Friday, May 27, 2005

Jeffrey Sachs กับ The End of Poverty (2) : The Extreme Poor and the Poverty Trap


ก่อนอื่นคงต้องขอนอกเรื่องเล็กน้อยด้วยการแสดงยินดีกับแฟนๆหงส์แดงทุกคนด้วย ผมโดดเรียนมานั่งดูสดๆ ถึงแม้ผมจะไม่ใช่แฟนหงส์ แต่ก็เชียร์ลิเวอร์พูลเต็มที่ ตอนที่อลอนโซ่ตีเสมอได้สำเร็จนี่มันอารมณ์มันถึงขีดสุดๆจริงๆนะครับ

ต้องชมเชยหัวจิตหัวใจนักสู้ของนักเตะลิเวอร์พูลทุกคนที่ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ แต่ถ้าจะให้เลือกแมนออฟเดอะแมทช์คนเดียว ผมคงต้องเลือกดูเด็คนั่นแหละครับ เพราะทั้งซูเปอร์เซฟลูกยิงเชฟเชนโกช่วงต่อเวลา แล้วก็มาเต้นแร้งเต้นกา (เลียนแบบบรู๊ซ กรอบเบลล่าตอนปี 1984) จนเซฟจุดโทษได้อีกสองลูก!

เอาแหละครับ กลับมาเข้าเรื่องกันต่อดีกว่า

ผมได้เกริ่นไว้ในตอนแรกว่า เป้าหมายของ Jeffrey Sachs ที่เขาเขียนไว้ใน The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time นั้น คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025

ก่อนที่ผมจะเขียนถึงข้อเสนอของ Sachs ต่อไปนั้น ผมคิดว่าเราควรจะต้องทำความเข้าใจเสียก่อนว่า คนยากจนที่ยากจนที่สุด (the extreme poor หรือ the poorest of the poor) ที่เขาต้องการจะช่วยเหลือนั้นเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร และทำไมพวกเขาถึงยากจน

เราสามารถใช้ระดับรายได้หรือฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ในการแบ่งประชากรโลก (ซึ่งมีประมาณ 6 พันล้านคน) ออกได้เป็นสี่กลุ่มใหญ่ๆ

กลุ่มแรกคือ คนยากจนที่สุด (extreme poor or the poorest of the poor) คนจนในกลุ่มนี้เป็นคนที่ต้องต่อสู้ดิ้นรนทุกวันเพื่อความอยู่รอด พวกเขาแทบไม่มีรายได้เลย (น้อยกว่า $1 ต่อวัน) พวกเขาขาดแคลนปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการดำรงชีพ คือ ขาดแคลนอาหาร ขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาด ขาดแคลนที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขอนามัย ขาดแคลนยารักษาโรค ต้องเผชิญกับโรคร้ายต่างๆโดยไม่มีเงินจะรักษา พวกเขามีอายุเฉลี่ยเพียง 40-50 กว่าปีเท่านั้น คนจนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรที่ปลูกพืชเพื่อยังชีพ ไม่มีผลผลิตเหลือพอที่จะขายได้ หรือถึงแม้จะมีผลผลิตเหลือก็ไม่สามารถเข้าถึงตลาดได้ (อาจเป็นเพราะตลาดอยู่ไกลเกินกว่าที่พวกเขาจะเดินทางไปถึงก่อนที่ผลผลิตจะเน่าเสียก่อน)

ชีวิตของคนกลุ่มนี้จึงต้องเผชิญกับความยากลำบาก ความทุกข์ และความตายอยู่ตลอดเวลา ประชากรโลกประมาณ 1.1 พันล้านคนจัดอยู่ในกลุ่มคนยากจนที่สุดนี้ โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชียใต้ คนจนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ Sachs ต้องการจะช่วยเหลือครับ

กลุ่มที่สองคือ คนยากจน (the poor or the moderate poor) ถึงคนจนกลุ่มนี้จะมีรายได้น้อย ($1 - $2 ต่อวัน) แต่พวกเขาก็ไม่ต้องเผชิญกับการดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างทรมานทุกๆวันเหมือนคนจนกลุ่มแรก คนจนกลุ่มที่สองนี้พอมีอาหารกิน มีปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพอยู่บ้าง แต่ก็ต้องต่อสู้อย่างเหน็ดเหนื่อยเพื่อหาเงินมาซื้อปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นเหล่านี้ คนจนเหล่านี้มักจะมีหนี้สินมาก เพราะบางครั้งต้องไปกู้ยืมมาใช้จ่ายในช่วงที่รายได้ลดลง (consumption smoothing)


คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 1.5 พันล้านคนในโลก มีทั้งกลุ่มที่อาศัยอยู่ในชนบทและในเมืองใหญ่ต่างๆ คนจนในเมืองไทยส่วนใหญ่ก็จัดอยู่ในกลุ่ม moderate poor นี้เองครับ ถ้ารวมคนจนทั้งหมดกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองก็จะได้ประมาณ 2.5 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรโลก

กลุ่มที่สามคือ คนมีรายได้ระดับกลาง (middle-income) คนเหล่านี้ก็คือคนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา อาจจะแบ่งย่อยออกเป็น higher-middle กับ lower-middle income ก็ได้ คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมือง คนเหล่านี้ไม่มีปัญหาเรื่องปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ มีอาหารการกินดี และมีโอกาสทางการศึกษา คนกลุ่มนี้มีอยู่ประมาณ 2.5 พันล้านคน ซึ่งก็รวมไปถึงคนชั้นกลางในเมืองไทยด้วยครับ

กลุ่มสุดท้ายคือ คนรวย (the rich or high-income) คนกลุ่มนี้คงทราบกันดีนะครับ มีชีวิตที่สุขสบาย รายได้เกินพอในการดำรงชีวิต ส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ก็มีไม่น้อยที่เป็นเศรษฐีอยู่ในประเทศกำลังพัฒนา คนกลุ่มนี้ก็มีอยู่ประมาณ 1 พันล้านคนครับ

ถึงตรงนี้ก็ขอให้ทำความเข้าใจก่อนว่า เป้าหมายของ Sachs คือการช่วยเหลือคนจนที่ยากจนมากๆกลุ่มแรก (extreme poor) ไม่ใช่กลุ่มที่สอง ดังนั้น ข้อเสนอของ Sachs จึงไม่สามารถนำมาใช้ช่วยเหลือคนจนกลุ่มที่สองได้ เพราะโจทย์ปัญหามันไม่เหมือนกันครับ

......

Sachs ได้เปรียบเทียบการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นเหมือนการปีนบันไดการพัฒนา (ladder of economic development) ประเทศร่ำรวยก็อยู่ขั้นสูงๆบนบันได ส่วนประเทศยากจนก็ยังอยู่ช่วงล่างของบันไดหรือบางประเทศอาจยังไม่ได้เริ่มปีนด้วยซ้ำ

ข่าวดีก็คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรโลก (part of the moderate poor, most of the middle-income, and the rich) กำลังปีนไต่บันไดการพัฒนาอยู่ กำลังก้าวขึ้นไปบนขั้นที่สูงขึ้นๆ หมายความว่าคนกลุ่มนี้มีรายได้และฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศที่พวกเขาเหล่านี้อาศัยอยู่ส่วนใหญ่ก็มีเศรษฐกิจที่เติบโตเป็นบวก บวกมากบวกน้อยแตกต่างกันบ้าง แต่ก็ยังถือว่าเป็นบวก ผู้คนเหล่านี้มีอายุเฉลี่ยที่สูงขึ้น มีโอกาสทางการศึกษาที่ดีขึ้น โดยภาพรวมแล้ว คนกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิต (ด้านวัตถุ) ที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

แน่นอนว่าคนจนกลุ่มที่สอง (moderate poor) หลายคนก็กำลังมีปัญหาอยู่ เพราะพวกเขาไม่ค่อยได้รับส่วนแบ่งจากการเติบโตของเศรษฐกิจเท่าใดนัก อย่างไรก็ตาม ผมได้เขียนบอกไปแล้วว่าแนวทางของ Sachs ไม่ได้โฟกัสที่คนจนกลุ่มนี้ แต่โฟกัสที่คนจนที่ยากจนที่สุด (extreme poor) ครับ

ข่าวร้ายก็คือ ยังมีคนอีกร่วม 1 พันล้านคนในโลก (the extreme poor) ที่ยังไม่ได้เริ่มปีนบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจเลย ขั้นบันไดขั้นแรกดูเหมือนจะอยู่สูงเกินกว่าที่คนจนเหล่านี้จะก้าวปีนขึ้นไปถึง เพราะพวกเขากำลังติดอยู่ใน "กับดักความยากจน" (poverty trap) ซึ่งพวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดออกมาจากกับดักนี้ได้

หรือถ้าใช้ภาษาเศรษฐศาสตร์หน่อยก็อาจจะเรียกได้ว่าคนจนเหล่านี้ติดอยู่ใน very-low-income stable equilibrium ก็ได้ครับ

Sachs ได้เน้นย้ำประเด็นนี้หลายครั้งว่า คนจนที่ยากจนที่สุดนี้ไม่สามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ด้วยตัวเอง พวกเขาต้องการความช่วยเหลือเพื่อให้พ้นจากกับดักนี้ เมื่อพวกเขาหลุดพ้นจากกับดักที่หน่วงเหนี่ยวพวกเขาไว้แล้ว พวกเขาถึงจะสามารถช่วยตัวเองต่อไปได้ครับ

คำถามสำคัญต่อไปก็คือ ทำไมคนจนเหล่านี้ถึงติดอยู่ในกับดักความยากจนและไม่สามารถสลัดตัวเองให้พ้นจากกับดักนี้ได้? ทำไมเศรษฐกิจของประเทศอย่างเอธิโอเปียหรือเคนย่าถึงไม่เติบโต?

