Sunday, May 22, 2005

Jeffrey Sachs กับ The End of Poverty (1) : เกริ่นนำ


เท่าที่ผมสังเกตเห็นมา (correct me if i'm wrong) อาจารย์ทางเศรษฐศาสตร์ที่ดังๆในอเมริกานั้น มีน้อยคนนักที่จะมีความสนใจแบบจริงจังในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้อยพัฒนา

แต่ในหมู่นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มเล็กๆกลุ่มนั้น คนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้น
Jeffrey Sachs

เชื่อว่าทุกท่านที่อยู่ในแวดวงเศรษฐศาสตร์คงจะรู้จักคุ้นเคยกับชื่อของ Sachs กันดี แต่สำหรับท่านอื่นๆที่ไม่ใช่นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ ชื่อของ Sachs อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูเท่าใดนัก

ผมเพิ่งได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของ Sachs ก็เมื่อตอน Winter ที่ผ่านมานี้เองครับ ผมรู้จักเขาผ่านบทความของเขา ซึ่งผมต้องอ่านในวิชา Economic Development ที่ UC Davis (อาจารย์ที่สอนผมชื่อ Wing Thye Woo เป็นลูกศิษย์และเป็นเพื่อนสนิทกับ Sachs มานานแล้ว)

ต่อมาผมก็ไปเจอชื่อของ Sachs เข้าอีกในฐานะ Co-Director ของ PhD Program in Sustainable Development ที่ Columbia ตอนนั้นผมถึงได้รู้ว่า Sachs เป็นถึง Director of the Earth Institute ซึ่งเป็นสถาบันที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาแบบยั่งยืน โดยนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์มาใช้ผสมผสานและเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน

ผมก็เลยลองศึกษาประวัติของ Sachs แบบจริงจังดู ก็พบว่า Sachs เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่มีประสบการณ์น่าสนใจมากและไม่เหมือนนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันส่วนใหญ่ เพราะเขาไม่เพียงแต่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนา (development economist) ที่มีผลงานวิจัยมากมาย แต่ยังเป็นนักพัฒนาในเชิงปฏิบัติ (development practitioner) ที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ทุรกันดารในประเทศด้อยพัฒนาด้วย

ยิ่งพอผมได้เข้าไปฟัง speech ของ Sachs ที่ได้พูดไว้ในหลายวาระแล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกชื่นชมในความคิดและความเป็นมนุษย์ของเขามากขึ้นไปอีก

ผมขอเล่าประวัติของ Sachs ให้ฟังคร่าวๆนะครับ

Sachs เป็นคน Detroit เขาจบการศึกษาจาก Harvard (ตรี-เอก) และเข้าเป็นอาจารย์เศรษฐศาสตร์ที่ Harvard ในปี 1980 ช่วงแรกๆของชีวิตอาจารย์ของ Sachs ก็คล้ายๆกับอาจารย์คนอื่นๆแหละครับ งานวิจัยของเขาจะเกี่ยวกับประเทศพัฒนาแล้วเป็นส่วนใหญ่ โดย Sachs แทบไม่ได้ทำงานด้าน Development Economics เลย (ช่วง early 1980s อาจารย์เศรษฐศาสตร์ในสหรัฐฯ มีน้อยคนนักที่สนใจด้านนี้)

แต่แล้ววันหนึ่งก็มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชีวิตของ Sachs เปลี่ยนไป

ลูกศิษย์ชาวโบลิเวียของ Sachs คนหนึ่งขอให้ Sachs มาร่วมงานสัมมนาเล็กๆ ซึ่งจัดโดยคณะดูงานจากโบลิเวีย Sachs ตัดสินใจมาร่วมสัมมนา (มีอาจารย์ Harvard มาฟังแค่ 2 คน) เขาได้ฟังการบรรยายเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นกับโบลิเวีย ซึ่งเกิดจากเงินเฟ้ออย่างรุนแรง (Hyperinflation)

หลังจากฟังจบ Sachs ได้ยกมือและออกไปเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเงินเฟ้ออย่างรุนแรงนี้ พอเขาพูดจบ ก็มีเสียงดังออกมาจากหลังห้องว่า "Well, if you're so smart, why don't you come to La Paz (Bolivia's Capital) to help us?"

