Saturday, June 04, 2005

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น


ช่วงนี้ผมกำลังยุ่งๆกับการสอบ final ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์นี้ เลยไม่ค่อยมีเวลาอัพบล็อกสักเท่าไหร่ ไม่รู้ทำไมมหาลัยผมถึงได้สอบช้ากว่าชาวบ้านเค้าขนาดนี้ เพื่อนๆผมส่วนใหญ่ก็ปิดเทอมกันไปหมดแล้ว ช่างน่าอิจฉาเสียจริง

วันก่อนเข้าไปอ่าน "คำให้การของ Anakin" ของอาจารย์ปิ่น อ่านจบแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจทำให้ผมนึกถึงบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนไว้ปีกว่าๆมาแล้ว ผมเขียนลงตีพิมพ์ในวารสาร be Political Economy ซึ่งนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) กลุ่มหนึ่ง (รวมทั้งผมด้วย) ได้ริเริ่มทำขึ้น

ผมกลับไปอ่านบทความชิ้นนั้นอีกครั้ง เพื่อดูว่าความคิดของผม ณ เวลานั้น เป็นเช่นไร เหมือนหรือแตกต่างจากความคิดของผม ณ เวลานี้อย่างไรบ้าง ผมพบว่า ความคิดผมเปลี่ยนไปบ้างในบางเรื่อง เวลาปีกว่าๆที่ผ่านมาสอนผมหลายอย่าง มันทำให้ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งที่ผมเคยเขียนลงในบทความ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ผมรู้สึกเห็นด้วยมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ย้อนไปตอนหลังจากบทความได้ลงตีพิมพ์ไปไม่นาน มีอาจารย์บางท่านและรุ่นพี่หลายคนบอกว่าชอบงานเขียนชิ้นนี้ ผมจำได้ว่ามีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะท่านหนึ่งส่งอีเมลล์มาบอกว่าในคณะมีอาจารย์ดีๆหลายคนพยายามต่อสู้กับปัญหาสารพัดอยู่ รู้สึกดีใจและมีกำลังใจมากขึ้นหลังได้อ่านงานเขียนของผม

ตอนนั้น ผมรู้สึกดีใจมาก... ดีใจเพราะว่า ถึงแม้งานเขียนของเราจะไม่ได้เพอร์เฟคเลิศเลออะไร แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ส่ง "กำลังใจ" ให้กับคนดีๆที่พยายามทำสิ่งดีๆท่ามกลางอุปสรรคปัญหาต่างๆมากมาย

บทความนี้จึงเป็นงานเขียนของตัวเองชิ้นที่ผมชอบมากที่สุดครับ

ไหนๆช่วงนี้ผมก็ยุ่งๆกับการสอบอยู่ ก็ขอนำงานเขียนเก่าชิ้นนี้มานำเสนอแล้วกันนะครับ

......

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น

สองปีที่แล้ว ผมเข้ามาเรียนที่โครงการภาคภาษาอังกฤษ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยความมุ่งมั่นจะแสวงหาวิชาความรู้ไปพัฒนาสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

เป็นเวลาสองปีที่ผมได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เต็มไปหมด

ความรู้ต่างๆ ที่ผมได้รับไม่จำกัดอยู่เฉพาะในตำราเรียน แต่ยังรวมถึงความรู้นอกตำรา ทั้งจากการอ่านบทความและสื่อหนังสือต่างๆ ทั้งจากการสนทนากับพี่ๆ และอาจารย์ และทั้งจากการเข้าร่วมวงสัมมนาเชิงวิชาการต่างๆ

ส่วนใหญ่ งานเขียนที่ผมอ่านและการสนทนาของวงสัมมนาต่างๆ จะเป็นการเสนอความคิดเห็นและการถกเถียงกันในประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, นโยบายประชานิยม, การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) และอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและสังคม

แต่บางครั้ง ผมเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ มันมากเกินไป ซ้ำซากจำเจ วกไปวนมาไม่รู้จบ

จนบางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “เอียน” กับการถกเถียงทางวิชาการเหล่านี้

อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “สับสนวุ่นวาย” ในจิตใจ

อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า “เรียนไปทำไม เถียงกันไปทำไมกัน?” หากสิ่งที่พูดหรือสิ่งที่เถียงกันนั้น มันไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรสักเท่าไร

คือ มีแต่คน “พูดๆๆๆๆ” และ “เขียนๆๆๆๆ” แต่น้อยนักที่จะเห็นคน “ทำ” จริงๆ

---------------

เรามักได้ยินปัญญาชนคนดีหลายๆคนพูดว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ทำอะไรให้สังคมในวงกว้างไม่ได้สักเท่าไรหรอก จะเข้าไปทำการเมืองก็ไม่ได้ เพราะการเมืองสกปรก ระบบไม่เปิดโอกาสให้คนดีผู้ยึดถืออุดมคติเข้าไปทำหรอก เข้าไปมีแต่จะทำให้ตัวเองสกปรกเปล่าๆ”

