอเคครับๆ เกริ่นพอแล้ว เข้าเรื่องไก่ๆกันเลยดีกว่าครับ...


.....................................

ก่อนจะไปพูดถึงผลงานของสเปอร์สในปัจจุบัน ผมขอเล่าประวัติความเป็นมาของผมกับสเปอร์สให้ฟังคร่าวๆ ก่อนนะครับ

ผมเป็นแฟนสเปอร์สครั้งแรกก็นู่นแหละครับ ย้อนกลับไปพรีเมียร์ฤดูแรก 92-93

ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 8-9 ขวบได้ แต่ก็เริ่มดูบอลอังกฤษแล้วครับ จำได้ว่าช่องเจ็ดสีถ่ายทอดให้ดูกันสดๆ (ถ้าจำไม่ผิด สมัยนั้นละครหลังข่าวไม่ยาวขนาดเท่าทุกวันนี้ จึงได้ดูบอลกันสดๆ)

ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมผมถึงเลือกเชียร์สเปอร์ส... ฤดูนั้นสเปอร์สก็เล่นใช้ได้ อยู่ครึ่งบนของตาราง แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่ากับแมนฯยูฯ วิลล่า และนอริช ไม่รู้ทำไมผมถึงเลือกสเปอร์สนะครับ สงสัยเสื้อสวยดี (สีขาว... สวยตรงไหนวะ!?)

ฤดูถัดๆมา ผมก็เริ่มเชียร์อย่างจริงจัง สมัยนั้นสเปอร์สมีเท็ดดี้ เชอริงแฮม, นิก บาร์มบี้, ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน ตอนนั้นพวกนี้กำลัง peak เลยครับ

ต่อมาก็มี Klinnsmann (ไม่รู้สะกดถูกรึเปล่า) แล้วก็มีศิลปินลูกหนังอย่าง David Ginola...

ผมประทับใจนักเตะทั้งสองนี้มาก ตอนเลือกนามแฝงให้บล็อกนี้ ผมก็คิดอยู่ตั้งนานว่าจะเอาชื่อใครดี เพราะทั้งสองคนต่างก็เป็น superstar ที่แฟนไก่รักและยกย่องอย่างมาก

ผมก็ตามเชียร์ไก่เดือยทองมาฤดูแล้วฤดูเล่า ไก่ตัวนี้ก็ไม่เคยจะประสบความสำเร็จอย่างจริงๆจังๆเสียที อันดับในพรีเมียร์ที่ดีที่สุดคือที่ 7 ครับ แถมมีฤดูกาลนึงต้องหนีตกชั้นแบบลุ้นกันเหนื่อยเลย (ฤดูนั้นคลิ้นส์มันน์ย้ายกลับมาช่วยไก่ไว้ช่วงกลาง-ปลายฤดูครับ)

ความสำเร็จสูงสุดของสเปอร์สในรอบสิบกว่าปีมานี้ก็คือ แชมป์ลีกคัพ (รู้สึกจะปี 98 หรือ 99 นี่แหละครับ)

ถึงแม้จะพยายามเปลี่ยนผู้จัดการทีมหลายต่อหลายครั้ง ดึงตัวผู้จัดการทีมดังๆ มาทำงานหลายคน (เช่น จอร์จ เกรแฮม, เกล็น ฮ็อดเดิล) ทีมก็ยังห่างเหินกับความสำเร็จ และห่างเหินจากเวทียุโรปมานานแสนนาน...

.....................................

มาถึงช่วงก่อนเปิดฤดูกาลนี้ สาวกไก่ทั้งหลายต่างก็ตั้งความหวังไว้อย่างสูง (เหมือนเช่นฤดูกาลอื่นๆที่ผ่านมา) หวังไว้ว่าปีนี้จะเป็นปีทองของสเปอร์สเสียที ปีนี้จะได้เห็นไก่เดือยทองสยายปีกโก่งขันอย่างสง่าผ่าเผยเสียที

ช่วงพักฤดูกาล ระหว่างการแข่งขันยูโร 2004 ที่โปรตุเกสนั้น สเปอร์สได้ประกาศแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่ คือ Jacques Santini ซึ่งตอนนั้นคุมฝรั่งเศสลุยศึกยูโรอยู่

