Friday, June 17, 2005

คุยเฟื่องเรื่องอาจารย์ที่ UCD


เย้! ในที่สุดการสอบ Finals ของผมก็เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์เสียที (ช้ากว่าชาวบ้านชาวช่องเค้ามากๆ)

นั่นก็เท่ากับว่า หนึ่งปีของผมในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ UC Davis ก็เกือบจะปิดฉากลงไปด้วย เพราะวันที่ 22 นี้ก็จะบินกลับเมืองไทยแล้ว

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆครับ รู้สึกว่าเพิ่งจะมาถึงที่นี่เมื่อวานนี้เอง

หนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นพอตัว เกิดมาไม่เคยมาอเมริกาเลยครับ นี่เป็นครั้งแรก ได้มาเรียนในยูที่นี่ปีนึงก็ได้เปิดหูเปิดตาขึ้นมากะเค้าบ้าง

ถ้าพูดถึงเรื่องเรียน ก็ได้เรียนกับอาจารย์ดีๆหลายคนครับ

ตอน Fall ได้เรียน Development 1 กับ Steve Boucher คนนี้เป็นอาจารย์หนุ่มหล่อ (เคยเห็นเดินคู่กับนาวิน ตาร์ ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้หล่อกว่าอีก!) จบจาก UW Madison เป็นคนที่สอนดีมากๆ มี Passion ในการสอนและในตัววิชาอย่างสูง งานวิจัยที่เค้าทำจะเกี่ยวกับ micro-credit in rural Latin America เป็นส่วนใหญ่ครับ

ตอนเรียนเค้าได้เชิญเพื่อนเค้าคนหนึ่งชื่อคุณจอห์น (อาจารย์และคุณจอห์นเพิ่งเจอและคุยกันใน Art gallery ในเมืองนี่เองครับ) คุณจอห์นมาพูดให้พวกเราฟังคาบนึง คุณจอห์นเล่าถึงการเดินทางของเขาเข้าไปตามหมู่บ้านชนเผ่าซูลูในแอฟริกา ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้เค้ามีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำตะกร้าสาน (สานจากไม้พื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง) คุณจอห์นเลยเกิดไอเดียนำตะกร้าสานเหล่านี้มาทำตลาดส่งออกมายังอเมริกาและยุโรป ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จดี สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในหมู่บ้านเผ่าซูลูได้ดี

สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมคุณจอห์นก็คือ เขาได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้าน จนเกิดความผูกพันกันเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เขาจึงได้ออกแบบระบบการจัดการที่ไม่ทำให้การทำตะกร้าสานนี้กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ คุณจอห์นยังพยายามสร้างแรงรูงใจให้คนในหมู่บ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้นๆ และเขาก็พยายามสอนให้คนในหมู่บ้านนั้นทำตะกร้าสานด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ไม่ใช่เร่งสานตะกร้าจนทรัพยากรในชุมชนร่อยหรอไป ต้องมีระบบอนุรักษ์ทรัพยากรในหมู่บ้านให้มีใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน

เรียกว่าเป็นการใช้ความรู้ในการบริหารจัดการของตนเข้าไปช่วยเหลือคนในหมู่บ้านชนบท ด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเคารพในตัวผู้คนและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบายขึ้น

กลับมาพูดถึงอาจารย์กันต่อนะครับ ตอนที่อาจารย์ Steve สอนเรื่อง Microfinance เขาได้นำวิดีโอเกี่ยวกับโปรแกรม Micro-credit ในบังกลาเทศและโบลิเวียมาฉายให้ชมกันด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากไปกว่าการอ่านอย่างเดียว ต่อมาพอสอนเรื่อง Trade and Development อาจารย์ก็นำวิดีโอเกี่ยวกับ Special Export Zones ในจาไมก้ามาให้ดู มาให้คิดกันต่ออีกด้วย

แถมวิชานี้ยังมี TA ที่เด็ดมากอีกด้วย เขาชื่อ David ครับ เป็นคนสัญชาติอเมริกันแต่พื้นเพน่าจะมาจากแถบลาตินอเมริกา ที่ผมบอกว่าเด็ดก็เพราะนาย David นี่เขาได้ตะลุยเดินทางรอบโลกมาแล้วถึง 60 กว่าประเทศ! ใช่ครับ ผมเขียนไม่ผิดหรอก 60+ ประเทศ! แล้วที่ไปนี่เขาไม่ได้ไปพักโรงแรมนะครับ เขาไปพักกับชาวบ้าน อยู่กับคนท้องถิ่น เพื่อให้รับรู้ว่าวิถีชีวิตและปัญหาของคนเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