การเมืองไทยมันแย่มาแทบทุกยุคสมัย คนดีๆที่เข้าไปถูกกลืนไปเสียหมด นักวิชาการส่วนใหญ่จึงคิดว่า นี่เป็น “อนิจลักษณะของการเมืองไทย” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมรู้สึกว่าเขามองโลกในแง่ร้ายเกินไป

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขายังยึดมั่นถือมั่นใน “ทฤษฎี” มากจนเกินไป

ถามว่าทฤษฎีเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบก็คือมาจากการศึกษาสิ่งต่างๆในอดีตแล้วประมวลออกมาเป็น “ทฤษฎี” ดังนั้นในความคิดของนักวิชาการ ทฤษฎีจึงเป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ทฤษฎี” ของนักวิชาการส่วนใหญ่ อธิบายว่าการเมืองมันแย่ คนดีเข้ายาก เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เป็นที่ของคนไม่ดีให้เข้าไปหาประโยชน์เข้าตัว

ผมอยากจะแย้งกลับไปว่า “ก็คุณมัวแต่คิดอย่างนี้ การเมืองมันถึงได้เป็นเช่นนี้นั่นแหละ”

ทำไมไม่รู้จักคิดถึงพระราชดำรัสในหลวงที่สอนว่าเราควรขัดขวางไม่ให้คนไม่ดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง

นี่กระมังที่เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการและปัญญาชนส่วนใหญ่

ความเชื่อถือใน “อดีต” นั้นสูงเสียจนพวกเขาคิดว่า มันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “การคิดในเชิงบวก” และ “การมองโลกในแง่ดี” อันเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของ “การเปลี่ยนแปลง”

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” อันเป็นของขวัญชิ้นล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด

อยากให้ระลึกถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า

“Imagination is more important than knowledge.” จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

และคำพูดของ Karl Marx ที่ว่า

“Philosophers have only interpreted the world. The point, however, is to change it.”

เราควรจะพูดให้น้อยลง แต่ลงมือทำกันมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

---------------

ในหนังสือ “มองโลกง่ายง่าย สบายดี” นั้น “หนุ่มเมืองจันท์” ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “ต้นน้ำแห่งอุดมคติ” ผลงานเขียนของพระไพศาล วิสาโล มาอธิบายให้แง่คิดในเรื่อง “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ได้อย่างดี

กล่าวโดยสรุป “ต้นน้ำ” นั้นใสสะอาดบริสุทธิ์ดั่ง “อุดมคติ” แต่ต้นน้ำกว่าจะไหลมารวมกันเป็น “แม่น้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือน “ขบวนการ” นั้น ย่อมต้องเจือจางอะไรต่อมิอะไรมากมาย

แต่ถึงแม้จะมีสิ่งเจือปนอยู่มาก แม่น้ำก็นำพาประโยชน์มาสู่มหาชนได้อย่างมหาศาล

เปรียบดั่งขบวนการที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้นั้น ย่อมต้องรู้จักยืดหยุ่นและไม่ยึดติดในอุดมคติมากเกินไป อุดมคติดั้งเดิมย่อมต้องเจือจางไปบ้าง แต่ต้องไม่ให้เจือจางเกินไป

ทั้ง “ต้นน้ำ” และ “แม่น้ำ” หรือ “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ต่างก็มีความสำคัญ มีบทบาทของตนเอง

เราสามารถเลือกที่จะเป็น “ต้นน้ำ” คือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังทางสติปัญญา หรือเป็น “แม่น้ำ” คือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ในความคิดของผม สังคมไทยมีคนที่เป็น “ต้นน้ำ” ที่ใสบริสุทธิ์อยู่มากพอควรแล้ว แต่ยังขาดคนที่เป็น “แม่น้ำ” ที่ดีอยู่

พวกที่เป็น “ต้นน้ำ” ส่วนมากมีข้อจำกัดหลายอย่าง และไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถทำอะไรในวงกว้างได้

ส่วนพวกที่เป็น “แม่น้ำ” ในปัจจุบัน (ผมหมายถึง ผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งในรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ) ก็เป็นมลพิษเน่าเสีย ให้โทษมากกว่าให้คุณแก่สังคม

ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นปัญญาชนในสังคมร่วมกันสร้าง “แม่น้ำ” ที่ดี ให้แก่สังคมไทยด้วย คือ กล้าที่จะรวมตัวกันและเป็นผู้นำในการสร้างขบวนการที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงขึ้น มิใช่แต่จะคอยเป็น “ต้นน้ำ” สายเล็กๆ เพียงอย่างเดียว

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ใน “สันติประชาธรรม” ว่า

“ในบรรดาประชาชนนั้น ไม่ว่าแห่งใด ย่อมมีผู้นำ ในกรณีนี้คือ ผู้ที่ได้สำนึกแล้วในสิทธิเสรีภาพ และใครเล่าที่ได้สำนึกเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้มีวาสนาได้รับการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมีวาสนาถึงเพียงนี้ ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น การนำไม่ใช่เป็นสิทธิหรืออภิสิทธิ์ แต่เป็นหน้าที่”

ผู้ใหญ่ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อได้อ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยนี้แล้ว ควรย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ได้ทำ “หน้าที่” ในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ดีแล้วหรือยัง?