ถ้าเราถามคำถามนี้กับคนรวยในประเทศพัฒนาแล้ว คำตอบที่เราจะได้รับจากคนส่วนใหญ่คงจะหนีไม่พ้นเรื่องคอร์รัปชั่น คนเหล่านี้มักจะบอกว่าประเทศเหล่านี้ยากจนเพราะรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ทุจริตโกงกิน

ในความคิดของ Sachs นั้น เขาไม่เถียงว่าประเทศยากจนบางประเทศมีรัฐบาลที่ทุจริตแบบสุดๆไร้ประสิทธิภาพที่สุด แต่เขาเน้นชัดว่า มีประเทศยากจนอีกมากมายที่มีรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหาความยากจน และมีการคอร์รัปชั่นไม่มากนัก แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเราจึงไม่ควรกล่าวโทษคอร์รัปชั่นว่าเป็นสาเหตุหลักประการเดียวของปัญหาความยากจน

Sachs บอกว่ามีสาเหตุที่เป็นไปได้หลายข้อที่ทำให้เศรษฐกิจบางประเทศไม่เติบโตและติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน ผมจะขอยกเอาข้อที่สำคัญๆมานะครับ

ข้อแรก ความยากจนเองนั่นแหละที่ทำให้เศรษฐกิจไม่เติบโต เศรษฐกิจจะเติบโตได้ก็ต้องมีการลงทุน จะมีการลงทุนได้ก็ต้องมีการออม แต่ผู้คนเหล่านี้ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะบริโภคเพื่อเอาชีวิตรอดไปในแต่ละวันเลยด้วยซ้ำ พวกเขาจะมีเงินออมได้อย่างไร? เมื่อไม่มีเงินออมก็ไม่มีการลงทุน เมื่อไม่มีการลงทุนรายได้ก็ไม่เติบโต

นอกจากนี้ การลงทุนในตัวคน (human capital) ก็ไม่มี เพราะลูกหลานของคนเหล่านี้ไม่ได้รับการศึกษา หนำซ้ำทุนทางธรรมชาติ (natural capital) ก็กำลังหมดไปเรื่อยๆ เพราะดินที่พวกเขาใช้เพาะปลูกนั้นขาดการบำรุงรักษา ทำให้แร่ธาตุในดินลดลงไปมาก ผลผลิตก็ลดลงตาม เมื่อเป็นเช่นนี้ ความยากจนนั่นแหละที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถหลุดพ้นออกมาจากกับดักความยากจนได้

ข้อสอง ลักษณะภูมิศาสตร์ทางกายภาพ (Physical Geography) ทำให้พวกเขาติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจน Sachs ค่อนข้างให้น้ำหนักกับปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศมากทีเดียว บางประเทศยากจนเพราะว่าไม่มีทางออกทางทะเล บางประเทศไม่มีแม่น้ำที่จะใช้เป็นเส้นทางคมนาคมขนส่ง บางประเทศมีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงซึ่งการคมนาคมเป็นไปอย่างยากลำบาก ปัจจัยทางภูมิศาสตร์เหล่านี้ทำให้การค้าขายทั้งภายในและภายนอกประเทศมีต้นทุนค่าขนส่งสูง เมื่อค้าขายไม่ได้ก็ยากที่จะเพิ่มรายได้

จริงๆแล้ว Adam Smith ก็ได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องภูมิประเทศกับการพัฒนาเศรษฐกิจนี้ไว้ด้วยเช่นกัน เขาเขียนไว้ว่าประเทศที่มีชายฝั่งติดทะเลที่เหมาะสมเป็นท่าเรือ และมีแม่น้ำที่เหมาะสมต่อการคมนาคม จะเอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมจะเริ่มขึ้นที่ริมฝั่งทะเลก่อน แล้วค่อยๆรุกคืบเข้าไปในผืนแผ่นดิน

ลองเปรียบเทียบประเทศไทยกับประเทศลาวดูนะครับ แล้วจะเห็นภาพชัดขึ้นว่าทำไมเราถึงพัฒนาเศรษฐกิจได้เร็วกว่าลาว เมืองไทยมีที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอันอุดมสมบูรณ์ มีฝนจากมรสุมที่ตกต้องตามฤดูกาล (ยกเว้นภาคอีสานที่แห้งแล้ง) มีแม่น้ำอื่นๆและคลองมากมายที่เอื้อต่อการคมนาคมขนส่ง มีชายฝั่งติดทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ทั้งหมดนี้เอื้อต่อการเกษตรกรรม การพัฒนาอุตสาหกรรม และการค้าขายกับต่างประเทศทั้งสิ้น ในขณะที่ลาวนั้นพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูง การเพาะปลูกและการคมนาคมเป็นไปได้ยาก อีกทั้งลาวยังไม่มีทางออกทางทะเล ทำให้การค้าขายและพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยากลำบาก

นอกจากนี้ ประเทศในแถบเส้นศูนย์สูตรยังต้องเผชิญกับโรคภัยไข้เจ็บร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมาลาเรีย บางคนอาจจะสงสัยว่าทำไมประเทศแถบแอฟริกาจึงมีการแพร่ระบาดของมาลาเรียมากกว่าในเอเชียมากนัก สาเหตุข้อหนึ่งก็คือ ยุงเอเชียกับยุงแอฟริกาไม่เหมือนกันครับ! ยุงเอเชียชอบกัดวัวควาย แต่ยุงแอฟริกาชอบกัดคน การแพร่เชื้อมาลาเรียได้นั้น ยุงจะต้องกัดจากคนคนหนึ่งที่มีเชื้อ หลังจากนั้นเชื้อจะต้องใช้เวลาฟักตัวในตัวยุงประมาณเจ็ดวัน (เท่ากับเวลาชีวิตของยุง) พอวันที่เจ็ดเมื่อยุงไปกัดคนอีกคนหนึ่ง คนๆนั้นก็จะได้รับเชื้อเข้าไป เมื่อเป็นเช่นนี้ โอกาสที่คนแอฟริกาจะได้รับเชื้อก็มีมากกว่าคนเอเชีย เพราะยุงแอฟริกันชอบกัดคนมากกว่ากัดวัวควาย!