สาวกไก่ต่างก็ยิ่งเพิ่มความหวังให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

พอเริ่มเปิดฤดูจริงๆ ช่วงแรกฟอร์มของสเปอร์สก็ใช้ได้ทีเดียว รู้สึกว่าจะขึ้นไปยึดจ่าฝูงในช่วง 4-5 นัดแรกได้ด้วย แต่พอเตะไปอีกสักพัก สาวกไก่ก็ต้องเผชิญกับข่าวที่ไม่มีใครคาดคิด

Santini ลาออกจากตำแหน่งผจก.ทีม! หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้อง เขาถูก "บีบ" ให้ลาออกต่างหาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่เขาไม่สามารถยอมรับนโยบายการซื้อนักเตะของทีม ซึ่งให้อำนาจการตัดสินใจสูงสุดไว้ที่ Frank Arnesen ผู้เป็น Sporting Diretor แทนที่จะให้อำนาจกับผจก.ทีม

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผมและสาวกไก่ทั้งหลายก็งงงวยตะลึงงันกันไปพักใหญ่ ความฝันที่พวกเราวาดไว้ถูกบั่นทอนลงจากการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันนี้

ต่อมาไม่นาน สโมสรก็ได้ประกาศตัวผจก.ทีมคนใหม่ บุรุษผู้นั้นก็คือ... Martin Jol!?!?

หลังจากทราบข่าว ความคิดแรกที่ผ่านเข้ามาในหัวสมองผมก็คือ ใครคือนาย Martin Jol ผู้นี้? เขาคือใคร? มาจากไหน? เกิดมาไม่เคยได้ยินชื่อเลยครับ นามสกุลออกเสียงยังไงก็ไม่รู้

พอต่อมาได้อ่านประวัติการทำงานของนายโยลดู ก็พบว่าใช้ได้พอตัวทีเดียว เพียงแต่อาจจะขาดประสบการณ์การทำทีมใหญ่ๆ (แต่จะว่าไปแล้ว สเปอร์สก็ไม่ได้เป็นทีมใหญ่ขนาดนั้น)

ผลงานของโยลช่วงแรกๆ เป็นไปแบบสามสัปดาห์ดีสี่สัปดาห์ไข้ครับ ชนะติดกัน 3-4 นัด แล้วก็แพ้ติดกัน 3-4 นัด สลับกันไปช่วงหนึ่ง

แต่ผมก็แทบไม่ได้ดูผลงานของสเปอร์สทางหน้าจอเลยครับ เพราะมาแลกเปลี่ยนที่อเมริกาเลยไม่มีให้ดู ต้องติดตามข่าวทางเว็บไซต์แล้วก็คอยถามเพื่อนๆที่มันได้ดูที่เมืองไทยว่าฟอร์มของสเปอร์สเป็นยังไงบ้าง

สเปอร์สก็เกาะกลุ่มกลางตารางมาเรื่อยๆ ครับ จนถึงช่วงหน้าต่างซื้อขายนักเตะเปิดตอนเดือนมกราคม สเปอร์สเป็นหนึ่งในทีมที่ซื้อนักเตะเสริมทีมเข้ามามากที่สุด แต่ว่านโยบายการซื้อนักเตะของ Arnesen กับ Jol นั้น ไม่เน้นซื้อพวกดาราดังราคาแพงครับ ทุกคนที่ซื้อเข้ามาเป็นนักเตะดาวรุ่งทั้งนั้น อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมทั้งนั้นเลยครับ เรียกว่าซื้อมาไม่แพงหวังปั้นให้เก่ง ตัวที่แพงๆ หน่อยก็คือ Andy Reid กับ Michael Dawson สองดาวรุ่งจาก Forest ส่วนคนอื่นก็มี Mido, Ziegler แล้วก็พวกที่ซื้อมาเป็น reserve อีกสองสามตัว

นอกจากนี้ สาวกไก่ยังได้เห็นนักเตะเยาวชนของทีมหลายคนที่มีโอกาสก้าวขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่อย่างเต็มตัว เช่น Dean Marney, Stephen Kelly, Philip Ifil เป็นต้น