---------------

ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาเกือบสองปีแล้ว…

ผมรู้สึกแปลกใจที่ยังไม่มีอาจารย์ท่านใดนำงานเขียนของอาจารย์ป๋วย “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” มาเผยแพร่ให้ผมกับเพื่อนๆ ในชั้นได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำวิถีชีวิต คุณงามความดี และหลักการในการดำรงชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่ให้นักศึกษาได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำแนวคิด “สันติประชาธรรม” ของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์น้อยคนนักที่สอนให้นักศึกษาได้รู้ถึง “ความหมาย” ที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์ ความหมายที่ลึกซึ้งกว่า “การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ” จนบางครั้งผมอดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์ท่านรู้ถึงความหมายที่แท้จริงนี้หรือไม่…

และผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์แทบจะไม่เคยพูดถึงหลัก “ธรรม” อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยเลย

หาก “ศาสตร์” ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนขาด “ธรรม” นำทางแล้ว ความรู้ต่างๆ จะมีประโยชน์กับสังคมได้อย่างไร กลับกันอาจเป็นโทษแก่สังคมด้วยซ้ำ หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า

“การเรียนอย่างฝรั่งนั้น พัฒนาได้เพียงแค่หัวสมอง ถ้าธาตุแท้ของคนไม่มีดีเสียแล้ว ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปเพียงใด มันก็ยิ่งโกงและกอบโกยได้มากเพียงนั้น”

ผมอยากให้อาจารย์ผู้สอนเศรษฐศาสตร์และวิชาการทุกสาขาคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เพราะหากอาจารย์สอนแต่หลักวิชา โดยขาดการสอนคุณธรรมด้วยแล้ว มันจะเป็นโทษต่อสังคม มากกว่าเป็นประโยชน์ และหากเป็นเช่นนี้ จะมีการศึกษาไปเพื่ออะไรกัน?

แต่ผมยอมรับว่า “ธรรม” นั้น สอนยากกว่า “ศาสตร์” นัก แต่ถ้าจะให้มี “ศาสตร์” ที่ปราศจาก “ธรรม” แล้ว มันก็เหมือนกับมี “สมอง” แต่ไร้ซึ่ง “หัวใจ”… ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า ไม่มี “ศาสตร์” เสียเลยจะดีกว่า

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับ “ความหมาย” ของเศรษฐศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่า “เนื้อหา” ของเศรษฐศาสตร์

ผมอยากเห็น normative economics ไม่น้อยไปกว่า positive economics มิใช่มีแต่ positive อย่างเดียว เพราะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นร่างที่ไร้จิตวิญญาณ

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเราให้ความสำคัญกับ เศรษฐศาสตร์นอกกระแสต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ หรือความคิดแบบ Small is Beautiful ของ E.F. Schumacher ไปจนถึงพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเช่นกัน

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ตระหนักถึงข้อจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์ และตระหนักถึงความจริงที่ว่า “The really serious matters in life cannot be calculated.” (Schumacher, 1973) สิ่งที่สำคัญในชีวิต ดังเช่นความสุขของมนุษย์ ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับข้อเขียนของ Schumacher ใน Small is Beautiful ที่ว่า

“…greed and envy demand continuous and limitless economic growth of a material kind, without proper regard for conservation, and this type of growth cannot possibly fit into a finite environment… infinite growth of material consumption in a finite environment is an impossibility…”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา สอนให้นักศึกษารู้จัก limit wants ของตัวเองบ้างคือ ละความโลภ ความเห็นแก่ตัว รู้จักพอ และรู้จักให้บ้าง มิใช่สอนแต่ว่ามนุษย์มีความเห็นแก่ตัว มีความต้องการไม่สิ้นสุด การสอนเช่นนี้อาจทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่เห็นแก่ตัวเสียเอง

ผมอยากเห็นวิชาเศรษฐศาสตร์มี “ชีวิต” มากกว่านี้ และ “บูรณาการ” มิติต่างๆทางสังคม มิใช่มีแต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเต็มไปด้วยกราฟ และสมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงไปหมดเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ผู้ใหญ่และนักศึกษาในคณะ ระลึกถึงอาจารย์ป๋วย และระลึกถึงข้อเขียนของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ใน “บทเรียนจากการตายของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์” ว่า

“…สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ยกเอานายป๋วยเป็นดังบิดานั้น ก็จงอย่าทำตัวเป็นอวชาตบุตร โดยที่จะเป็นอภิชาตบุตรได้ ต้องเข้าใจถึงเศรษฐศาสตร์อย่างที่เป็นองค์รวม อย่างที่ท้าทายกระแสหลัก ด้วยการหันเอาเศรษฐศาสตร์มาสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ในการอยู่ข้างคนยากไร้… หาทางโยงหัวสมองมาสู่หัวใจ…นี้แล คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา อย่างเป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าอามิสบูชาด้วยวิธีอื่นๆ”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็น “แม่น้ำ” แห่ง “ธรรม” นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามมาสู่สังคมไทย (อีกครั้ง)




9 comments:

pin poramet said...