ข้อสาม รัฐบาลของประเทศยากจนนั้นขาดงบประมาณในการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลของประเทศยากจนนั้นแทบไม่มีรายได้จากการเก็บภาษีเลย เพราะประชาชนยากจนจึงไม่มีเงินเหลือจ่ายภาษี เมื่อขาดงบประมาณ รัฐก็ไม่มีเงินลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการศึกษา การสาธารณสุข การคมนาคมขนส่ง และด้านอื่นๆที่จำเป็น เมื่อไม่มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเหล่านี้ เศรษฐกิจก็ยากที่จะเติบโตได้

ข้อสี่ อัตราการเติบโตของประชากรในประเทศยากจนส่วนใหญ่จะสูง เมื่อครอบครัวคนยากจนมีลูกมาก พ่อแม่ก็ไม่มีเงินพอที่จะหาซื้ออาหารให้ลูกทุกคนอย่างเพียงพอ ไม่มีเงินส่งให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ ไม่มีเงินดูแลรักษาสุขภาพของลูกแต่ละคน ทำให้เด็กๆเหล่านี้เติบโตขึ้นมาอย่างขาดสารอาหาร สุขภาพไม่ดี และขาดการศึกษา เมื่อเป็นผู้ใหญ่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับความยากจนอีก

ข้อห้า การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆนั้นมักจะเกิดขึ้นในประเทศที่คนมีรายได้ดี เพราะมีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น สามารถทำกำไรได้ แต่ในประเทศยากจนที่ผู้คนแทบไม่มีรายได้เลยนั้น ภาคเอกชนไม่มีแรงจูงใจที่จะพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาเลย เพราะไม่มีดีมานด์ ไม่มีตลาดรองรับนวัตกรรมใหม่ๆนั้น

อย่างไรก็ตาม ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศสามารถใช้ advantage of backwardness ได้ โดยนำเข้าเทคโนโลยีจากประเทศพัฒนาแล้วมาใช้หรือดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติให้เข้ามาลงทุน (ในประเด็นนี้ Sachs ตั้งข้อสังเกตว่าการลงทุนจากต่างชาตินั้นจะเริ่มต้นขึ้นที่เมืองชายฝั่งที่ติดทะเลเสมอ) แต่ไม่ใช่ทุกประเทศที่จะสามารถทำอย่างนี้ได้นะครับ ประเทศยากจนหลายประเทศไม่มีเงินจะไปซื้อเทคโนโลยีจากประเทศร่ำรวย อีกทั้งยังไม่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติได้ (อาจเป็นเพราะไม่มีทางออกทางทะเล ไม่มีชายฝั่ง หรือขาดสาธารณูปโภคพื้นฐาน)

......

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ Sachs ยกขึ้นมาเพื่อแสดงให้เห็นว่า the extreme poor กำลังติดอยู่ในกับดักแห่งความยากจนที่พวกเขาไม่สามารถช่วยตัวเองให้หลุดพ้นออกมาได้

ขั้นแรกของบันไดการพัฒนาเศรษฐกิจยังอยู่สูงเกินกว่าที่พวกเขาจะก้าวขึ้นไปถึง

Sachs เห็นว่าประเทศร่ำรวยจะต้องช่วยให้ประเทศยากจนเหล่านี้หลุดพ้นจาก extreme poverty ให้ได้ หลุดพ้นจากกับดักความยากจนให้ได้ นั่นคือต้องช่วยให้พวกเขาได้ประเดิมก้าวแรกบนบันไดแห่งการพัฒนาให้ได้เสียก่อน

เมื่อประเทศยากจนสามารถเริ่มปีนบันไดขั้นแรกได้แล้ว Sachs เชื่อว่าพวกเขาก็จะสามารถปีนบันไดขั้นต่อๆไปได้ด้วยตัวเอง เหมือนเช่นที่ประเทศอื่นๆได้ทำมาแล้ว

จะว่าไปสถานการณ์มันก็คล้ายๆกับลิเวอร์พูลตอนตามหลังมิลาน 0-3 นะครับ นักเตะลิเวอร์พูลต้องการประตูแรกให้ได้โดยเร็วที่สุด ประตูที่สองและสามจึงจะตามมาได้ ถ้าไม่ได้ลูกแรก ลิเวอร์พูลก็คงติดอยู่ใน poverty trap (lack of goals, not lack of money) เหมือนกัน

ส่วนแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ของ Sachs จะเป็นอย่างไร มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด โปรดติดตามอ่านได้ในตอนต่อไปนะครับ




Sunday, May 22, 2005

Jeffrey Sachs กับ The End of Poverty (1) : เกริ่นนำ


เท่าที่ผมสังเกตเห็นมา (correct me if i'm wrong) อาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ดังๆในอเมริกานั้น มีน้อยคนนักที่จะมีความสนใจแบบจริงจังในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา

แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆกลุ่มนั้น คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น
Jeffrey Sachs

เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์คงจะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อของ Sachs กันดี แต่สำหรับท่านอื่นๆที่ไม่ใช่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ชื่อของ Sachs อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าใดนัก

ผมเพิ่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Sachs ก็เมื่อตอน Winter ที่ผ่านมานี้เองครับ ผมรู้จักเขาผ่านบทความของเขา ซึ่งผมต้องอ่านในวิชา Economic Development ที่ UC Davis (อาจารย์ที่สอนผมชื่อ Wing Thye Woo เป็นลูกศิษย์และเป็นเพื่อนสนิทกับ Sachs มานานแล้ว)

ต่อมาผมก็ไปเจอชื่อของ Sachs เข้าอีกในฐานะ Co-Director ของ PhD Program in Sustainable Development ที่ Columbia ตอนนั้นผมถึงได้รู้ว่า Sachs เป็นถึง Director of the Earth Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาใช้ผสมผสานและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ผมก็เลยลองศึกษาประวัติของ Sachs แบบจริงจังดู ก็พบว่า Sachs เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์น่าสนใจมากและไม่เหมือนนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันส่วนใหญ่ เพราะเขาไม่เพียงแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา (development economist) ที่มีผลงานวิจัยมากมาย แต่ยังเป็นนักพัฒนาในเชิงปฏิบัติ (development practitioner) ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดารในประเทศด้อยพัฒนาด้วย

ยิ่งพอผมได้เข้าไปฟัง speech ของ Sachs ที่ได้พูดไว้ในหลายวาระแล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมในความคิดและความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้นไปอีก

ผมขอเล่าประวัติของ Sachs ให้ฟังคร่าวๆนะครับ

Sachs เป็นคน Detroit เขาจบการศึกษาจาก Harvard (ตรี-เอก) และเข้าเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ Harvard ในปี 1980 ช่วงแรกๆของชีวิตอาจารย์ของ Sachs ก็คล้ายๆกับอาจารย์คนอื่นๆแหละครับ งานวิจัยของเขาจะเกี่ยวกับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดย Sachs แทบไม่ได้ทำงานด้าน Development Economics เลย (ช่วง early 1980s อาจารย์เศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ มีน้อยคนนักที่สนใจด้านนี้)

แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของ Sachs เปลี่ยนไป

ลูกศิษย์ชาวโบลิเวียของ Sachs คนหนึ่งขอให้ Sachs มาร่วมงานสัมมนาเล็กๆ ซึ่งจัดโดยคณะดูงานจากโบลิเวีย Sachs ตัดสินใจมาร่วมสัมมนา (มีอาจารย์ Harvard มาฟังแค่ 2 คน) เขาได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นกับโบลิเวีย ซึ่งเกิดจากเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation)

หลังจากฟังจบ Sachs ได้ยกมือและออกไปเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงนี้ พอเขาพูดจบ ก็มีเสียงดังออกมาจากหลังห้องว่า "Well, if you're so smart, why don't you come to La Paz (Bolivia's Capital) to help us?"

โดนเข้าไปแบบนี้ พี่ Sachs ของเราก็อึ้งแล้วก็หัวเราะลั่นสิครับ

คณะจากโบลิเวียบอกกับ Sachs ว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ วันต่อมา Sachs ก็ตอบตกลงจะไปเป็นที่ปรึกษาช่วยโบลิเวียแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ ทั้งๆที่เขาก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้ประเทศกำลังพัฒนามาก่อนเลย และเขาก็ไม่แน่ใจด้วยนะครับว่าที่ตัดสินใจลงไปมันสมควรหรือไม่

แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากของชีวิตของ Sachs... การเปลี่ยนแปลงที่ได้หล่อหลอมเขาจนมาเป็นตัวตนของ Sachs ในวันนี้

Sachs ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหยุดเงินเฟ้อในโบลิเวีย ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น ต่อมาเขาก็ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอีกหลายที่ทั้งในละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เอเชีย และแอฟริกา

ทุกวันนี้ นอกจาก Sachs จะเป็น Director of the Earth Institute ที่ Columbia แล้ว เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยดูแลเรื่อง
Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งเป็นโปรเจ็กของ UN ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนทั่วโลกให้ดีขึ้นแบบรอบด้าน

ผลงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของ Sachs นั้นโดดเด่นจนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น "one of the 100 most influential people in the world" by Time Magazine ในปี 2004 และ 2005


จากวันแรกที่ Sachs ได้ไปเยือนโบลิเวีย ในช่วงเวลามากกว่ายี่สิบปีที่เขาได้ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามานี้ เขาได้รับประสบการณ์อันล้ำค่ามากมาย เขาได้พบปะกับผู้คนที่ยากจนหิวโหยในดินแดนอันห่างไกลและล้าหลังหลายแห่ง... ดินแดนที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะเดินทางไป

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในสถานที่จริง กับผู้คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆเหล่านี้ ทำให้ Sachs เกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้พ้นจากความยากจน ความหิวโหย และความทุกข์ที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วันให้จงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์เหล่านี้ยังทำให้ Sachs เกิดความเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ดีขึ้นได้จริงๆ

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ภายในปี 2025

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการช่วยเพื่อนมนุษย์กว่าหนึ่งพันล้านคนที่กำลังหิวโหย อดอยาก ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ และขาดแคลนปัจจัยสี่ ให้ลืมตาอ้าปากได้ ให้เลี้ยงตัวเองได้ ให้มีปัจจัยหลักที่จำเป็นในการดำรงชีพดังที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี

ความฝันสูงสุดของ Sachs ไม่ใช่ความฝันลมๆแล้งๆที่ใครๆก็คิดฝันได้ แต่เป็นความฝันที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงที่เขาได้เผชิญมา เป็นความฝันที่ตั้งอยู่บนหลักแห่งเหตุและผล เป็นฝันที่เขาเชื่อว่าเราสามารถทำให้เป็นจริงได้

ทั้งหมดนี้ Sachs ได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดและเป็นขั้นเป็นตอนในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา

"The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time"

ในหนังสือเล่มนี้ Sachs ได้อธิบายถึงสาเหตุของ "กับดักความยากจน" (poverty trap) ในประเทศยากจนต่างๆ และเขาก็ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย โปแลนด์ อินเดีย และจีน

ที่สำคัญ เขาได้เสนอแนวทางการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรงหรือ extreme poverty ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025 อย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้ด้วย

ไว้ตอนหน้าผมจะมาบอกเล่าไอเดียของ Sachs ให้ฟังกันนะครับ



Friday, May 20, 2005

'Civilization' - the Best Strategy Game ever!

วันนี้ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องอะไรที่มีสาระสักเรื่อง แต่สมองมันไม่ค่อยจะทำงานซักเท่าไหร่นัก มันเหนื่อยๆเบลอร์ๆ คิดอะไรไม่ค่อยออกครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสิบวันที่ผ่านมาผมต้องเผชิญกับการสอบมิดเทอมสามวิชา และการสอบเก็บคะแนนเล็กๆอีกสามครั้ง

ก็เลยเปลี่ยนใจมาเขียนเรื่องอะไรเบาๆสบายๆดีกว่า วันนี้จะเขียนเรื่องเกมครับ

ผมเล่นเกมอยู่สองประเภท เกมเกี่ยวกับกีฬา (CM, Winning, Madden) กับเกมวางแผนหรือที่นักเล่นเกมเรียกกันว่าเกม strategy

หากพูดถึงเกม strategy ดังๆ นักเล่นเกมบ้านเราทั้งพวกสมัครเล่นและพวกมืออาชีพคงจะนึกถึง Warcraft, Starcraft, Command and Conquer เป็นเกมแรกๆ

แต่สำหรับผม เกม strategy ที่เด็ดที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นมาคือเกม Civilization ครับ (หรือเรียกสั้นๆว่า CIV)

ในต่างประเทศ CIV เป็นเกมที่มีคนเล่นติดกันงอมแงมอยู่เยอะมากครับ แต่ว่าเกมนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นเกมเมืองไทยซักเท่าไหร่ เหตุผลคงเป็นเพราะเกมนี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากเกม strategy ทั่วไปอยู่มากพอสมควร และมีรายละเอียดวิธีการเล่นและเทคนิคการเล่นมาก ต้องใช้เวลาศึกษานาน ต้องอ่านคู่มือการเล่นที่เป็นภาษาอังกฤษ (คู่มือเกมภาษาไทยเขียนแบบอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง) นักเล่นเกมบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงนักเลยไม่นิยมเล่นกัน

แต่ถ้าลองได้ศึกษาให้เข้าใจวิธีการเล่นดูแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะติดงอมแงมไม่แพ้ติด CM หรือ FM แน่นอนครับ!

กรณีของผมเป็นกรณีตัวอย่างได้อย่างดีครับ

ผมรู้จัก CIV เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ผมไปเดินห้าง Target อยู่ดีๆ ก็เจอเซ็กชั่นเกม เลยแวะเข้าไปเยี่ยมชมว่ามีเกมอะไรน่าสนใจบ้าง ไม่รู้ผมนึกยังไงเหมือนกันผมถึงได้หยิบเกม Civilization III ขึ้นมาดู อ่านดูหลังกล่องมันก็เขียนประมาณว่า เราจะได้ปกครองประเทศและวางแผนสร้างประเทศ สร้างอารายธรรมของเราตั้งแต่ยุค 4000 ปีก่อนคริสตกาล ไปเรื่อยๆจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ หลังกล่องยังมีคำนิยมจากนิตยสารเกมหลายเล่น มีอยู่เล่มหนึ่งถึงกับบอกว่าเกมนี้เป็น the best strategy game ever!

ฟังแล้วน่าสนใจไหมครับ? ผมอ่านแล้วก็มีอารมณ์ขึ้นมาทันทีเลยครับ ไม่ใช่อารมณ์แบบนั้นนะครับ แต่เป็นอารมณ์อยากลองเล่นครับ... เหลือกล่องเดียวเสียด้วย ต้องรีบซื้อก่อนที่คนอื่นจะมาแย่ง เหลือบไปดูราคา...

$39.99 plus tax!

โอ้พระเจ้า เกมอะไรตั้งพันหก เกมอื่นเค้าขายกันแค่ $25-$30 เอง ผมเลยคิดว่าถ้าอดทนรออีกสักหน่อย กลับบ้านไปเมืองไทยค่อยซื้อคงได้ราคาถูกกว่านี้เยอะ ว่าแล้วก็ตัดใจไม่ซื้อครับ แพงเกิน

ไม่นานหลังจากนั้น โชคก็เข้าข้างผม ผมเจอเพื่อนคนชิลีของผมคนหนึ่งที่เรียน Computer Science ผมถามเค้าว่าเคยเล่นเกม CIV มั้ย เค้าบอกว่าเล่นเป็นประจำเลย สนุกมาก ผมบอกว่าอยากเล่นมากๆ เค้าก็บอกว่าเดี๋ยวเอาแผ่นมาให้ลงแล้วก็ crack ได้ไม่ต้องใช้แผ่น

ผมจำได้ว่าตอนลงเกมตื่นเต้นมาก เกมที่ผมลงเป็น CIV ภาค 3 ครับ (CIV III) ต่อมากลับมาเมืองไทยผมก็ซื้อภาคเสริมคือ CIV III Conquests มาเล่น

ผลก็คือ ผมติดงอมแงมครับ! ช่วงแรกๆจำได้ว่า วันไหนว่างๆก็นั่งเล่นไปเรื่อยตั้งแต่บ่ายๆถึงตีสี่ หยุดพักก็เฉพาะตอนกินข้าวกับอาบน้ำเท่านั้นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านที่ไม่เคยได้ยินชื่อเกมนี้มาก่อนคงจะสงสัยนะครับว่า CIV เป็นเกมแบบไหน? เล่นอย่างไร? ทำไมถึงสนุกนักหนา? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ

ภาพใหญ่ๆของเกม CIV ก็คือการปกครองและบริหารอารยธรรมของเราให้เจริญรุ่งเรืองเหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆครับ ตอนเริ่มเกม เราจะต้องเลือกอารยธรรม (civilization) ที่เราจะเล่นเสียก่อน (มีให้เลือกประมาณ 30 อารยธรรม เช่น Greek, Rome, Aztec, China, India, Babylon, Sumeria, England, Spain, France, Zulu etc.)