ช่วงปีใหม่มีการแข่งขันนัดหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บใจ ขุ่นเคือง และเสียดายที่สุดครับ นัดนั้นสเปอร์สบุกไปเยือนผีแดงถึงถิ่น สถิติรอบสิบกว่าปีมานี้ สเปอร์สไม่เคยบุกไปชนะผีแดงในบ้านได้เลยครับ แต่ปีนี้สเปอร์สเล่นดีกว่าปีก่อนๆครับ สกอร์ตอนจบเกมออกมาเจ๊ากัน 0-0 ชนิดที่ผมและสาวกไก่เจ็บใจที่ซู้ดดด

เพราะอะไรนะหรือครับ? ก็เพราะผู้ช่วยผู้ตัดสินคนนั้นน่ะสิครับ เขาบอกว่าลูกยิงไกลของ Pedro Mendes ไม่ข้ามเส้นประตู ทั้งๆที่มันข้ามเส้นไปแล้วแบบชัดยิ่งกว่าชัด! (อันนี้ผมไม่ได้ดูเองหรอกนะครับ แต่เพื่อนๆทุกคนที่ผมถาม รวมทั้งแฟนผีเอง ก็บอกว่ามันเข้าไปแล้วแน่นอน)

เซ็งเลยครับ... โดนปล้นชัยชนะไปแบบน่าเจ็บใจและน่าเสียดายเหลือเกิน...

นัดต่อๆมาผมก็ติดตามข่าวมาตลอด ถามเพื่อนๆที่เมืองไทยต่างก็บอกว่าสเปอร์สเล่นดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ไม่มีแพ้แบบเละเทะแล้ว กองหน้าได้ Mido มาเสริมความแข็งแกร่งและลูกกลางอากาศ ประสานพลังทำประตูร่วมกับ Defoe, Keane และ Kanoute

กองกลางด้านข้างได้ Andy Reid มากระชากลากเลื้อย ทำให้เกมริมเส้นเจ๋งขึ้นเยอะ ตรงกลางนั้น Michael Carrick ก็พัฒนาฝีเท้าขึ้นมาก บวกกับตัวเสริมคนอื่นๆ อย่าง Mendes, Brown, Davies, Zeigler, Marney, Davis (รายหลังนี่เจ็บบ่อย)

กองหลังมี Ledley King จับคู่กับ Naybet พร้อมตัวแทนอย่าง Dawson และแบ๊กอย่าง Edman, Atouba, Kelly, Ifil, Pamarot ก็นับว่าใช้ได้ทีเดียว

สเปอร์สจึงโชว์ผลงานได้ค่อนข้างดีมาเรื่อยๆ

จนมาถึงช่วงปลายฤดูกาล สเปอร์สมีลุ้นไปเตะยูฟ่าคัพ ต้องลุ้นกันจนเหลือสองนัดสุดท้าย สเปอร์สอยู่ที่ 7 ซึ่งเป็นโควตาทีมสุดท้ายที่จะได้ไปเล่นยูฟ่าคัพ มีคะแนนเท่ากับโบโร่ แต่ประตูได้เสียดีกว่าหนึ่งลูก

เหมือนชะตาได้ลิขิตไว้แล้ว... นัดที่ 37 สเปอร์สกับโบโร่ต้องโคจรมาพบกันที่ริเวอร์ไซด์สเตเดียมครับ! ตัวผมก็ตั้งความหวังไว้เต็มที่ ขอยันเสมอให้ได้ แล้วนัดสุดท้ายไปอัดแบล็กเบิร์นในบ้าน ก็จะได้ไปโลดแล่นในยุโรปแล้ว

ผลออกมาปรากฎว่า โบโร่เล่นดีกว่าและเชือดคอไก่ไป 1-0...