โอ้ ยังสอบไม่เสร็จอีกหรือเนี่ย ช้าจริงๆ

ว่าแต่เอกจะกลับเมืองไทยเมื่อไหร่

Anonymous said...

ส่วนบทความที่คุณเขียนเมื่อปีกว่าๆ ผมเองไม่สู้จะเห็นด้วยในหลายประเด็น เปล่าผมไม่ได้เห็นด้วยเรื่องของหลักการคุณธรรม คนจน คนยากไร้ ในหลวง ดร.ป๋วย ฯลฯ หรอกครับ

แต่ผมไม่อยากอ่านข้อเขียนหรือวาทะของการแลกเปลี่ยนความเห็นที่เต็มไปด้วยประโยคดังกล่าว ผมรู้สึกว่ามันไม่ได้ช่วยก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนแสดงความเห็นอะไรเลย ที่คุณเขียนเมื่อ2ปีก่อน มันเหมือนพวกNGOที่แสดงความเห็นต่อทุกประเด็นปัญหาในโลกนี้แทบทุกเรื่อง ครับ

ทั้งหมดไม่ใช่ว่ามันดีหรือไม่ดีนะครับ แต่มันไม่เปิดพื้นที่หรือปัญญาให้เกิดการถกเถียงอะไรเลย ผมนึกไม่ออกว่าจะไปแสดงความคิดเห็นต่างกับคุณ และคุณจะเข้าใจได้อย่างไร ในเมื่อข้อเขียนคุณเต็มไปด้วย คนจนผู้น่าสงสาร ความยากไร้ ในหลวง ดร.ป๋วย คุณธรรม การละกิเลสและ ฯลฯ

ถ้าให้เดา ตอนที่คุณเขียน ข้างหลังและจิตสำนึกของคุณ คงยืนหยัดอยู่ กับคุณธรรม คนจน ในหลวง ดร.ป๋วย การละกิเลส และ ฯลฯ

ถ้าผมเห็นต่างจากคุณทั้งหมดในข้อเขียนนั้น คุณจะคิดว่าผมเป็นฝ่ายตรงข้าม คุณธรรม คนจน ในหลวง ดร.ป๋วย การละกิเลส และ ฯลฯ ?ไหมครับ

ถ้าเขียนอย่างไม่เกรงใจ ข้อเขียนของคุณเมื่อปีก่อนเหมือน โฆษณาชวนเชื่อมากกว่างานเขียนเชิงวิชาการหรืองานเขียนที่มีรากฐานตรรกะที่ชัดเจน แสดงความลุ่มลึกของปัญญา (เห็นว่าอยู่บ้านนอกแบบ คุณปิ่น จึงเขียนตรงๆ แบบฝรั่งไม่กลับกลอกเหมือนคนไทยเวลาวิจารณ์หรือแสดงความเห็นหวังที่แตกต่าง หวังว่าคงเข้าใจและไม่โกรธขึ้งบึ้งตึงนะครับ)

Steelers(钢人) said...

แม้คุณปริเยศจะพูดถูก แต่ผมก็คิดว่าข้อเขียนนี้มีจุดดีอยู่มากมายที่สมควรได้รับคำชมครับ ถึงแม้บทความนี้จะไม่เปิดพื้นที่เอาไว้ให้ถกเถียงดังที่คุณปริเยศว่า แต่อย่างน้อยมันก็เเสดงให้เห็นถึงเป้าหมายแห่งการพัฒนา ที่คนทั่วไปยังไม่ได้คิดภาพถึง ดังข้อเขียนของอาจารย์ป๋วย เรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่ถึงแม้จะไม่ได้บอกวิธีที่จะทำให้มันเกิดขึ้นจริง แต่อย่างน้อยก็บ่งบอกว่าสังคมที่พึงปราถนาที่เราควรจะช่วยทำให้มันเกิดขึ้น มันเป็นอย่างไร

Anonymous said...

ผมอยากจะชี้แจงเพิ่มนิดเดียวครับ ตอนยังเด็ก ผมเองเหมือนกับเจ้าของบล็อกนี่แหละครับ

สมัยยังอยู่ปี1 เวลาผมแสดงความเห็นหรือเขียนงาน เพื่อสื่อความคิดใดๆในเชิงสังคมก็ตาม ผมจะเขียนคล้ายๆกับ งานเขียน "แม่น้ำแห่งธรรม" เมื่อมีคนมาเถียงหรือคัดค้าน ผมเองแม้จิตใจเปิดกว้างต่อคำวิจารณ์ แต่อดหงุดหงิดกับสังคมไม่ได้ ว่าทำไมคนในสังคมนี้จึงไม่สนใจในประเด็นดีๆ ที่ผมเสนอ

อธิบายอย่างง่ายๆ คือแม้ผมจะไม่โกรธขึ้งต่อคำวิจารณ์หรือความไม่เห็นด้วย แต่ผมอดหงุดหงิดไม่ได้ ที่คุณค่าที่ผมใส่ในงานเขียน ไม่ถูกสนใจโดยคนอ่าน....