แต่ละอารยธรรมก็จะมีลักษณะเฉพาะ (civilization traits) ที่แตกต่างกันไปนะครับ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะอิงกับประวัติศาสตร์ของอารยธรรมนั้นๆจริงๆ เช่น Germany เป็นพวก Scientific and Militaristic, India เป็นพวก Religious and Commercial, England เป็นพวก Seafaring and Expansionist, Sumeria เป็นพวก Agricultural and Scientific เป็นต้น ลักษณะพิเศษแต่ละแบบก็จะให้ประโยชน์ในการเล่นเกมแตกต่างกันครับ

พอเราเลือกอารยธรรมของเราแล้ว เราก็ต้องเซ็ตว่าจะให้มีอารยธรรมอื่นๆอีกกี่อารยธรรมบนโลก แล้วก็เริ่มเล่นได้เลยครับ อย่าลืมนะครับว่าเป้าหมายการเล่นคือสร้างอารยธรรมของเราให้ยิ่งใหญ่ (ยิ่งใหญ่ในที่นี้มีหลายแบบนะครับ เดี๋ยวผมจะพูดต่อไป) ให้เหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆ

เริ่มแรก เกมจะให้คนตั้งถิ่นฐาน (settler) และคนงาน (worker) กับเรามาอย่างละคนครับ เราก็ต้องให้ settlerสร้างเมืองแรกของอารยธรรมของเราก่อนครับ คือตั้งเมืองหลวง แล้วเราก็เริ่มพัฒนาอารยธรรมของเรา โดยเราต้องใช้ให้ worker ทำงาน (งานหลักๆในยุคแรกของ worker คือ สร้างถนน สร้างชลประทานเพื่อการเพาะปลูก สร้างเหมืองเพื่อให้ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆในเมือง) ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างในเมืองของเรา (เช่น temple, library, barrack สิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างก็มี effects ไม่เหมือนกัน) ต้องสร้างกำลังทหารไว้เพื่อบุกประเทศเพื่อนบ้านหรือเพื่อป้องกันประเทศตัวเอง แล้วแต่ยุทธศาสตร์ของเรา และที่สำคัญเราต้องสร้าง settler เพิ่มเพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขยายอารยธรรมของเราไปด้วย

นอกจากนี้ เรายังต้องทำวิจัยเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันด้วยครับ วิจัยตั้งแต่เทคโนโลยียุคแรกๆไปจนถึงยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ bronze working, iron working, monotheism, ไปเรื่อยๆจนถึง democracy, industrialization, synthetic fiber etc. พอเราวิจัยเทคโนโลยีแต่ละอย่างเสร็จ มันก็จะทำให้สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้าง, สิ่งมหัศจรรย์ของโลก (Wonders), หรือสร้างยูนิตทางทหารใหม่ๆ หรือให้ระบบการปกครองแบบใหม่แก่เรา เช่น พอวิจัย literature เสร็จ เราก็จะสร้าง library ได้ หรือเมื่อวิจัย steam power เสร็จ เราก็จะสร้าง railroad ได้ หรือเมื่อวิจัย music theory เสร็จ เราก็จะสร้าง Bachs' Cathedral ได้ เป็นต้น

อ้อ ลืมบอกไปครับว่าเกมนี้เป็น turn-based strategy คือเล่นแบบทีละเทิร์นๆไปเรื่อยๆ พอเราเล่นจบหนึ่งเทิร์น AI ที่ควบคุมอารยธรรมอื่นๆก็จะเล่นเทิร์นนึง ลักษณะแบบนี้ทำให้เราไม่ต้องเร่งแข่งกับเวลาครับ ค่อยๆคิดไปได้ในแต่ละเทิร์น ไม่เหมือนเกมอย่าง starcraft ที่ไม่มีเทิร์น เล่นไปเรื่อยๆ ต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอด

เมืองแต่ละเมืองจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามอย่างครับ อย่างแรกคืออาหาร (food) อย่างที่สองคือ shields อย่างที่สามคือการค้า (commerce)

food เป็นตัวกำหนดว่าเมืองแต่ละเมืองจะโตเร็ว (ประชากรเพิ่มขึ้นเร็ว) แค่ไหน ส่วน shields นั้นเป็นเสมือนวัตถุดิบในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถ้าเมืองไหนมี shields เยอะก็จะสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆได้เร็ว ส่วน commerce ก็คือเงินรายได้ของเมือง ถ้ามีเงินเยอะก็สามารถใช้เงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับอารยธรรมอื่นๆได้ และก็สามารถใช้เงินเพื่อสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีได้

พื้นที่ที่เมืองของเราตั้งอยู่ก็ไม่ได้เหมือนกันทุกที่นะครับ บางที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ (ก็จะมีอาหารหรือ foodเยอะ) บางที่เป็นเนินเขา (ก็จะมี shields เยอะ) บางที่เป็นป่า เป็นทะเลทราย เป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแม้แต่ภูเขาไฟ

นอกจากนี้ เรายังต้องพยายามแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ที่จะปรากฎบนแผนที่ ทรัพยากรที่ว่านี้ก็สำคัญต่อเกมมาก ทรัพยากรบางอย่างเราต้องมีเพื่อผลิตยูนิต (เช่น การสร้าง swordman ต้องใช้ทรัพยากร iron, การสร้าง battleship ต้องใช้ oil) บางอย่างเป็น luxury resource คือทำให้ประชากรในประเทศของเรามีความสุข (ถ้าเราดูแลอาณาจักรของเราไม่ดี คนก็จะไม่ happy อาจทำให้เกิด civil disorder ได้)

ผมชอบ CIV เพราะมันทำให้เราได้คิดวางแผนบริหารบ้านเมืองภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะสร้างอะไรก่อน สมมติเราเลือกสร้าง temple มันก็จะมี trade-off คือเราจะไม่ได้สร้างทหารในเทิร์นนั้น บางครั้งเราก็ต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น สมมติในอาณาเขตเราไม่มีทรัพยากรสำคัญเช่นน้ำมัน เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี จะพยายาม trade กับประเทศอื่น (ซึ่งจะทำให้เรา dependent on that country) หรือจะก่อสงครามบุกประเทศที่มีน้ำมันดี เกมทั้งเกม (540 turns) ก็จะดำเนินไปแบบนี้เรื่อยๆครับ จนกว่าจะมีผู้ชนะ

วิธีการที่จะได้รับชัยชนะชั้นมีหลายวิธีครับ สำหรับคนที่ชอบรบ ชอบทำสงคราม อาจจะชนะแบบ domination หมายถึงอารยธรรมของเราครอบครองพื้นที่ 66% ของโลกและครอบครองประชากร 66% ของประชากรโลก หรือไม่ก็อาจจะชนะแบบ conquest คือกำจัดทุกประเทศให้หมดไป ถ้าใครชอบสันติภาพก็สามารถชนะแบบสันติวิธี คือชนะแบบ Culture หรือวัฒนธรรม การชนะแบบนี้เราจะต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีวัฒนธรรมสูงไว้ในเมืองเยอะๆ (สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้จะผลิตคะแนนวัฒนธรรมทุกๆเทิร์น) หรืออาจจะชนะแบบ Diplomacy หรือการทูต โดยเราจะต้องได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของทุกประเทศให้เป็นผู้นำของสหประชาชาติ (UN) และท้ายที่สุด เราสามารถชนะด้วยวิธี Space Race นั่นคือประเทศที่วิจัยเทคโนโลยีต่างๆได้เร็วจนสามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปได้เป็นชาติแรก

ถ้าเกมดำเนินไปจนถึงปี 2050 โดยไม่มีผู้ชนะด้วยวิธีการใดๆเลย อารยธรรมที่มีคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งคะแนนนี้จะคำนวณจาก power และ culture ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งอารยธรรมเป็นต้นมาครับ

เหตุผลหลักที่ผมติดเกมนี้จนงอมแงมคงเป็นเพราะว่า เกมนี้มันเหมือนกับแบบจำลองของโลกความจริงในหลายแง่มุมครับ ถึงแม้จะไม่ได้เหมือนไปเสียทุกมุม แต่เวลาเล่นเกม CIV แล้ว มันทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้นำประเทศทั้งหลายมากขึ้น ว่ามันต้องมองภาพกว้างภาพรวมให้ออก ต้องคิดและเลือกจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ประเทศเราเดินไป (เราจะเน้นพัฒนาเทคโนโลยี หรือเน้นสร้างกองทัพแข็งแกร่งเพื่อขยายอาณาเขต หรือเน้นสร้างวัฒนธรรม) โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ แล้วจึงวางยุทธศาสตร์และใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น อีกทั้งยังต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เกิดความผาสุกไปทั่วทั้งอาณาจักร

เราเล่นไปมากๆก็ไม่เบื่อนะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่าแต่ละอารยธรรมจะมีลักษณะพิเศษ (traits) ที่แตกต่างกัน ถ้าเราเล่น Egypt (Religious and Industrious) จบเกมนึง เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเล่น Germany (Militaristic and Scientific) เพราะอย่าลืมครับ ว่า trait แต่ละแบบนั้นให้ประโยชน์กับอารยธรรมแตกต่างกันไป เช่น Religious ทำให้เราสร้าง temple, cathedral ได้เร็วขึ้น Scientific จะให้เทคโนโลยีบางอันแก่เราโดยไม่ต้องเสียเวลาวิจัย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นลักษณะของเกม CIV แบบคร่าวๆนะครับ ถ้าใครชอบเล่นเกมสไตล์ strategy แล้วละก็ ผมว่าพลาดเกมนี้ไม่ได้เลยนะครับ ผมว่ารูปแบบเกมมันไม่ซ้ำกับเกมอื่นๆเลยครับ เล่นแล้วได้ใช้สมองแบบสนุกๆ ได้ความบันเทิง และได้มุมมองใหม่ๆด้วยครับ ลองหาซื้อดูได้ครับ CIV III + Conquests Expansion Pack ครับ และถ้าเล่นแล้วติดใจ ปลายปีนี้ เราก็จะได้พบกับภาคใหม่นั่นก็คือ CIV IV ครับ

