Friday, May 20, 2005

'Civilization' - the Best Strategy Game ever!

วันนี้ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องอะไรที่มีสาระสักเรื่อง แต่สมองมันไม่ค่อยจะทำงานซักเท่าไหร่นัก มันเหนื่อยๆเบลอร์ๆ คิดอะไรไม่ค่อยออกครับ ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะสิบวันที่ผ่านมาผมต้องเผชิญกับการสอบมิดเทอมสามวิชา และการสอบเก็บคะแนนเล็กๆอีกสามครั้ง

ก็เลยเปลี่ยนใจมาเขียนเรื่องอะไรเบาๆสบายๆดีกว่า วันนี้จะเขียนเรื่องเกมครับ

ผมเล่นเกมอยู่สองประเภท เกมเกี่ยวกับกีฬา (CM, Winning, Madden) กับเกมวางแผนหรือที่นักเล่นเกมเรียกกันว่าเกม strategy

หากพูดถึงเกม strategy ดังๆ นักเล่นเกมบ้านเราทั้งพวกสมัครเล่นและพวกมืออาชีพคงจะนึกถึง Warcraft, Starcraft, Command and Conquer เป็นเกมแรกๆ

แต่สำหรับผม เกม strategy ที่เด็ดที่สุดเท่าที่ผมเคยเล่นมาคือเกม Civilization ครับ (หรือเรียกสั้นๆว่า CIV)

ในต่างประเทศ CIV เป็นเกมที่มีคนเล่นติดกันงอมแงมอยู่เยอะมากครับ แต่ว่าเกมนี้กลับไม่ค่อยเป็นที่นิยมในหมู่นักเล่นเกมเมืองไทยซักเท่าไหร่ เหตุผลคงเป็นเพราะเกมนี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างจากเกม strategy ทั่วไปอยู่มากพอสมควร และมีรายละเอียดวิธีการเล่นและเทคนิคการเล่นมาก ต้องใช้เวลาศึกษานาน ต้องอ่านคู่มือการเล่นที่เป็นภาษาอังกฤษ (คู่มือเกมภาษาไทยเขียนแบบอ่านไม่ค่อยรู้เรื่อง) นักเล่นเกมบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรงนักเลยไม่นิยมเล่นกัน

แต่ถ้าลองได้ศึกษาให้เข้าใจวิธีการเล่นดูแล้ว ผมเชื่อว่าทุกคนคงจะติดงอมแงมไม่แพ้ติด CM หรือ FM แน่นอนครับ!

กรณีของผมเป็นกรณีตัวอย่างได้อย่างดีครับ

ผมรู้จัก CIV เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมานี้เอง ผมไปเดินห้าง Target อยู่ดีๆ ก็เจอเซ็กชั่นเกม เลยแวะเข้าไปเยี่ยมชมว่ามีเกมอะไรน่าสนใจบ้าง ไม่รู้ผมนึกยังไงเหมือนกันผมถึงได้หยิบเกม Civilization III ขึ้นมาดู อ่านดูหลังกล่องมันก็เขียนประมาณว่า เราจะได้ปกครองประเทศและวางแผนสร้างประเทศ สร้างอารายธรรมของเราตั้งแต่ยุค 4000 ปีก่อนคริสตกาล ไปเรื่อยๆจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนี้ หลังกล่องยังมีคำนิยมจากนิตยสารเกมหลายเล่น มีอยู่เล่มหนึ่งถึงกับบอกว่าเกมนี้เป็น the best strategy game ever!

ฟังแล้วน่าสนใจไหมครับ? ผมอ่านแล้วก็มีอารมณ์ขึ้นมาทันทีเลยครับ ไม่ใช่อารมณ์แบบนั้นนะครับ แต่เป็นอารมณ์อยากลองเล่นครับ... เหลือกล่องเดียวเสียด้วย ต้องรีบซื้อก่อนที่คนอื่นจะมาแย่ง เหลือบไปดูราคา...

$39.99 plus tax!