แต่พอโตขึ้นมา อ่านมาก คิดมากขึ้น เห็นโลกมากขึ้น คุยกับคนอื่นๆมากๆขึ้น ผมพบว่าผมโง่ไปถนัดใจเลยทีเดียว เพราะอันที่จริงแล้ว คุณค่าที่ผมยึดถือมันไม่ต่างอะไรกับหลักการตายตัวที่พิพากษาแล้วว่าคนที่ต่างจากผมคือ บุคคลที่ไม่ยึดถือคุณค่าเช่นเดียวกับผม

ถ้าตามสำนวนงานเขียนแม่น้ำแห่งธรรม คุณค่าในงานเขียนดังกล่าวคือ พระราชดำรัสในหลวง ไอน์สไตน์ มาร์ก คนจน ความเป็นธรรม คุณธรรม สังคมโดยรวม และฯลฯ แต่ถือว่าผมโชคดีที่ผมมีจิตใจเปิดกว้างต่อคำวิจารณ์ ทำให้ความเห็นต่างและคุณค่าที่แตกต่าง ไม่ทำให้ผมปิดกั้นความคิดและปิดหัวใจในการรับฟังคนอื่น จนทำให้ผมมองทะลุถึงขีดจำกัดของความคิดที่ใส่คุณค่าลักษณะดังกล่าวในงานเขียนหรือเมื่อยามที่ต้องสื่อสารกับสังคม


หันกลับมามองสังคมไทยและสังคมโลก เอาง่ายๆ แค่สงครามระหว่างลัทธิทุนนิยม กับลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่รบรากันมาหลายสิบปี เพราะอะไร เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อว่า ความคิดของตนดีที่สุด ช่วยเหลือคนจน ชนชั้นยากไร้และมนุษย์ชาติโดยรวมได้มากที่สุด ซึ่ง ณ วันนี้ ความแตกต่างทางความคิดเรื่องดังกล่าวก็หายไป

สังคมไทยเช่นกัน สงครามกลางเมืองในอดีตระหว่างกองทัพไทยและ พคท. เกิดจากการไม่ประนีประนอมทางความคิดใช่หรือไม่ ผมคงไม่ต้องบอกว่า สงครามกลางเมืองของไทย ยุติลงด้วยวิธีใด

NGOไทย ที่คิดว่าตนเองและความคิดของตนเองเท่านั้นที่นำพาซึ่งแนวทางถูกต้องในการพัฒนา จนกลายเป็นความรุนแรงในการตอบโต้กับแนวทางการพัฒนาของรัฐ

ความแตกต่างทางศาสนา เพราะต่างฝ่ายต่างคิดว่าตนเองอยู่ข้างพระเป็นเจ้า ในขณะที่อีกฝ่ายไม่

ถึงที่สุดแล้ว ใครกันที่อยู่ฝ่ายความคิดถูกต้อง คุณธรรม พระเป็นเจ้า เป็นเรื่องยากจะระบุ
เพราะสัมพัทธิ์ กับเงื่อนไขเวลา สังคม วัฒนธรรม คนและอื่นๆอีกมากมาย แต่การยึดติดว่ามีแต่ความคิดของตนที่อยู่กับพระเป็นเจ้า คุณธรรม คนจน และ ฯลฯ ในขณะที่อีกฝ่ายไม่ คือค้นเหตุของความขัดแย้ง ในอดีตจนถึงปัจจุบัน

ผมอยากให้น้องเจ้าของบล็อกเห็นถึงเงื่อนไขอันนี้ครับ

David Ginola said...

ขอบคุณทุกๆท่านสำหรับคอมเมนท์และคำเตือนครับ

คุณปริเยศพูดถูก ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ข้างหลังผมมี อ.ป๋วย,ในหลวง,คนจนผู้ยากไร้,อุดมคติ ฯลฯ อยู่

ผมคิดว่าการกระทำและความคิดของ อ.ป๋วย และท่านอื่นๆ ต่างก็มีคุณค่าอยู่ในตัว เมื่อผมได้อ่านได้ศึกษา ก็รู้สึกเกิดมีพลัง มีความหวัง มีแรงบันดาลใจ และมีความมุ่งมั่นที่จะต่อสู้กับความโหดร้าย ความไม่เป็นธรรม ความชั่วร้าย และทำให้อะไรต่างๆนานในโลกนี้มัน "ดี" ขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

ผมจึงอยากให้คนอื่นๆได้อ่านความคิดของท่านเหล่านี้บ้าง จะได้มีแรงใจในการทำในสิ่ง "ดีๆ" ยิ่งขึ้น

นั่นคือเหตุผลและเป้าหมายของการเขียนงานชิ้นนี้ขึ้นมา

มันจึงไม่ได้แสดงถึงความลุ่มลึกทางปัญญา และไม่ได้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอะไร ผมเพียงแค่ต้องการสื่อให้คนอ่านได้เข้าใจและรับรู้ถึงความรู้สึกของผมเท่านั้นเองครับ ส่วนคนอ่านจะเห็นด้วยหรือไม่อย่างไรนั้นมันไม่สำคัญ