โดนเข้าไปแบบนี้ พี่ Sachs ของเราก็อึ้งแล้วก็หัวเราะลั่นสิครับ

คณะจากโบลิเวียบอกกับ Sachs ว่าพวกเขาต้องการที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ วันต่อมา Sachs ก็ตอบตกลงจะไปเป็นที่ปรึกษาช่วยโบลิเวียแก้ปัญหาเงินเฟ้อให้ ทั้งๆที่เขาก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในการเป็นที่ปรึกษาให้ประเทศกำลังพัฒนามาก่อนเลย และเขาก็ไม่แน่ใจด้วยนะครับว่าที่ตัดสินใจลงไปมันสมควรหรือไม่

แต่นั่นก็คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมากของชีวิตของ Sachs... การเปลี่ยนแปลงที่ได้หล่อหลอมเขาจนมาเป็นตัวตนของ Sachs ในวันนี้

Sachs ประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายหยุดเงินเฟ้อในโบลิเวีย ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงขึ้น ต่อมาเขาก็ได้รับเชิญไปเป็นที่ปรึกษาให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆอีกหลายที่ทั้งในละตินอเมริกา ยุโรปตะวันออก เอเชีย และแอฟริกา

ทุกวันนี้ นอกจาก Sachs จะเป็น Director of the Earth Institute ที่ Columbia แล้ว เขายังเป็นที่ปรึกษาให้กับโคฟี่ อันนัน เลขาธิการสหประชาชาติ โดยดูแลเรื่อง
Millennium Development Goals (MDGs) ซึ่งเป็นโปรเจ็กของ UN ที่จะยกระดับความเป็นอยู่ของคนจนทั่วโลกให้ดีขึ้นแบบรอบด้าน

ผลงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของ Sachs นั้นโดดเด่นจนทำให้เขาได้รับการยกย่องเป็น "one of the 100 most influential people in the world" by Time Magazine ในปี 2004 และ 2005


จากวันแรกที่ Sachs ได้ไปเยือนโบลิเวีย ในช่วงเวลามากกว่ายี่สิบปีที่เขาได้ทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนามานี้ เขาได้รับประสบการณ์อันล้ำค่ามากมาย เขาได้พบปะกับผู้คนที่ยากจนหิวโหยในดินแดนอันห่างไกลและล้าหลังหลายแห่ง... ดินแดนที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่เคยแม้แต่จะคิดที่จะเดินทางไป

การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ในสถานที่จริง กับผู้คนที่มีตัวตนอยู่จริงๆเหล่านี้ ทำให้ Sachs เกิดแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ให้พ้นจากความยากจน ความหิวโหย และความทุกข์ที่พวกเขาต้องเผชิญอยู่ทุกวี่วันให้จงได้

ยิ่งไปกว่านั้น ประสบการณ์เหล่านี้ยังทำให้ Sachs เกิดความเชื่อมั่นว่าเราสามารถช่วยทำให้ชีวิตของผู้คนเหล่านี้ดีขึ้นได้จริงๆ

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรง (extreme poverty) ให้หมดสิ้นไปจากโลกนี้ภายในปี 2025

ความฝันสูงสุดของ Sachs คือการช่วยเพื่อนมนุษย์กว่าหนึ่งพันล้านคนที่กำลังหิวโหย อดอยาก ประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ และขาดแคลนปัจจัยสี่ ให้ลืมตาอ้าปากได้ ให้เลี้ยงตัวเองได้ ให้มีปัจจัยหลักที่จำเป็นในการดำรงชีพดังที่มนุษย์คนหนึ่งควรจะมี