โอ้พระเจ้า เกมอะไรตั้งพันหก เกมอื่นเค้าขายกันแค่ $25-$30 เอง ผมเลยคิดว่าถ้าอดทนรออีกสักหน่อย กลับบ้านไปเมืองไทยค่อยซื้อคงได้ราคาถูกกว่านี้เยอะ ว่าแล้วก็ตัดใจไม่ซื้อครับ แพงเกิน

ไม่นานหลังจากนั้น โชคก็เข้าข้างผม ผมเจอเพื่อนคนชิลีของผมคนหนึ่งที่เรียน Computer Science ผมถามเค้าว่าเคยเล่นเกม CIV มั้ย เค้าบอกว่าเล่นเป็นประจำเลย สนุกมาก ผมบอกว่าอยากเล่นมากๆ เค้าก็บอกว่าเดี๋ยวเอาแผ่นมาให้ลงแล้วก็ crack ได้ไม่ต้องใช้แผ่น

ผมจำได้ว่าตอนลงเกมตื่นเต้นมาก เกมที่ผมลงเป็น CIV ภาค 3 ครับ (CIV III) ต่อมากลับมาเมืองไทยผมก็ซื้อภาคเสริมคือ CIV III Conquests มาเล่น

ผลก็คือ ผมติดงอมแงมครับ! ช่วงแรกๆจำได้ว่า วันไหนว่างๆก็นั่งเล่นไปเรื่อยตั้งแต่บ่ายๆถึงตีสี่ หยุดพักก็เฉพาะตอนกินข้าวกับอาบน้ำเท่านั้นเอง

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายท่านที่ไม่เคยได้ยินชื่อเกมนี้มาก่อนคงจะสงสัยนะครับว่า CIV เป็นเกมแบบไหน? เล่นอย่างไร? ทำไมถึงสนุกนักหนา? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟังครับ

ภาพใหญ่ๆของเกม CIV ก็คือการปกครองและบริหารอารยธรรมของเราให้เจริญรุ่งเรืองเหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆครับ ตอนเริ่มเกม เราจะต้องเลือกอารยธรรม (civilization) ที่เราจะเล่นเสียก่อน (มีให้เลือกประมาณ 30 อารยธรรม เช่น Greek, Rome, Aztec, China, India, Babylon, Sumeria, England, Spain, France, Zulu etc.)

แต่ละอารยธรรมก็จะมีลักษณะเฉพาะ (civilization traits) ที่แตกต่างกันไปนะครับ ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็จะอิงกับประวัติศาสตร์ของอารยธรรมนั้นๆจริงๆ เช่น Germany เป็นพวก Scientific and Militaristic, India เป็นพวก Religious and Commercial, England เป็นพวก Seafaring and Expansionist, Sumeria เป็นพวก Agricultural and Scientific เป็นต้น ลักษณะพิเศษแต่ละแบบก็จะให้ประโยชน์ในการเล่นเกมแตกต่างกันครับ

พอเราเลือกอารยธรรมของเราแล้ว เราก็ต้องเซ็ตว่าจะให้มีอารยธรรมอื่นๆอีกกี่อารยธรรมบนโลก แล้วก็เริ่มเล่นได้เลยครับ อย่าลืมนะครับว่าเป้าหมายการเล่นคือสร้างอารยธรรมของเราให้ยิ่งใหญ่ (ยิ่งใหญ่ในที่นี้มีหลายแบบนะครับ เดี๋ยวผมจะพูดต่อไป) ให้เหนือกว่าอารยธรรมอื่นๆ

เริ่มแรก เกมจะให้คนตั้งถิ่นฐาน (settler) และคนงาน (worker) กับเรามาอย่างละคนครับ เราก็ต้องให้ settlerสร้างเมืองแรกของอารยธรรมของเราก่อนครับ คือตั้งเมืองหลวง แล้วเราก็เริ่มพัฒนาอารยธรรมของเรา โดยเราต้องใช้ให้ worker ทำงาน (งานหลักๆในยุคแรกของ worker คือ สร้างถนน สร้างชลประทานเพื่อการเพาะปลูก สร้างเหมืองเพื่อให้ใช้สร้างสิ่งก่อสร้างต่างๆในเมือง) ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างในเมืองของเรา (เช่น temple, library, barrack สิ่งก่อสร้างแต่ละอย่างก็มี effects ไม่เหมือนกัน) ต้องสร้างกำลังทหารไว้เพื่อบุกประเทศเพื่อนบ้านหรือเพื่อป้องกันประเทศตัวเอง แล้วแต่ยุทธศาสตร์ของเรา และที่สำคัญเราต้องสร้าง settler เพิ่มเพื่อไปตั้งเมืองใหม่ขยายอารยธรรมของเราไปด้วย