ขอบคุณคุณปริเยศอีกครั้งที่ช่วยเตือนรุ่นน้องอย่างผมให้เห็นว่าเราไม่ควรยึดติดในความคิดของตนเป็นใหญ่จนมองว่าคนที่คิดไม่เหมือนกันเป็นฝ่ายตรงข้าม

ผมก็รู้สึกเช่นนี้อยู่บ่อยครั้งเวลาได้อ่านได้ฟังเรื่องราวการทุจริต การโกง การกลั่นแกล้ง การใส่ร้ายป้ายสี ฯลฯ ผมมองคนเหล่านี้เป็นฝ่ายตรงข้าม ผมมองว่าเราควรจะต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้ให้มันลดน้อยลง ผมมองว่ามนุษย์ไม่ควรทำร้ายกัน ไม่ควรทำให้คนอื่นเดือดร้อน

แต่ผมไม่เคยมองคน "ดี" คนอื่นๆที่เค้ามีความคิดที่แตกต่างจากผมเป็นฝ่ายตรงข้ามนะครับ กลับกัน ผมรู้สึกชื่นชมหลายท่านด้วยซ้ำ ที่มีความฝัน มีความคิดที่ดีๆ ที่ถึงแม้วิถีทางจะไม่เหมือนผม แต่เราก็มีเป้าหมายคล้ายๆกัน

ผมเข้าใจที่คุณปริเยศเขียนว่า ความคิดที่ถูกต้อง ความดี คุณธรรม มันไม่ตายตัว เพราะมันติดอยู่ในเงื่อนไขของเวลา สถานที่ สังคม ฯลฯ

แต่ผมสงสัยว่าถ้าผมไม่มีความคิด ไม่มีหลักการ ไม่มีวิถีทางของผมในชีวิตแล้ว ผมจะดำเนินชีวิตของผมอย่างไร?

ผมเองเคยถามอาจารย์ท่านนึงซึ่งเป็นเพื่อนกับ Sachs ว่าแนวทางของ Sachs มันดูจะยากที่จะเป็นไปได้ เพราะประเทศร่ำรวยคงจะไม่ยอมทำตาม

อาจารย์ก็ตอบว่า
'You see, in life, you gotta live with your principle. You may not live long enough to see the outcomes of your actions, but you gotta do what you believe is good.'

ถ้าคุณปริเยศบอกว่า ความคิดมันไม่มีใครถูกใครผิด มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆนานา มันไม่มีทางที่ถูกไม่มีทางที่ดีแล้ว ชีวิตคนเราจะเดินไปทางไหนดีล่ะครับ?

ส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อว่าเราทุกคนควรจะมี "หลักการ", "ความเชื่อ" และ "วิถี" ที่จะดำเนินชีวิตของเรา

แต่เราต้องมีสติและปัญญาที่จะตระหนักอยู่เสมอว่า ความคิดของเราไม่ใช่ความคิดที่ยิ่งใหญ่ถูกต้อง เราต้องไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะยอมรับความคิดที่แตกต่าง ต้องไม่สร้างความขัดแย้ง และต้องถือว่าคนที่คิดแตกต่างเป็นกัลยาณมิตร

ที่สำคัญ เราต้องช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนที่เราพบเจอเท่าที่เราจะสามารถช่วยได้

เอาเข้าจริง ผมคิดว่าช่วงเวลาที่ผมจะมีความสุขที่สุดในชีวิต คงเป็นตอนที่ผมได้ช่วยเหลือคนดีๆที่เดือดร้อน ไม่ว่าจะเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ให้เค้าได้ผ่านอุปสรรคปัญหาไปได้ ถ้าตอนผมใกล้ตาย ผมมองย้อมกลับมาแล้วคิดถึงเรื่องเหล่านี้ ผมคงจะตายอย่างสุขใจนัก

Anonymous said...

ผมไม่ใช่Post modern นะครับ จึงไมได้บอกว่าไม่มีถูกหรือผิดตลอดเวลา ในโลกนี้ ..

คำว่าถูกหรือผิด ใช่หรือไม่ใช่ ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ อธิบายได้หรืออธิบายไม่ได้ มันมีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมของมันหลายๆอย่างอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง กาละ เทศะ กลุ่มคน กลุ่มผลประโยชน์ องค์กร สถาบันต่างๆ เขียนง่ายๆคือ ทุกอย่างที่สัมพัทธ์นั่นแหละคือเงื่อนไขแรกที่ควรเข้าใจ

เขียนอย่างข้างบนเข้าใจไหม

อธิบายง่ายๆคือ ยกตัวอย่างเช่น ความคิดเรื่องระบอบประชาธิปไตย อันหนึ่งคือ การมีพรรคการเมืองขนาดใหญ่ 2พรรค ความคิดแบบนี้ใช้ได้ดีกับอเมริกา แต่มีปัญหาเมื่อนำมาใช้กับประเทศไทย

เหตุที่ใช้ได้ไม่ดี เพราะเงื่อนไขสังคมแตกต่างกัน วัฒนธรรม ความคิด ระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และฯลฯ