สรุปแล้ว คอร์สนี้เป็นคอร์สที่สนุก ตื่นเต้น ได้ความรู้ และได้ข้อคิดมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

ถัดมาตอน Winter ผมก็ติดใจวิชา Development เลยลงเรียน Development 2 ต่อ คราวนี้ Prof. Wing Thye Woo เป็นอาจารย์สอน

คนนี้ก็เด็ดเหมือนกัน แต่คนละแนวครับ Prof. Woo คนนี้อายุประมาณ 50 เกิดในครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจนในมาเลเชีย ตอนเขาอายุ 13 เขาได้รับรู้ว่าในอเมริกามีมหาลัยบางแห่งที่ให้ทุนนักเรียนทุกคนที่สามารถเข้าเรียนได้ หนึ่งในนั้นคือ Swarthmore College อันมีชื่อเสียงใน Philadelphia

ปรากฏว่าอาจารย์ได้เข้าเรียนที่ Swarthmore ดังที่หวังไว้ครับ เรียนเมเจอร์ด้านวิศวะ ที่เจ๋งก็คือคอลเลจนี้เป็นสถานศึกษาที่ไม่เหมือนมหาลัยทั่วไปนะครับ เพราะที่นี่คลาสจะเล็กมากๆ อาจารย์ผมบอกว่าตอนที่เขาเรียนมีกันอยู่ 5 คนหรือ 8 คนในคลาสเองครับ (ผมไม่แน่ใจว่า 5 หรือ 8) วิธีการเรียนการสอนก็เน้นให้นักศึกษาคิดและเน้นการระดมสมอง แต่ละสัปดาห์นักศึกษาแต่ละคนจะต้องเขียน Paper แล้วเอามาแลกกันอ่านกับเพื่อนร่วมห้อง แล้วก็ระดมสมองวิจารณ์งานของแต่ละคนว่าดีไม่ดีอย่างไร ควรปรับปรุงตรงไหน ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยตรงไหนบ้าง

เด็ดสะระตี่จริงๆครับ (อ้อ อาจารย์ปราณี ทินกรก็จบตรีที่ Swarthmore นี่เช่นกันครับ)

อาจารย์ Woo สอนดีใช้ได้เลยครับ (แต่สู้อาจารย์ Steve ไม่ได้) แกเป็นคนที่มี Passion ในการสอนอยู่ในตัวมากเช่นกัน เวลาสอนแกจะเดินไปเดินมาทั่วห้องเลยครับ แล้วก็มักจะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆมาเล่าอยู่ตลอด เป็นคนที่มี Information สารพัดเรื่องอยู่ในตัวเยอะจริงๆ

งานวิจัยของอาจารย์ Woo นั้นส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับเรื่องที่สอนแหละครับ คือ Economic Development & Growth in China, Transition Economies (Formerly Socialist Economies) เรียกว่าทำวิจัยแล้วก็เอาเปเปอร์ที่เขียนนั่นแหละครับมาให้พวกเราเรียนกัน

………

ทั้งอาจารย์ Steve และอาจารย์ Woo ก็เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดีที่ผมได้เรียนด้วยในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ อาจารย์ที่สอนเก่งๆ มักจะไม่ค่อยได้สอนครับ เพราะที่อเมริกานั้นงานวิจัยคือการวัดผลการทำงานของอาจารย์มหาลัย และเป็นตัววัดสำคัญที่ใช้ในการจัด Ranking มหาลัยด้วย

ผมไม่ทราบว่าที่มหาลัยอื่นเป็นยังไงนะครับ แต่ที่นี่อาจารย์ที่เก่งๆ ได้สอนแค่ปีละ 1-2 ควอเตอร์เท่านั้น บางคนลาไปทำวิจัยที่อื่นทำให้ไม่ได้สอนเลยก็มี