นอกจากนี้ เรายังต้องทำวิจัยเทคโนโลยีต่างๆไปพร้อมๆกันด้วยครับ วิจัยตั้งแต่เทคโนโลยียุคแรกๆไปจนถึงยุคสมัยใหม่ ตั้งแต่ bronze working, iron working, monotheism, ไปเรื่อยๆจนถึง democracy, industrialization, synthetic fiber etc. พอเราวิจัยเทคโนโลยีแต่ละอย่างเสร็จ มันก็จะทำให้สามารถสร้างสิ่งปลูกสร้าง, สิ่งมหัศจรรย์ของโลก (Wonders), หรือสร้างยูนิตทางทหารใหม่ๆ หรือให้ระบบการปกครองแบบใหม่แก่เรา เช่น พอวิจัย literature เสร็จ เราก็จะสร้าง library ได้ หรือเมื่อวิจัย steam power เสร็จ เราก็จะสร้าง railroad ได้ หรือเมื่อวิจัย music theory เสร็จ เราก็จะสร้าง Bachs' Cathedral ได้ เป็นต้น

อ้อ ลืมบอกไปครับว่าเกมนี้เป็น turn-based strategy คือเล่นแบบทีละเทิร์นๆไปเรื่อยๆ พอเราเล่นจบหนึ่งเทิร์น AI ที่ควบคุมอารยธรรมอื่นๆก็จะเล่นเทิร์นนึง ลักษณะแบบนี้ทำให้เราไม่ต้องเร่งแข่งกับเวลาครับ ค่อยๆคิดไปได้ในแต่ละเทิร์น ไม่เหมือนเกมอย่าง starcraft ที่ไม่มีเทิร์น เล่นไปเรื่อยๆ ต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอด

เมืองแต่ละเมืองจะมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่สามอย่างครับ อย่างแรกคืออาหาร (food) อย่างที่สองคือ shields อย่างที่สามคือการค้า (commerce)

food เป็นตัวกำหนดว่าเมืองแต่ละเมืองจะโตเร็ว (ประชากรเพิ่มขึ้นเร็ว) แค่ไหน ส่วน shields นั้นเป็นเสมือนวัตถุดิบในการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ถ้าเมืองไหนมี shields เยอะก็จะสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆได้เร็ว ส่วน commerce ก็คือเงินรายได้ของเมือง ถ้ามีเงินเยอะก็สามารถใช้เงินในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับอารยธรรมอื่นๆได้ และก็สามารถใช้เงินเพื่อสนับสนุนการวิจัยเทคโนโลยีได้

พื้นที่ที่เมืองของเราตั้งอยู่ก็ไม่ได้เหมือนกันทุกที่นะครับ บางที่เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำ (ก็จะมีอาหารหรือ foodเยอะ) บางที่เป็นเนินเขา (ก็จะมี shields เยอะ) บางที่เป็นป่า เป็นทะเลทราย เป็นทะเล ทะเลสาบ หรือแม้แต่ภูเขาไฟ

นอกจากนี้ เรายังต้องพยายามแย่งชิงทรัพยากรต่างๆ ที่จะปรากฎบนแผนที่ ทรัพยากรที่ว่านี้ก็สำคัญต่อเกมมาก ทรัพยากรบางอย่างเราต้องมีเพื่อผลิตยูนิต (เช่น การสร้าง swordman ต้องใช้ทรัพยากร iron, การสร้าง battleship ต้องใช้ oil) บางอย่างเป็น luxury resource คือทำให้ประชากรในประเทศของเรามีความสุข (ถ้าเราดูแลอาณาจักรของเราไม่ดี คนก็จะไม่ happy อาจทำให้เกิด civil disorder ได้)

