Tuesday, January 31, 2006

Book Review - "ชีวิตภาคทฤษฎี"

หลังจากหายหน้าหายตาไปนานมากๆ ผมขอกลับมารายงานตัวอีกครั้งด้วยงาน book review ชิ้นแรกในชีวิต (จริงๆแล้วงานนี้เขียนเพื่อลงในหนังสือรุ่น BE 10)

กลับมาครั้งนี้ผมเองก็ยังไม่รู้ตัวเองเหมือนกันครับว่าจะเขียนบล็อกอย่างต่อเนื่องหรือเปล่า เพราะห่างเหินไปนาน พอกลับมาเขียนรู้สึกว่ามันจะไม่ 'flow' เหมือนแต่ก่อน แถมช่วงนี้ต้องให้เวลากับตัวเองเพื่อคิดถึงอนาคตข้างหน้าว่าเรียนจบแล้วจะก้าวเดินไปในเส้นทางใดต่อไป

หวังว่าจะไม่สายเกินไปหากจะขอกล่าวว่า สวัสดีปีใหม่ทั้งแบบไทยและจีนนะครับ

........................

Book Review - "ชีวิตภาคทฤษฎี" (โดย วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล)

ทุกวันนี้ หากคุณต้องการหางานเขียนแนววิพากษ์สังคมที่ดีๆอ่าน ก็คงจะหาอ่านได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะมีนักคิดนักเขียนเก่งๆหลายท่านที่ผลิตงานทำนองนี้ออกมาอยู่เป็นประจำ

แต่ถ้าจะหานักคิดนักเขียนรุ่นใหม่สักคนที่อายุเพิ่งจะขึ้นเลขสองได้ไม่นานแต่มีความคิดความอ่านเกินวัย สามารถวิพากษ์สังคมรอบตัวได้อย่างเข้มข้นและเร้าใจแล้ว ดูเหมือนว่าจะหายากเสียเหลือเกิน

“สิงห์” วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ลูกชายคนที่สองของอาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล และจิระนันท์ พิตรปรีชา คือหนึ่งในกลุ่มนักคิดนักเขียนรุ่นใหม่ที่หาได้ยากกลุ่มนั้น

“ชีวิตภาคทฤษฎี” หรือ “Theory of Life” คือหนังสือรวมเล่มบทความเล่มแรกของสิงห์ ผมเองเป็นรุ่นพี่ร่วมคณะที่มิได้สนิทสนมกับสิงห์มากมายอะไร แต่ผมกลับได้ทำความรู้จักกับตัวตนของเขาผ่านงานเขียนในหนังสือเล่มนี้

งานเขียนของสิงห์น่าสนใจและมีพลังดึงดูดคนอ่านอยู่มากพอตัว เพราะงานของเขามีพื้นฐานมาจากการสังเกต การตั้งคำถาม และการค้นหาคำตอบต่างๆนานาของปริศนาที่สลับซับซ้อนที่เรียกว่า “ชีวิต”

“...ว่างๆ ผมก็ไปเดินที่สยามฯ ผมเฝ้ามอง... นานๆครั้งผมก็เจอสิ่งที่ผมสงสัย ไม่เข้าใจ หรือไม่เห็นด้วย
ผมจึงตั้งคำถาม... ว่างๆ ผมก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับคำถามเหล่านั้น...”

สิงห์เขียนหนังสือด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา คิดอย่างไรก็เขียนออกมาอย่างนั้น อ่านแล้วจึงรู้สึกสนุก เป็นกันเอง และไม่เบื่อ เขาถ่ายทอดความคิดผ่านตัวหนังสือได้ “เนียน” และ “กลมกล่อม” อีกทั้งสไตล์การเขียนของเขาก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร

ที่สำคัญ สไตล์การเขียนที่เป็นตัวของตัวเองนี้มาพร้อมกับ “เนื้อหา” ของงานที่โดดเด่น เข้มข้น กระตุกต่อมความคิด และกระชากความรู้สึกของคนอ่านได้เสมอ

เขามักจะตั้งคำถามง่ายๆแต่น่าสนใจ เช่น ทำไมคนเราต้องมีเงิน? ทำไม “โฆษณา” จึงเต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด? สิทธิเสรีภาพคืออะไรและเอาไว้ใช้ทำอะไร? เด็กแนวคืออะไรและมาจากไหน? ฯลฯ