ผลการแข่งขันออกมาเช่นนี้ ทำให้สเปอร์สแทบจะหมดลุ้นไปยุโรปเลยครับ เพราะนัดสุดท้ายต้องลุ้นให้แมนฯซิติ้ฯชนะโบโร่แค่ลูกเดียว (ซิตี้ก็มีลุ้นไปยุโรปเหมือนกัน) แล้วสเปอร์สก็ต้องชนะแบล็คเบิร์นโดยต้องยิงให้เยอะกว่าซิตี้ 2 ลูก

เรียกว่าความน่าจะเป็นแทบจะเป็นศูนย์ครับ

และแล้วผลนัดสุดท้ายก็ออกมา ซิตี้เสมอโบโร่ 1-1 ส่วนสเปอร์สก็ทำอะไรแบล็คเบิร์นไม่ได้ (เพราะคงไม่ค่อยมีความหวังกันสักเท่าไหร่) เจ๊ากันไปแบบโนสกอร์ ส่งผลให้โบโร่ได้เข้าไปเล่นในยุโรปเป็นทีมสุดท้ายครับ

เฮ้อ... จบลงไปอีกฤดูแล้วครับ และสเปอร์สของผมก็ยังไม่สามารถติดโควตาเข้าไปเล่นในยุโรปได้

.....................................

ถ้าถามผมว่ารู้สึกยังไงกับผลงานของสเปอร์สในฤดูกาลที่เพิ่งจะผ่านไป ผมคงต้องบอกว่า มันเป็น mixed feelings ครับ

ในแง่หนึ่ง ก็ผิดหวังแน่นอนครับที่ทีมรักไม่สามารถฉกฉวยโอกาสทำอันดับไปเล่นบอลยุโรปได้ดั่งหวัง รู้สึกเซ็งและเสียดายสองคะแนนที่หายไปจากนัดที่เสมอแมนฯยูฯ ถ้าได้สองคะแนนนั้นมา นัดสุดท้ายคงเล่นอย่างตั้งใจและน่าจะเก็บแบล็คเบิร์นได้ไม่ยาก

แต่อีกแง่หนึ่ง ผมก็รู้สึกมีความหวัง (แบบจริงๆจังๆ ไม่ลมๆแล้งๆ) ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่ Arnesen และ Jol ได้นำเข้ามาสู่ไวท์ฮาร์ทเลน สองคนนี้ดูเป็นมืออาชีพมาก ผมชอบที่พวกเขาให้โอกาสนักเตะดาวรุ่ง และเลือกซื้อนักเตะอย่างชาญฉลาด เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง

อีกทั้งสไตล์การทำงานของโยลก็ดูจะได้ผลดี ดูจากข่าวที่ออกมา บรรยากาศภายในสโมสรดูดีมากๆ

ผมมองเห็นอนาคตอันสดใสที่ไวท์ฮาร์ทเลนนี้จริงๆนะครับ มันเป็นความหวังที่ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่หวังแบบไม่ค่อยมีหลักฐานและเหตุผลมาแบ็กอัพ ความหวังครั้งนี้ผมมั่นใจว่ามันเป็นของจริงแน่นอน

ผมขอทำนายไว้เลยครับ อีกภายในสองฤดูกาล สเปอร์สจะได้ไปเล่นบอลยุโรปอย่างแน่นอน

และอีกภายในห้าปี สเปอร์สจะผงาดมาเป็นทีมระดับท็อปไฟว์ของเกาะอังกฤษ มีโอกาสลุ้นไปเล่น UCL อย่างแน่นอนครับ

ผมมั่นใจมากครับ... มั่นใจไม่น้อยไปกว่าท่านผู้นำของเราที่ได้เคยประกาศไว้อย่างเสียงดังฟังชัดว่า "อีกหกปีจะไม่มีคนจนในเมืองไทย" เลยครับ!

ป.ล. ไม่ทราบว่าเคยสังเกตกันบ้างไหมครับ ว่าจริงๆ แล้วตราสโมสรของสเปอร์สที่เป็นรูปไก่นั้น ไก่มันไม่ได้มีเดือยสีทองแต่อย่างใดครับ แล้วเหตุไฉนสเปอร์สจึงได้มีฉายาว่า "ไก่เดือยทอง" ล่ะครับ? คำตอบก็คือ ตราสัญลักษณ์ไก่แบบเก่าของสเปอร์ส (ซึงเพิ่งถูกเปลี่ยนไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้) มีเดือยสีทองก็เท่านั้นเองครับ