ผมชอบ CIV เพราะมันทำให้เราได้คิดวางแผนบริหารบ้านเมืองภายใต้ทรัพยากรที่มีจำกัด เราต้องคิดอยู่ตลอดเวลาว่าจะสร้างอะไรก่อน สมมติเราเลือกสร้าง temple มันก็จะมี trade-off คือเราจะไม่ได้สร้างทหารในเทิร์นนั้น บางครั้งเราก็ต้องตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น สมมติในอาณาเขตเราไม่มีทรัพยากรสำคัญเช่นน้ำมัน เราก็ต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรดี จะพยายาม trade กับประเทศอื่น (ซึ่งจะทำให้เรา dependent on that country) หรือจะก่อสงครามบุกประเทศที่มีน้ำมันดี เกมทั้งเกม (540 turns) ก็จะดำเนินไปแบบนี้เรื่อยๆครับ จนกว่าจะมีผู้ชนะ

วิธีการที่จะได้รับชัยชนะชั้นมีหลายวิธีครับ สำหรับคนที่ชอบรบ ชอบทำสงคราม อาจจะชนะแบบ domination หมายถึงอารยธรรมของเราครอบครองพื้นที่ 66% ของโลกและครอบครองประชากร 66% ของประชากรโลก หรือไม่ก็อาจจะชนะแบบ conquest คือกำจัดทุกประเทศให้หมดไป ถ้าใครชอบสันติภาพก็สามารถชนะแบบสันติวิธี คือชนะแบบ Culture หรือวัฒนธรรม การชนะแบบนี้เราจะต้องสร้างสิ่งก่อสร้างที่มีวัฒนธรรมสูงไว้ในเมืองเยอะๆ (สิ่งก่อสร้างที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้จะผลิตคะแนนวัฒนธรรมทุกๆเทิร์น) หรืออาจจะชนะแบบ Diplomacy หรือการทูต โดยเราจะต้องได้รับเลือกด้วยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของทุกประเทศให้เป็นผู้นำของสหประชาชาติ (UN) และท้ายที่สุด เราสามารถชนะด้วยวิธี Space Race นั่นคือประเทศที่วิจัยเทคโนโลยีต่างๆได้เร็วจนสามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปได้เป็นชาติแรก

ถ้าเกมดำเนินไปจนถึงปี 2050 โดยไม่มีผู้ชนะด้วยวิธีการใดๆเลย อารยธรรมที่มีคะแนนสูงสุดจะเป็นผู้ชนะ ซึ่งคะแนนนี้จะคำนวณจาก power และ culture ตลอดช่วงเวลาตั้งแต่ก่อตั้งอารยธรรมเป็นต้นมาครับ

เหตุผลหลักที่ผมติดเกมนี้จนงอมแงมคงเป็นเพราะว่า เกมนี้มันเหมือนกับแบบจำลองของโลกความจริงในหลายแง่มุมครับ ถึงแม้จะไม่ได้เหมือนไปเสียทุกมุม แต่เวลาเล่นเกม CIV แล้ว มันทำให้ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้นำประเทศทั้งหลายมากขึ้น ว่ามันต้องมองภาพกว้างภาพรวมให้ออก ต้องคิดและเลือกจุดหมายปลายทางที่เราต้องการให้ประเทศเราเดินไป (เราจะเน้นพัฒนาเทคโนโลยี หรือเน้นสร้างกองทัพแข็งแกร่งเพื่อขยายอาณาเขต หรือเน้นสร้างวัฒนธรรม) โดยต้องคำนึงถึงสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ แล้วจึงวางยุทธศาสตร์และใช้กลยุทธ์ต่างๆเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น อีกทั้งยังต้องบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้เกิดความผาสุกไปทั่วทั้งอาณาจักร