ผมขอตัวไปเล่น CIV ก่อนนะครับ


Monday, May 16, 2005

เรื่องของไก่(เดือยทอง)

และแล้ว... พรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ก็รูดม่านปิดฉากลงอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว

พลพรรคสิงโตน้ำเงินครามก็ประกาศความยิ่งใหญ่ให้พวกเราได้ประจักษ์กันทั่วหน้า เมื่อพวกเขาผงาดขึ้นมาคว้าแชมป์ไปครองได้แบบสบายๆ ทำคะแนนทิ้งไอ้ปืนใหญ่ 12 แต้ม ทิ้งผีแดง 18 แต้ม ทิ้งหงส์แดงถึง 37 แต้มแบบไม่เห็นฝุ่น

ส่วนทางด้านท้ายตาราง เวสต์บรอมฯ ก็โชว์ผลงานคัมแบ๊กหนีตายได้อย่างหวุดหวิด ชนิดที่ต้องลุ้นกันถึงนัดสุดท้าย ปล่อยให้พาเลซ, นอริช และทีมที่อยู่ยงคงกระพันในลีกสูงสุดมานานกว่า 27 ปีอย่างเซาแธมป์ตันต้องตกชั้นไป

อย่างนี้แหละครับเค้าถึงพูดกันว่า โลกนี้มันไม่มีอะไรแน่นอน

เมื่อฤดูกาลจบลง เดี๋ยวเราก็คงได้เห็นหลายต่อหลายคนผลิตบทวิเคราะห์ว่าด้วยความสำเร็จของเชลซี และความล้มเหลวของทีมดังอื่นๆ มาให้ได้อ่านกันมากมายเป็นแน่

ผมในฐานะสาวกไก่เดือยทอง จึงขอแหวกแนวเขียนถึงทีมสุดรักเสียบ้าง ทุกท่านจะได้เปลี่ยนบรรยากาศไปในตัวด้วย

ที่สำคัญ ผมยังมองว่าการเขียนเรื่องเกี่ยวกับสเปอร์สนั้น เป็น Pareto improvement ไม่ทำให้ใครเดือดร้อนด้วย ถ้าเขียนเรื่องเชลซี แฟนผี, แฟนปืน และแฟนหงส์ (premiership-wise) คงจะไม่สบอารมณ์เป็นแน่แท้ ส่วนถ้าเขียนเรื่องของทีมที่พลาดแชมป์ แฟนๆของทีมนั้นก็คงไม่สบอารมณ์อีกเช่นกัน เพราะเหมือนถูกตอกย้ำความล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฟอร์มไม่ได้เรื่อง ไม่คงเส้นคงวา ไม่ได้ลุ้นเลย ฯลฯ

เอ... นี่ผมทำให้แฟนผี แฟนหงส์ไม่สบอารมณ์หรือเปล่าครับ? จริงๆ ผมตั้งใจจะเขียนเรื่องสเปอร์สนะครับ แต่ว่ามันก็ต้องมีเกริ่นถึงภาพรวมกันเสียก่อน ก็เลยต้องเขียนเกริ่นก่อนว่าเชลซีเป็นแชมป์แบบทิ้งขาด ปืน ผี หงส์พลาดแชมป์หมด แทบไม่ได้ลุ้น ฯลฯ

โอเคครับๆ เกริ่นพอแล้ว เข้าเรื่องไก่ๆกันเลยดีกว่าครับ...


.....................................

ก่อนจะไปพูดถึงผลงานของสเปอร์สในปัจจุบัน ผมขอเล่าประวัติความเป็นมาของผมกับสเปอร์สให้ฟังคร่าวๆ ก่อนนะครับ

ผมเป็นแฟนสเปอร์สครั้งแรกก็นู่นแหละครับ ย้อนกลับไปพรีเมียร์ฤดูแรก 92-93

ตอนนั้นผมเพิ่งอายุ 8-9 ขวบได้ แต่ก็เริ่มดูบอลอังกฤษแล้วครับ จำได้ว่าช่องเจ็ดสีถ่ายทอดให้ดูกันสดๆ (ถ้าจำไม่ผิด สมัยนั้นละครหลังข่าวไม่ยาวขนาดเท่าทุกวันนี้ จึงได้ดูบอลกันสดๆ)

ผมจำไม่ได้เหมือนกันว่าทำไมผมถึงเลือกเชียร์สเปอร์ส... ฤดูนั้นสเปอร์สก็เล่นใช้ได้ อยู่ครึ่งบนของตาราง แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นเท่ากับแมนฯยูฯ วิลล่า และนอริช ไม่รู้ทำไมผมถึงเลือกสเปอร์สนะครับ สงสัยเสื้อสวยดี (สีขาว... สวยตรงไหนวะ!?)

ฤดูถัดๆมา ผมก็เริ่มเชียร์อย่างจริงจัง สมัยนั้นสเปอร์สมีเท็ดดี้ เชอริงแฮม, นิก บาร์มบี้, ดาร์เรน แอนเดอร์ตัน ตอนนั้นพวกนี้กำลัง peak เลยครับ

ต่อมาก็มี Klinnsmann (ไม่รู้สะกดถูกรึเปล่า) แล้วก็มีศิลปินลูกหนังอย่าง David Ginola...

ผมประทับใจนักเตะทั้งสองนี้มาก ตอนเลือกนามแฝงให้บล็อกนี้ ผมก็คิดอยู่ตั้งนานว่าจะเอาชื่อใครดี เพราะทั้งสองคนต่างก็เป็น superstar ที่แฟนไก่รักและยกย่องอย่างมาก

ผมก็ตามเชียร์ไก่เดือยทองมาฤดูแล้วฤดูเล่า ไก่ตัวนี้ก็ไม่เคยจะประสบความสำเร็จอย่างจริงๆจังๆเสียที อันดับในพรีเมียร์ที่ดีที่สุดคือที่ 7 ครับ แถมมีฤดูกาลนึงต้องหนีตกชั้นแบบลุ้นกันเหนื่อยเลย (ฤดูนั้นคลิ้นส์มันน์ย้ายกลับมาช่วยไก่ไว้ช่วงกลาง-ปลายฤดูครับ)

ความสำเร็จสูงสุดของสเปอร์สในรอบสิบกว่าปีมานี้ก็คือ แชมป์ลีกคัพ (รู้สึกจะปี 98 หรือ 99 นี่แหละครับ)

ถึงแม้จะพยายามเปลี่ยนผู้จัดการทีมหลายต่อหลายครั้ง ดึงตัวผู้จัดการทีมดังๆ มาทำงานหลายคน (เช่น จอร์จ เกรแฮม, เกล็น ฮ็อดเดิล) ทีมก็ยังห่างเหินกับความสำเร็จ และห่างเหินจากเวทียุโรปมานานแสนนาน...

.....................................

มาถึงช่วงก่อนเปิดฤดูกาลนี้ สาวกไก่ทั้งหลายต่างก็ตั้งความหวังไว้อย่างสูง (เหมือนเช่นฤดูกาลอื่นๆที่ผ่านมา) หวังไว้ว่าปีนี้จะเป็นปีทองของสเปอร์สเสียที ปีนี้จะได้เห็นไก่เดือยทองสยายปีกโก่งขันอย่างสง่าผ่าเผยเสียที

ช่วงพักฤดูกาล ระหว่างการแข่งขันยูโร 2004 ที่โปรตุเกสนั้น สเปอร์สได้ประกาศแต่งตั้งผู้จัดการทีมคนใหม่ คือ Jacques Santini ซึ่งตอนนั้นคุมฝรั่งเศสลุยศึกยูโรอยู่

สาวกไก่ต่างก็ยิ่งเพิ่มความหวังให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก

พอเริ่มเปิดฤดูจริงๆ ช่วงแรกฟอร์มของสเปอร์สก็ใช้ได้ทีเดียว รู้สึกว่าจะขึ้นไปยึดจ่าฝูงในช่วง 4-5 นัดแรกได้ด้วย แต่พอเตะไปอีกสักพัก สาวกไก่ก็ต้องเผชิญกับข่าวที่ไม่มีใครคาดคิด

Santini ลาออกจากตำแหน่งผจก.ทีม! หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้อง เขาถูก "บีบ" ให้ลาออกต่างหาก สาเหตุหลักน่าจะมาจากการที่เขาไม่สามารถยอมรับนโยบายการซื้อนักเตะของทีม ซึ่งให้อำนาจการตัดสินใจสูงสุดไว้ที่ Frank Arnesen ผู้เป็น Sporting Diretor แทนที่จะให้อำนาจกับผจก.ทีม

เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ผมและสาวกไก่ทั้งหลายก็งงงวยตะลึงงันกันไปพักใหญ่ ความฝันที่พวกเราวาดไว้ถูกบั่นทอนลงจากการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหันนี้

ต่อมาไม่นาน สโมสรก็ได้ประกาศตัวผจก.ทีมคนใหม่ บุรุษผู้นั้นก็คือ... Martin Jol!?!?