ผมเคยคุยกับอาจารย์ Woo เรื่องนี้ อาจารย์ก็บอกว่าที่นี่เค้าวัดผลอาจารย์กันด้วยงานวิจัย ถ้าใครไม่มีผลงานวิจัยเป็นที่น่าพอใจ ก็จะถูกจัดให้ลงมาสอนบ่อยๆ ส่วนอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยดี ก็ไม่ต้องสอนมาก (เช่น อาจารย์ Woo สอนปีละแค่ควอเตอร์เดียวเอง)

ผมและนักศึกษาระดับปริญญาตรีคนอื่นๆ จึงต้องเจอกับอาจารย์ที่สอนไม่ดีหลายคนทีเดียว เพราะว่า:

หนึ่ง Professors ดีๆที่ทำวิจัยเก่งๆก็ไม่ค่อยได้ลงมาสอน ทำให้ Professors ที่ลงมาสอนส่วนใหญ่ก็คือเป็นคนที่ไม่ค่อยมีผลงานวิจัย และสอนไม่ค่อยดี

สอง เวลา Professors แข่งกันทำวิจัยกันมากๆเข้า ก็ทำให้ขาด Professors ที่ว่างจะสอน ทำให้คณะต้องไปหา Lecturers มาสอนแทน (Lecturers ไม่ต้องทำวิจัย แค่สอนอย่างเดียว) ปัญหาก็คือ Lecturers หลายคนความรู้ไม่แน่นเท่ากับพวก Professors เวลาสอนก็ไม่ค่อยจะดี ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์อยู่ไม่น้อยเวลาต้องไปเข้าคลาส

อารมณ์ประมาณว่า ผมอยากเรียนอยากรู้มากๆ แต่ทำไมอาจารย์ถึงสอนไม่ได้เรื่องอย่างนี้ พูดไม่รู้เรื่อง แถมเหตุผลที่นำมาอธิบายก็ไม่หนักแน่น มีอยู่คนหนึ่งสอน International Finance เค้าไปเอา Solow Growth Model (ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับเศรษฐกิจปิด) มาสอนมาใช้กับเศรษฐกิจเปิด โดยเค้าใช้ตรรกะแปลกๆ ผมมองไปรอบๆห้องนักศึกษาแต่ละคนทำหน้างงๆกันทั้งนั้นเลยครับ ผมก็งงเหมือนกัน พูดอะไรวะ ไม่รู้เรื่องเว้ย ในหนังสือก็ไม่มีสอนด้วย วิชานี้ถ้าเรียนกับอาจารย์คนนี้คนเดียว ผมคงต้องรู้สึกว่าได้ความรู้น้อยเหลือเกินแน่ๆ

แต่ยังโชคดีครับที่ได้ TA ที่ดี ตอน TA Section เค้าก็สอนไม่เหมือนที่อาจารย์สอนในห้อง แล้วเวลาตอบข้อสอบเราก็ต้องตอบเหมือนที่ทีเอบอกนะครับ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่เหมือนกับที่อาจารย์สอน) เพราะทีเอเป็นคนตรวจข้อสอบ

อีกวิชาคือ Econometrics 1 ผมลงเรียนกับอาจารย์คนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เป็น Lecturer เหมือนกัน (อาจารย์ที่เป็น Professor ไม่ได้สอนควอเตอร์นี้เพราะต้องทำวิจัย) ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้อธิบายไม่รู้เรื่องเลยครับ ไม่รู้เรื่องจริงๆ ยิ่งตั้งใจฟังยิ่งงง ทั้งๆที่เนื้อหาวิชาบางเรื่องก็ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่อาจารย์เค้าทำให้ยากขึ้นมาเอง ผมยิ่งไม่ค่อยจะถูกกับเลขอยู่ด้วย แต่ก็ยังโชคดีครับที่ได้ TA ดีอีกแล้ว TA คนนี้มาจากยูเครน มาช่วยชีวิตพวกเราไว้ (TA บอกว่ายูน่าจะลงเมื่อควอเตอร์ก่อนจะได้เจออาจารย์ที่ดีกว่านี้ ได้เรียนอะไรดีๆกว่านี้มาก)


หรือถึงแม้เราโชคดีได้เรียนกับ Professors ที่เก่งๆ ทำวิจัยเยอะๆ คุณภาพการสอนก็อาจจะไม่ดีนัก เพราะอาจารย์ต้องยุ่งกับงานวิจัยของตนจนไม่มีเวลาเตรียมสอน ก็เลยสอนจากในหัวสมองโดยไม่ต้องเตรียมตัว ซึ่งการสอนแบบนี้ก็พอใช้ได้ครับ แต่บางครั้งการเรียบเรียงเนื้อหาในการสอนจะไม่ค่อยดีนัก การสอนจึงไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาลัยผม ที่มหาลัยอื่นเป็นอย่างไรบ้างก็บอกเล่ามาได้นะครับ