เช่นเดียวกับความคิดดีๆ ทางเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายเรื่อง ที่นำมาใช้ประเทศไทย คำถามคือ เราเข้าใจเงื่อนไขของสังคมไทยหรือสภาพสัมพัทธ์ของสังคมจริงๆหรือ ก่อนนำความคิดนั้นๆหรือนโยบายนั้นๆมาปรับใช้

ความคิดไม่ใช่ไม่มีถูกไม่มีผิด ในระดับเบื้องต้นความคิด ยังสัมพัทธ์กับเงื่อนไขต่างๆมากมาย ดังที่ผมแสดงในด้านบน เพียงแต่ประเด็นคือ เราเข้าใจเงื่อนไขสัมพัทธ์นั้นๆดีแค่ไหน

ส่วนในระดับปรมัตถ์ ความคิดมีถูกมีผิดหรือไม่มีถูกไม่มีผิดหรือไม่ ผมไม่ทราบและพยายามคิดเรื่องนี้เสมอเวลาว่างๆ

Post Modern อาจจะบอกว่าไม่มี เพราะความถูก ความผิด เป็นวาทกรรมรับใช้คนกลุ่มหนึ่ง เขียนแบบปิ่นปรเมศวร์ คือมันมีการเมืองเบื้องหลังการตีตราถูก ผิดดังกล่าว

ในทางศาสนาพุทธ ทุกอย่างถึงที่สุดเป็น อนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา และนิพพานเที่ยงหรือไม่ ถ้าเที่ยงกฏไตรลักษณ์อย่างอนิจจัง ทำไมใช้กับนิพพานไม่ได้

สิ่งสำคัญที่ผมพยายามเน้นเสมอ หลังจากที่ผมพ้นจากสภาพที่น้องเจ้าของบล็อกเป็น คือการพยายามเปิดพื้นที่ทางปัญญา หรือความมีวุฒิภาวะรับฟังความเห็นต่าง และไม่นำพา สิ่งสมบูรณ์สูงสุดไม่ว่าจะเป็น คุณธรรม วีรบุรุษ มหาบุรุษ คนจนผู้ยากไร้ ติดตัวไปด้วยในการแสดงความคิดความเห็น

ไม่ใช่ เพราะผมไม่ศรัทธา แต่ผมค้นพบอย่างหนึ่ง ถึงแก่นแท้แล้ว ในเรื่องของจิตใจ ปถุชนคนธรรมดามีชั่วๆดีๆ อัตราส่วนไหนมากน้อยกว่ากันเป็นอีกเรื่อง นโยบายหรือผลลัพธ์และการกระทำ ของมหาบุรุษ วีรบุรุษในอดีตในอดีตที่ถูกต้อง ดีงาม ใช่ว่าจะเหมาะสมกับสังคมในปัจจุบัน เพราะเงื่อนไขในอดีตและปัจจุบันต่างกัน

และที่สำคัญ การที่เราไม่นำสิ่งสูงสุดเหล่านั้น หรืออุดมคติทั้งหล่ายแหล่ ติดตัวไปในการสื่อความเห็นต่อสังคมหรือยามแลกเปลี่ยนความเห็น ทำให้พื้นที่มากมายในการถกเถียงและการแลกเปลี่ยนทางปัญญา เหนืออื่นใดคือการลดความขัดแย้งทางความคิด ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งที่ขยายผลเป็นการปะทะ เป็นสงคราม

เพราะแต่ละคนที่มาถกเถียงกัน นำพาสิ่งสูงสุดติดตัวมาเวลาแสดงความเห็น จะมีใครกันที่ฟังใคร ในเมื่อแต่ละท่านล้วนมีมหาบุรุษ คุณธรรมสุงสุด คนจน คนยากไร้และพระเป็นเจ้า อยู่ข้างๆเสมอ

คนที่ไม่เห็นด้วยกับกระแสหลักของสังคม แต่เขาคิดว่าเขาอยู่ข้างพระเป็นเจ้า คนจน คุณธรรมสูงสุด เขาจะทำอย่างไร ไปก่อการร้าย ทำสงคราม หรือไปทำในรูปแบบอื่นๆที่เป็นสันติวิธี

ผมขอย้ำตรงนี้ว่า ในระดับโลกียะ มันมีถูกมันมีผิด มันมีนโยบายที่ใช้ได้และใช้ไม่ได้ บางความคิดใช้อธิบายได้ บางความคิดใช้อธิบายไม่ได้ ทฤษฎีนี้ใช้ได้และใช้ไม่ได้ และ ฯลฯ ซึ่งมันมีเงื่อนไขสภาพแวดล้อมต่างๆและบริบทของเวลา รองรับอยู่

สิ่งสำคัญคือ คุณหรือผมและคนอื่นๆ เข้าใจเงื่อนไขที่ว่านี้ดีแค่ไหน

คุณหรือผม เข้าใจสังคมไทยที่พ้นไปจากกรุงเทพฯดีแค่ไหน

คุณหรือผมเข้าใจคนจนและคนกลุ่มต่างๆดีแค่ไหน

นี่แหละ ผมถึงเรียกร้องการทำวิจัยในระดับมาตรฐานสูง เพื่อที่อย่างน้อย เราจะได้ทราบในเบื้องต้นว่า ประเทศไทย เป็นอย่างไร