หลังจากทราบข่าว ความคิดแรกที่ผ่านเข้ามาในหัวสมองผมก็คือ ใครคือนาย Martin Jol ผู้นี้? เขาคือใคร? มาจากไหน? เกิดมาไม่เคยได้ยินชื่อเลยครับ นามสกุลออกเสียงยังไงก็ไม่รู้

พอต่อมาได้อ่านประวัติการทำงานของนายโยลดู ก็พบว่าใช้ได้พอตัวทีเดียว เพียงแต่อาจจะขาดประสบการณ์การทำทีมใหญ่ๆ (แต่จะว่าไปแล้ว สเปอร์สก็ไม่ได้เป็นทีมใหญ่ขนาดนั้น)

ผลงานของโยลช่วงแรกๆ เป็นไปแบบสามสัปดาห์ดีสี่สัปดาห์ไข้ครับ ชนะติดกัน 3-4 นัด แล้วก็แพ้ติดกัน 3-4 นัด สลับกันไปช่วงหนึ่ง

แต่ผมก็แทบไม่ได้ดูผลงานของสเปอร์สทางหน้าจอเลยครับ เพราะมาแลกเปลี่ยนที่อเมริกาเลยไม่มีให้ดู ต้องติดตามข่าวทางเว็บไซต์แล้วก็คอยถามเพื่อนๆที่มันได้ดูที่เมืองไทยว่าฟอร์มของสเปอร์สเป็นยังไงบ้าง

สเปอร์สก็เกาะกลุ่มกลางตารางมาเรื่อยๆ ครับ จนถึงช่วงหน้าต่างซื้อขายนักเตะเปิดตอนเดือนมกราคม สเปอร์สเป็นหนึ่งในทีมที่ซื้อนักเตะเสริมทีมเข้ามามากที่สุด แต่ว่านโยบายการซื้อนักเตะของ Arnesen กับ Jol นั้น ไม่เน้นซื้อพวกดาราดังราคาแพงครับ ทุกคนที่ซื้อเข้ามาเป็นนักเตะดาวรุ่งทั้งนั้น อายุรุ่นราวคราวเดียวกับผมทั้งนั้นเลยครับ เรียกว่าซื้อมาไม่แพงหวังปั้นให้เก่ง ตัวที่แพงๆ หน่อยก็คือ Andy Reid กับ Michael Dawson สองดาวรุ่งจาก Forest ส่วนคนอื่นก็มี Mido, Ziegler แล้วก็พวกที่ซื้อมาเป็น reserve อีกสองสามตัว

นอกจากนี้ สาวกไก่ยังได้เห็นนักเตะเยาวชนของทีมหลายคนที่มีโอกาสก้าวขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่อย่างเต็มตัว เช่น Dean Marney, Stephen Kelly, Philip Ifil เป็นต้น

ช่วงปีใหม่มีการแข่งขันนัดหนึ่งที่ทำให้ผมรู้สึกเจ็บใจ ขุ่นเคือง และเสียดายที่สุดครับ นัดนั้นสเปอร์สบุกไปเยือนผีแดงถึงถิ่น สถิติรอบสิบกว่าปีมานี้ สเปอร์สไม่เคยบุกไปชนะผีแดงในบ้านได้เลยครับ แต่ปีนี้สเปอร์สเล่นดีกว่าปีก่อนๆครับ สกอร์ตอนจบเกมออกมาเจ๊ากัน 0-0 ชนิดที่ผมและสาวกไก่เจ็บใจที่ซู้ดดด

เพราะอะไรนะหรือครับ? ก็เพราะผู้ช่วยผู้ตัดสินคนนั้นน่ะสิครับ เขาบอกว่าลูกยิงไกลของ Pedro Mendes ไม่ข้ามเส้นประตู ทั้งๆที่มันข้ามเส้นไปแล้วแบบชัดยิ่งกว่าชัด! (อันนี้ผมไม่ได้ดูเองหรอกนะครับ แต่เพื่อนๆทุกคนที่ผมถาม รวมทั้งแฟนผีเอง ก็บอกว่ามันเข้าไปแล้วแน่นอน)

เซ็งเลยครับ... โดนปล้นชัยชนะไปแบบน่าเจ็บใจและน่าเสียดายเหลือเกิน...

นัดต่อๆมาผมก็ติดตามข่าวมาตลอด ถามเพื่อนๆที่เมืองไทยต่างก็บอกว่าสเปอร์สเล่นดีขึ้นกว่าแต่ก่อนเยอะ ไม่มีแพ้แบบเละเทะแล้ว กองหน้าได้ Mido มาเสริมความแข็งแกร่งและลูกกลางอากาศ ประสานพลังทำประตูร่วมกับ Defoe, Keane และ Kanoute

กองกลางด้านข้างได้ Andy Reid มากระชากลากเลื้อย ทำให้เกมริมเส้นเจ๋งขึ้นเยอะ ตรงกลางนั้น Michael Carrick ก็พัฒนาฝีเท้าขึ้นมาก บวกกับตัวเสริมคนอื่นๆ อย่าง Mendes, Brown, Davies, Zeigler, Marney, Davis (รายหลังนี่เจ็บบ่อย)

กองหลังมี Ledley King จับคู่กับ Naybet พร้อมตัวแทนอย่าง Dawson และแบ๊กอย่าง Edman, Atouba, Kelly, Ifil, Pamarot ก็นับว่าใช้ได้ทีเดียว

สเปอร์สจึงโชว์ผลงานได้ค่อนข้างดีมาเรื่อยๆ

จนมาถึงช่วงปลายฤดูกาล สเปอร์สมีลุ้นไปเตะยูฟ่าคัพ ต้องลุ้นกันจนเหลือสองนัดสุดท้าย สเปอร์สอยู่ที่ 7 ซึ่งเป็นโควตาทีมสุดท้ายที่จะได้ไปเล่นยูฟ่าคัพ มีคะแนนเท่ากับโบโร่ แต่ประตูได้เสียดีกว่าหนึ่งลูก

เหมือนชะตาได้ลิขิตไว้แล้ว... นัดที่ 37 สเปอร์สกับโบโร่ต้องโคจรมาพบกันที่ริเวอร์ไซด์สเตเดียมครับ! ตัวผมก็ตั้งความหวังไว้เต็มที่ ขอยันเสมอให้ได้ แล้วนัดสุดท้ายไปอัดแบล็กเบิร์นในบ้าน ก็จะได้ไปโลดแล่นในยุโรปแล้ว

ผลออกมาปรากฎว่า โบโร่เล่นดีกว่าและเชือดคอไก่ไป 1-0...

ผลการแข่งขันออกมาเช่นนี้ ทำให้สเปอร์สแทบจะหมดลุ้นไปยุโรปเลยครับ เพราะนัดสุดท้ายต้องลุ้นให้แมนฯซิติ้ฯชนะโบโร่แค่ลูกเดียว (ซิตี้ก็มีลุ้นไปยุโรปเหมือนกัน) แล้วสเปอร์สก็ต้องชนะแบล็คเบิร์นโดยต้องยิงให้เยอะกว่าซิตี้ 2 ลูก

เรียกว่าความน่าจะเป็นแทบจะเป็นศูนย์ครับ

และแล้วผลนัดสุดท้ายก็ออกมา ซิตี้เสมอโบโร่ 1-1 ส่วนสเปอร์สก็ทำอะไรแบล็คเบิร์นไม่ได้ (เพราะคงไม่ค่อยมีความหวังกันสักเท่าไหร่) เจ๊ากันไปแบบโนสกอร์ ส่งผลให้โบโร่ได้เข้าไปเล่นในยุโรปเป็นทีมสุดท้ายครับ

เฮ้อ... จบลงไปอีกฤดูแล้วครับ และสเปอร์สของผมก็ยังไม่สามารถติดโควตาเข้าไปเล่นในยุโรปได้

.....................................