เราเล่นไปมากๆก็ไม่เบื่อนะครับ เพราะอย่างที่ผมบอกไว้ตอนต้นว่าแต่ละอารยธรรมจะมีลักษณะพิเศษ (traits) ที่แตกต่างกัน ถ้าเราเล่น Egypt (Religious and Industrious) จบเกมนึง เราก็อาจจะเปลี่ยนไปเล่น Germany (Militaristic and Scientific) เพราะอย่าลืมครับ ว่า trait แต่ละแบบนั้นให้ประโยชน์กับอารยธรรมแตกต่างกันไป เช่น Religious ทำให้เราสร้าง temple, cathedral ได้เร็วขึ้น Scientific จะให้เทคโนโลยีบางอันแก่เราโดยไม่ต้องเสียเวลาวิจัย เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ก็เป็นลักษณะของเกม CIV แบบคร่าวๆนะครับ ถ้าใครชอบเล่นเกมสไตล์ strategy แล้วละก็ ผมว่าพลาดเกมนี้ไม่ได้เลยนะครับ ผมว่ารูปแบบเกมมันไม่ซ้ำกับเกมอื่นๆเลยครับ เล่นแล้วได้ใช้สมองแบบสนุกๆ ได้ความบันเทิง และได้มุมมองใหม่ๆด้วยครับ ลองหาซื้อดูได้ครับ CIV III + Conquests Expansion Pack ครับ และถ้าเล่นแล้วติดใจ ปลายปีนี้ เราก็จะได้พบกับภาคใหม่นั่นก็คือ CIV IV ครับ

ผมขอตัวไปเล่น CIV ก่อนนะครับ


5 comments:

David Ginola said...

ขอโทษครับที่เขียนยาวมาก พอเขียนเสร็จมานั่งดูถึงได้รู้ ไว้คราวหน้าจะเขียนให้กระชับกว่านี้ครับ

อ้อ ถ้าสนใจเกม CIV ละก็ ลองเข้าไปได้ที่
www.civfanatics.com ครับ

pin poramet said...

พื้นที่ของเรา

เขียนไปเลย ไม่ต้องมีข้อกำหนดเรื่องขนาดความยาว

ที่เขียนก็อ่านสนุกดี และก็ยังยาวสู้ผมกะนิติรัฐไม่ได้หรอก (ฮา)

ผมอ่านข่าวเวปผู้จัดการ 1-2 วันนี้ เห็นคนบางคนเขียนแสดงความเห็นแล้วโลกหม่นหมอง

ประเภทเขียนว่า "ยาวจัง ช่วยสรุปหน่อย" "ใครก็ได้สรุปประเด็นให้หน่อย"

วัยรุ่นเซ็ง

วันหลังต้องมานั่งวิพากษ์วัฒนธรรมแดกด่วนพวกนี้หน่อย

อ่านหนังสือกันบ้างเถิดพี่น้องครับ ใช้สมองเรียนรู้กันให้มากเถิดพี่น้องครับ

David Ginola said...

ขอบคุณครับจารย์

วันก่อนผมก็เห็นเหมือนกันในเว็บผจก. เรื่องที่อ.รังสรรค์วิพากษ์ mc journalism ภายใต้ระบบทักษิณ มีคนโพสต์ประมาณว่า "ลงยาวจัง สรุปความหน่อย"

ผมว่ามันเป็นนิสัยคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ชอบอะไรง่ายๆ สบายๆ เป็น non-reading culture ยกเว้นถ้าเป็นข่าวซุบซิบบันเทิงเริงรมณ์ยาวๆเนี่ยอ่านได้ไม่มีบ่น (เช่น ซ้อเจ็ด)

ผมก็เลยโพสต์ไปบ้าง ว่าเมื่อก่อนข่าวสัมมนาเค้าชอบลงสั้นๆ แต่สาระใจความมักไม่ค่อยจะได้เรื่อง หลายครั้งเนื้อหาก็บิดเบือน ดังนั้น ควรจะลงยาวๆ ลงทั้งหมดที่ผู้บรรยายเค้าพูด เพื่อให้เนื้อหาครบถ้วนสมบูรณ์

Anonymous said...

I have a love/hate relationship with digital memory because of how prices are always falling. I absolutely hate buying SD Cards for my R4 / R4i at (seemingly) a cheap price only to see it become a whole lot cheaper a couple of months later.

(Posted by Nintendo DS running [url=http://cryst4lxbands.blog.com/2010/01/31/will-the-r4-or-r4i-work/]R4i DSi[/url] Post4i)

Anonymous said...

สปา



by free play game