เขามักนำเหตุการณ์จริงที่ได้พบเจอมาในชีวิตมาขบคิดถึง “เหตุและผล” ของเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างลึกซึ้งถึงแก่น แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านงานเขียนได้อย่างน่าประทับใจและให้ข้อคิดที่ดีแก่ผู้อ่าน

เขาวิพากษ์วัฒนธรรมบริโภคนิยมในระบบทุนนิยมได้อย่างสนุกเข้มข้น โดยมีตัวอย่างจากชีวิตจริงของเขาประกอบเสมอ อ่านงานของเขาแล้วรู้สึกว่า เขามีประสบการณ์เผชิญกับโลกมามากกว่าเด็ก (ในเมือง) ส่วนใหญ่ในวัยเดียวกันยิ่งนัก และคงไม่เป็นการเกินเลยไปหากจะกล่าวว่า เขามีประสบการณ์ผ่านโลกมามากกว่ารุ่นพี่อย่างผมเสียอีก

อ่านหนังสือของเขาจบแล้ว ผมอาจไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งที่เขาเขียน แต่ผมรู้สึกหัวใจพองโตยิ่งนัก พองโตเพราะงานเขียนของเขาได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างแรงกล้าของเขาที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆให้เกิดขึ้นแก่สังคมนี้ สังคมที่นับวันผู้คนยิ่งเห็นแก่ตัวและนับถือวัตถุมากกว่าคุณธรรมยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ยิ่งเมื่อได้อ่านบันทึกประสบการณ์การเป็นผู้นำค่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิที่พังงาของสิงห์ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผมเชื่อมั่นว่า งานเขียนของเขามีพลังมากเกินพอที่จะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่คนอื่นๆในสังคมไทย และกระตุ้นจิตสำนึกทางสังคมของคนรุ่นใหม่เหล่านี้ ให้พวกเขารู้จักคิดถึงผู้อื่นและคิดที่จะทำอะไรดีๆเพื่อตอบแทนสังคมที่ตัวเองเติบโตขึ้นมามากขึ้น ไม่ใช่เอาแต่หมกวุ่นคิดถึงแต่เรื่องหาความสุขให้ตัวเองเพียงฝ่ายเดียว

เหมือนที่สิงห์ได้เขียนไว้ใน “ชีวิตภาคทฤษฎี” ตอนบันทึกจากพังงา (ฉบับสุดท้าย) ว่า

“...ทุกๆคนมีคุณค่า คุณค่าที่ได้มาจาการ “กรำ” งานร่วมกับเพื่อนฝูง มีคุณค่ากับสังคม มีคุณค่ากับคนรอบข้าง และที่สำคัญที่สุด ตระหนักได้ถึงคุณค่าของตัวเอง ตระหนักได้ว่าเราไม่ได้เกิดมาเป็นเพียงแค่ตัวหมากที่ต้องเดินไปตามเกมที่สังคมวางไว้ เกิดมาเพียงแค่เพื่อเรียนหนังสือ กินข้าว โตมาไปทำงาน แต่งงาน มีลูก และท้ายสุดก็ตายจากไปพร้อมกับทุกๆสิ่งที่ไขว่คว้าหามาได้ในระหว่างที่มีชีวิต...

...จริงๆแล้ว สิ่งที่พวกเราสร้างขึ้นภายในระยะเวลาสิบวัน (ที่พังงา) นี้มันไม่ได้สำคัญอะไรเลย หากแต่เป็นหนทางที่พวกเราเลือกจะเดินในชีวิตที่เหลืออยู่ต่างหากที่สำคัญที่สุด เพราะนั่นหมายถึงระยะเวลายาวนานเป็นสิบๆปีที่รออยู่ข้างหน้า...

...เราจะเลือกเป็นผู้ให้เมื่อสามารถทำได้หรือไม่ เราจะเสียสละเวลาที่ได้รับมาสำหรับกอบโกยเพื่อสิ่งอื่นได้ไหม ...”

คำตอบของสิงห์...คุณคงรู้แล้ว
แล้วคำตอบของคุณล่ะ เป็นเช่นไร?