ถ้าถามผมว่ารู้สึกยังไงกับผลงานของสเปอร์สในฤดูกาลที่เพิ่งจะผ่านไป ผมคงต้องบอกว่า มันเป็น mixed feelings ครับ

ในแง่หนึ่ง ก็ผิดหวังแน่นอนครับที่ทีมรักไม่สามารถฉกฉวยโอกาสทำอันดับไปเล่นบอลยุโรปได้ดั่งหวัง รู้สึกเซ็งและเสียดายสองคะแนนที่หายไปจากนัดที่เสมอแมนฯยูฯ ถ้าได้สองคะแนนนั้นมา นัดสุดท้ายคงเล่นอย่างตั้งใจและน่าจะเก็บแบล็คเบิร์นได้ไม่ยาก

แต่อีกแง่หนึ่ง ผมก็รู้สึกมีความหวัง (แบบจริงๆจังๆ ไม่ลมๆแล้งๆ) ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านบวกที่ Arnesen และ Jol ได้นำเข้ามาสู่ไวท์ฮาร์ทเลน สองคนนี้ดูเป็นมืออาชีพมาก ผมชอบที่พวกเขาให้โอกาสนักเตะดาวรุ่ง และเลือกซื้อนักเตะอย่างชาญฉลาด เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตอย่างแท้จริง

อีกทั้งสไตล์การทำงานของโยลก็ดูจะได้ผลดี ดูจากข่าวที่ออกมา บรรยากาศภายในสโมสรดูดีมากๆ

ผมมองเห็นอนาคตอันสดใสที่ไวท์ฮาร์ทเลนนี้จริงๆนะครับ มันเป็นความหวังที่ไม่เหมือนแต่ก่อน ที่หวังแบบไม่ค่อยมีหลักฐานและเหตุผลมาแบ็กอัพ ความหวังครั้งนี้ผมมั่นใจว่ามันเป็นของจริงแน่นอน

ผมขอทำนายไว้เลยครับ อีกภายในสองฤดูกาล สเปอร์สจะได้ไปเล่นบอลยุโรปอย่างแน่นอน

และอีกภายในห้าปี สเปอร์สจะผงาดมาเป็นทีมระดับท็อปไฟว์ของเกาะอังกฤษ มีโอกาสลุ้นไปเล่น UCL อย่างแน่นอนครับ

ผมมั่นใจมากครับ... มั่นใจไม่น้อยไปกว่าท่านผู้นำของเราที่ได้เคยประกาศไว้อย่างเสียงดังฟังชัดว่า "อีกหกปีจะไม่มีคนจนในเมืองไทย" เลยครับ!

ป.ล. ไม่ทราบว่าเคยสังเกตกันบ้างไหมครับ ว่าจริงๆ แล้วตราสโมสรของสเปอร์สที่เป็นรูปไก่นั้น ไก่มันไม่ได้มีเดือยสีทองแต่อย่างใดครับ แล้วเหตุไฉนสเปอร์สจึงได้มีฉายาว่า "ไก่เดือยทอง" ล่ะครับ? คำตอบก็คือ ตราสัญลักษณ์ไก่แบบเก่าของสเปอร์ส (ซึงเพิ่งถูกเปลี่ยนไปเมื่อไม่กี่ปีมานี้) มีเดือยสีทองก็เท่านั้นเองครับ







kick off

เมืองเดวิส รัฐแคลิฟอร์เนีย
12.39 น.

สวัสดีครับทุกท่าน

ผมไม่เคยมี weblog มาก่อนเลยครับ นี่เป็นบล็อกแรกในชีวิต

คือผมเป็นพวก late adopter ครับ กว่าจะ adopt เทคโนโลยีใหม่ๆ ต้องใช้เวลานานพอสมควร

ผมเพิ่งรู้จัก weblog เมื่อไม่กี่เดือนที่แล้วนี้เองครับ นั่นคือบล็อกของเว็บผู้จัดการ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรเท่าไหร่นัก เข้าไปอ่านอยู่สองสามบล็อก เป็นเรื่องค่อนข้างไร้สาระ ผมก็เลยไม่ได้เข้าไปอ่านอีกเลย

ตอนนั้น ผมแอบคิดด้วยซ้ำว่า weblog คงเป็นที่ที่คนที่ว่างงาน ไม่มีอะไรจะทำ ก็เลยมาขีดๆ เขียนๆ diary เรื่อยเปื่อยไปวันๆ

จนมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้วนี้เองครับ ผมถึงเพิ่งจะเกิดดวงตาธรรม เมื่อผมเผอิญได้เข้าไปอ่านบล็อกของ
pin poramet อาจารย์หนุ่มรั้วแม่โดม อันเป็นสถาบันการศึกษาของผมในปัจจุบัน

เข้าไปนั่งอ่านอย่างเพลิดเพลินจนเกือบหมดทุกบล็อกแล้ว ผมก็แวะเข้าไปเยื่ยมชมบล็อกของท่านอื่นๆ อีกหลายบล็อก

ตอนนี้ ผมจึงเพิ่งเข้าใจครับ ว่า weblog เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารแนวใหม่ที่มีพลังจริงๆ เป็นสื่อกลางให้คนที่มีความสนใจในเรื่องที่คล้ายกัน ได้มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแง่มุมความคิดเห็นได้อย่างสร้างสรรค์และอย่างอิสระ ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้ผู้รู้น้อยอย่างผมได้เพิ่มรอยหยักในสมองขึ้นมาบ้าง

อ่านประสบการณ์และมุมมองของคนอื่นๆ แล้ว ผมก็อยากจะแชร์ประสบการณ์และมุมมองของผมบ้าง

แต่ผมก็ยังกล้าๆกลัวๆครับ... ใจนึงผมก็อยากเขียนความคิดความรู้สึกออกมา แต่อีกใจนึงก็กลัวจะไม่มีคนอ่าน หรือกลัวว่าคนเค้าอ่านแล้วจะรู้สึกเสียเวลา เพราะเค้ารู้และเข้าใจในสิ่งที่ผมเขียนหมดแล้ว

เพราะเอาเข้าจริงๆ ผมก็เป็นแค่เด็กหนุ่มที่เพิ่งบรรลุนิติภาวะมาสดๆร้อนๆ ประสบการณ์และความรอบรู้นั้น ตัวผมถือว่ายัง "อ่อนหัด" อยู่มาก

ถ้าเปรียบกับการฝึกวิทยายุทธ ผมก็เหมือนเพิ่งเริ่มฝึกกำลังภายในขั้นพื้นฐานอยู่เท่านั้น ในขณะที่ยุทธภพมีจอมยุทธยอดฝีมือโลดโผนอยู่มากมาย

แต่ถึงกระนั้น ผมก็เอาชนะความกลัวเหล่านี้ไปได้ครับ

ผมบอกกับตัวเองว่า ระหว่างที่เราคอยเสาะแสวงหาประสบการณ์ความรู้เพิ่มเติมจากจอมยุทธทั้งหลายอยู่นั้น เราก็สามารถคิดๆเขียนๆด้วยความรู้และประสบการณ์เท่าที่เด็กอ่อนหัดอย่างเราจะพึงมีก็น่าจะได้

เป็นมุมมองของเด็กอ่อนหัด... ที่ถึงแม้อาจจะไม่ลึกซึ้งแตกฉาน แต่อย่างน้อยที่สุด ก็น่าจะช่วยให้เราได้ใช้สมองคิดไตร่ตรองและพัฒนาความคิดของเราไปทีละขั้นๆ ค่อยๆฝึกฝนเพลงกระบี่ต่างๆไปทีละเพลง สะสมวิทยายุทธไปเรื่อยๆ น่าจะดี

และแล้วบล็อกแรกในชีวิตของผมก็ถือกำเนิดขึ้นในที่สุดครับ

ถ้าใครสนใจในเรื่องราวเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคม ฟุตบอล (ผมเป็นสาวกไก่เดือยทองมาสิบสองปีแล้วครับ) อเมริกันฟุตบอล (ผมเป็นแฟน Colts กับ Chargers) เกมส์ (CIV, CM, Winning, Madden) ก็ลองแวะเข้ามาอ่านและ comment บล็อกของผมได้นะครับ

ปี๊ดดดดด... ผู้ตัดสินเป่านกหวีดเริ่มเกมแล้วครับ