แต่เป็นเรื่องน่าเศร้า อย่างที่Corgiman เคยเขียนไว้ ข้อมูลเศรษฐกิจพื้นฐานเชิงวิเคราะห์ของประเทศไทย ไม่มีใครรวบรวมหรือวิเคราะห์ตัวเลขดังกล่าวอย่างเป็นระบบ สังคมไทยโดยรวมจริงๆมันเป็นอย่างไร ก็ไม่เคยมีทำวิเคราะห์วิจัย อย่างเป็นระบบ

ก่อนที่จะนำพาอุดมคติ มหาบุรุษ วีรบุรุษ คุณธรรมสูงสุดและคนยากไร้ เป็นไปเครื่องมือในการเสนอความคิดเห็นต่อสาธารณะ เราเข้าใจสังคมไทยดีหรือยัง เราเข้าใจคนแต่ละกลุ่มดีแค่ไหน เข้าใจผลประโยชน์ ที่อยู่เบื้องหลังแต่ละกลุ่มดีแค่ไหน เข้าใจความคิด ความจำเป็นที่อยู่เบื้องหลังเขาดีแค่ไหน

ที่เขียนยืดยาวทั้งหมดนี้ เพราะเชื่อมั่นในสติปัญญา ความสามารถของเจ้าของบล็อก และเชื่ออย่างยิ่งว่าเจ้าของบล็อกจะทำอุดมคติของตนไม่ว่าจะเป็นส่วนเสี้ยวหรือส่วนใหญ่ ให้เป็นจริงได้ในสังคม

David Ginola said...

เป็นความสับสนของผมเองทำให้ไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่คุณปริเยศเขียนในตอนแรก ขอบคุณที่ช่วยให้ความกระจ่างครับ

ก่อนที่คุณปริเยศจะพูดขึ้นมา ผมไม่เคยคิดมาก่อนเลยจริงๆว่าการนำอุดมคติ คุณธรรม อ.ป๋วย ฯลฯ มาใช้อาจจะทำให้เกิดผลเสียและความขัดแย้งขึ้นมาได้ ต่อไปคงจะต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้น

ทุกวันนี้ผมก็รู้ตัวดีว่า ความเข้าใจในสังคมไทยของผมยังน้อยมากๆ เรื่องในชนบทนี่ผมก็รู้น้อยมาก แม้แต่เรื่องในกรุงเทพฯผมก็ยังไม่รู้อีกเยอะ ตอนนี้ก็คงต้องบ่มเพาะตัวเอง หาความรู้ หาความจริงไปก่อน

ผมคิดว่าสิ่งที่ผมได้จากคำพูดของ อ.ป๋วย, ในหลวง ฯลฯ ในบทความที่ผมเขียนขึ้นมานั้น คือ "แรงบันดาลใจ" ที่จะค้นหาความรู้ความเป็นไปในสังคมปัจจุบัน และนำความรู้มาใช้ทำประโยชน์ให้สังคมให้มันดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยไม่จำเป็นต้องใช้วิถีทางเหมือนกับท่านเหล่านั้น เพราะมันมีเงื่อนไขของเวลาและสภาพสังคมเป็นตัวจำกัดอยู่

ผมว่าแรงบันดาลใจและกำลังใจนี้แหละครับ คือสิ่งสำคัญที่ผมได้จากมหาบุรุษเหล่านี้ ส่วนวิถีทางนั้น ผมคงต้องแสวงหาด้วยตัวเอง

แต่ทุกวันนี้ผมก็ยังคงสับสนตัวเองอยู่เลยครับ ผมนั่งคิดนอนคิดอยู่เสมอว่าชีวิตผมจะเดินไปทางไหนดี จะดำเนินชีวิตแบบไหนดี ฯลฯ ตอนนี้ก็พยายามทำวันนี้ให้ดีที่สุดไปก่อนครับ

Anonymous said...

ดีจังที่ได้เจอบล๊อกนี้
ได้เห็นมุมมองของคนที่เรียนต่างจากเรา
เคยคิดว่าเศรษฐศาสตร์กับพัฒนาสังคมมันช่างเข้ากันไม่ได้ในความคิดความเชื่อหลายๆทาง แต่พออ่านวันนี้ก็เปิดมุมมองและ ปิ๊งหลายๆเรื่อง
เทอมหน้าคงเรียนสนุกขึ้น มีเรื่องคิดมากขึ้น
เห็นด้วยในหลายๆประเด็น และก็สนใจในหลายๆประเด็นของคนคอมเมนท์
ไว้เด๋วเข้ามาอีก
ขอไปย่อย ตกตะกอนก่อน
รู้สึกงง สับสนมากขึ้นเรื่อยๆเหมือนกัน
ทางทุกทางก็ถูกต้องในสายตาของมนุษย์แต่ละคน

นิลมังกร said...

ขอบคุณสำหรับบทความ และข้อคิดเห็นดีๆ

ผ่านมาเจอบล็อกนี้เข้า

น่าสนใจมากคะ