ความฝันสูงสุดของ Sachs ไม่ใช่ความฝันลมๆแล้งๆที่ใครๆก็คิดฝันได้ แต่เป็นความฝันที่กลั่นออกมาจากประสบการณ์ในโลกแห่งความจริงที่เขาได้เผชิญมา เป็นความฝันที่ตั้งอยู่บนหลักแห่งเหตุและผล เป็นฝันที่เขาเชื่อว่าเราสามารถทำให้เป็นจริงได้

ทั้งหมดนี้ Sachs ได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดและเป็นขั้นเป็นตอนในหนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของเขา

"The End of Poverty: Economic Possibilities for Our Time"

ในหนังสือเล่มนี้ Sachs ได้อธิบายถึงสาเหตุของ "กับดักความยากจน" (poverty trap) ในประเทศยากจนต่างๆ และเขาก็ได้เล่าถึงประสบการณ์การทำงานในประเทศต่างๆ เช่น โบลิเวีย โปแลนด์ อินเดีย และจีน

ที่สำคัญ เขาได้เสนอแนวทางการกำจัดความยากจนขั้นรุนแรงหรือ extreme poverty ให้หมดไปจากโลกภายในปี 2025 อย่างเป็นรูปธรรมเอาไว้ด้วย

ไว้ตอนหน้าผมจะมาบอกเล่าไอเดียของ Sachs ให้ฟังกันนะครับ



5 comments:

กระต่ายน้อย returns said...

เยี่ยมมากครับท่าน นับถือๆ
ดีนะที่ไปเรียนที่โน่นแล้วได้เรียน Development แบบเป็นเนื้อหาบ้าง รวมถึงได้อ่านงานของ Sachs
ทีตอนผมไปทำไมเจอแต่เลขฟะ อ่านแต่สมการ
ถ้าคุณ Ginola สนใจทางด้านนี้ก็คงสนใจคล้ายๆผม ถ้าอย่างนี้คุณคงเหมาะที่จะทำงานที่เดียวกับผมแล้วล่ะ

Steelers(钢人) said...

น่านับถือมากครับ คุณSachs ผมคิดว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คือเป้าหมายของการเรียนเศรษฐศาสตร์เลยนะครับ คือการที่ได้นำความรู้มาใช้ให้เห็นผล และใช้กับคนที่สมควรจะถูกใช้ นั่นก็คือคนยากจน
นอกจากนี้ผมยังคิดว่าเป้าหมายที่แท้จริงของวิชาเศรษฐศาสตร์ก็คือการนำทฤษฎีมาปฎิบัติให้เห็นผล และผลที่ควรจะทำมากที่สุดก็คือการกำจัดความยากจนและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำครับ

เขียนต่อเร็วนะ จะรออ่านครับ

The Corgiman said...

ลองเข้าไปอ่านบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน blog ของdaivddrezner (www.daviddrezner.com) หรือจาก NYT Book Review สิครับ ดุเดือดจริงๆ

David Ginola said...

สวัสดีคับพี่กระต่ายน้อย (ผมก็เริ่มทนไม่ได้กับชื่อนี้เหมือนกันแล้วนะคับ มันแบบ...รับไม่ได้!) ดีใจที่แวะมาทักทายกัน ตัวผมยังคงค้นหาทางเดินให้ชีวิตตัวเองอยู่ อนาคตยังไม่แน่ใจนัก ว่าแต่ว่าเมื่อไหร่พี่จะอัพบล็อกของพี่เสียทีล่ะคับ กำลังยุ่งกับงานหรือยุ่งเรื่อง "อื่น" อยู่คับ? =) ยังไงพี่กระต่ายน้อยก็รีบเขียนอีกเร็วๆนะ รออ่านอยู่

David Ginola said...

ขอบคุณอาจารย์ corgiman ครับ

ผมเข้าไปอ่านรีวิวของ daniel drezner มาแล้ว ดุเดือดใช้ได้ แต่ผมว่า counter-arguments ของเขาอ่อนไปหน่อยนะครับ

เดี๋ยวว่าจะเข้าไปหารีวิวของ easterly อ่านดูบ้าง คงจะดุเดือดอีกเช่นกัน