ผมก็เข้าใจนะครับว่าเราที่เป็นนักศึกษาก็ต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยการอ่านหนังสือ แต่บางครั้งมันก็รู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์มากๆเวลาต้องจำใจไปเข้าคลาสของอาจารย์ที่สอนไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่เราอยากเรียนวิชานั้นมากๆ ผมก็เลยอดไม่ได้ต้องขอบ่นเสียหน่อยนะครับ

น่าคิดนะครับว่า การตัดสินผลงานของอาจารย์มหาลัยโดยดูจากงานวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้น ทำให้คุณภาพการสอนระดับปริญญาตรีลดลงมากแค่ไหน? ภาวะได้อย่างเสียอย่างระหว่างงานวิจัยกับงานสอนมันมากแค่ไหน? มีวิธีการใดที่จะสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ทำงานวิจัยและทำการสอนให้ดีควบคู่กันไปพร้อมๆกัน? หรือว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะมหาลัยที่นี่เขาไม่ได้สนใจการสอนระดับปริญญาตรีเสียแล้ว เลยปล่อยๆไปไม่ได้สนใจแก้ไข?

และถ้าคิดถึงในเมืองไทย ที่ผ่านมาผมก็เจออาจารย์ดีๆหลายท่าน แต่ก็เจออาจารย์ที่สอนไม่เป็น ถ่ายทอดไม่เป็น (ถึงแม้จะมีความรู้เยอะก็ตาม) หลายท่านเช่นกัน ผมเลยสงสัยว่า ก่อนจะเริ่มเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อาจารย์ที่มหาลัยไทยต้องเข้าคอร์สเรียนวิธีการสอน วิธีการพูด วิธีการถ่ายทอดความรู้บ้างหรือไม่?

และต่อไปถ้ามหาลัยไทยออกนอกระบบ ผมคิดว่าระบบการวัดผลก็คงส่งเสริมให้อาจารย์เน้นการทำงานวิจัยกันมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันนั้น คุณภาพการสอนจะตกลงไปบ้างหรือไม่?

.........

เอาล่ะครับ ยังไงก็แล้วแต่ตอนนี้ผมก็ปิดเทอมแล้ว เดี๋ยวจะไปเที่ยวซานฟรานฯทิ้งทวนก่อนบินกลับเมืองไทย คิดถึงขนมจีนน้ำยา, ต้มยำกุ้ง, น้ำจิ้มแจ่ว, เอ็มเคสุกี้ ฯลฯ จะแย่แล้วครับ!

ป.ล. ตอนจบนี่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลยนะครับ เพราะผมนึกไม่ออกว่าจะจบยังไงดี ใจมันมัวแต่นึกถึงอาหารไทยครับ แฮ่ๆ

6 comments:

Steelers(钢人) said...

ขอให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพนะครับ

Anonymous said...

ยินดีด้วยครับ หวังว่าเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพนะครับ

Anonymous said...

เด็กสมัยนี้โชคดีนะครับ ได้มีโอกาสไปแลกเปลี่ยนเปิดโลกทัศน์ยังต่างประเทศ นับว่าเป็นโครงการที่ดีของเศรษฐศาสตร์ มธ นะ

ยังไงก็ขอให้โชคดีในการกลับมาเมืองไทยนะครับ สมัครปริญญาเอกอีกครั้งก็ขอให้สมหวัง

Steelers(钢人) said...

ยินดีต้อนรับกลับสู่เมืองไทยนะครับ ผมเห็นคุณdavidกลับมาแล้ว เห็นด้วยว่าเซ็นชื่อในสมุดลงชื่อเล่นคอมในห้องสมุด ว่างๆเจอกันนะครับ :)

Dawdle Man said...

สวัสดีครับ
ผมคิดว่าคุณคง เป็นหนึงในนักเรียนไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์จากการ ไปแลกเปลี่ยน อย่างแท้จริง โชคดีครับ แล้วว่างๆ มาคุยเรื่องงานกัน

Anonymous said...
This comment has been removed by a blog administrator.