กลับมารายงานตัวแล้วครับผ้ม!
David Ginola กลับมาแล้วพร้อมกับฟอร์มร้อนแรงของไก่เดือยทอง สเปอร์ส ที่ตอนนี้ตีปีกขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของตารางแล้ว (เหนือกว่าแมนยูฯ ลิเวอร์พูล และอาร์เซนอล ฮ่าๆๆ)...
ผมไม่ได้อัพบล็อกเสียนาน (เพราะเรื่องยุ่งๆและความขี้เกียจเป็นสาเหตุหลัก) ตอนนี้เลยจะพยายามกลับมาอัพอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง
วันนี้เลยขอนำบทบก.ที่ผมเพิ่งเขียนเสร็จและจะลงใน ECHO เล่นใหม่มาให้อ่านกันนะครับ
เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็คอมเมนต์ได้เลยนะครับทุกท่าน
.........
บทบรรณาธิการ
เมื่อปีก่อน ผมโชคดีที่มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ University of California, Davis เป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็คือ การได้ทำความรู้จักกับ “ตัวตน” ของคนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้เรียนรู้ถึงแนวทางการใช้ชีวิตของนักศึกษาอเมริกัน
จุดหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเป็น “บริโภคนิยม” ของนักศึกษาที่นั่น เพราะนักศึกษาแต่ละคนต่างก็ใช้จ่ายบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน (แต่ละอย่างมีขนาดใหญ่มาก) สินค้าแฟชั่น สินค้าที่เกี่ยวกับกีฬาและดนตรี หรือสินค้าเทคโนโลยีอย่าง iPod
แต่ถึงแม้พวกเขาจะบริโภคอะไรต่อมิอะไรมากมาย ผมกลับมีความรู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตที่ค่อนข้าง “เรียบง่าย สบายๆ” ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาใช้เงินอย่าง “ฟุ่มเฟือย” หรือใช้ชีวิตอย่าง “ฟุ้งเฟ้อ” แต่อย่างใด ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเห็นว่า นักศึกษาอเมริกันไม่ได้ “ใช้เงิน” เป็นอย่างเดียวแต่ยัง “หาเงิน” เป็นด้วย เพราะพวกเขารับจ้างทำงานพิเศษทั้งในช่วงปิดเทอมและเปิดเทอม ซึ่งการทำงานพิเศษเพื่อหาเงินด้วยตัวเองนี้เอง ที่ทำให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงินและรู้จักใช้เงินมากกว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ แต่จะโทษวัยรุ่นไทยก็คงจะไม่ได้ เพราะสังคมไทย (พ่อแม่ผู้ปกครอง) ก็ไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาทำงานพิเศษ หากแต่ต้องการให้พวกเขาตั้งใจเรียนให้จบปริญญาเร็วๆ มากกว่า
อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับตัววัยรุ่นเองและกับสังคมได้ในอนาคต ทั้งนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นก็เพราะวัยรุ่นไทยจำนวนมากขาดความเป็น “มืออาชีพ” (Professionalism) ใน “งาน” ของตัวเอง ซึ่งความเป็น “มืออาชีพ” ที่ผมพูดถึงนี้ก็คือ การรู้จักรับผิดชอบใน “งาน” ของตน รักใน “งาน” นั้น และทำ “งาน” นั้นให้ดีที่สุด
แน่นอนว่า “งาน” หลักของเยาวชนก็คือการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น ความเป็น “มืออาชีพ” ของเยาวชนจึงขึ้นอยู่กับ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่หากเราลองเหลียวดูพฤติกรรมการเรียนของเยาวชนไทยในปัจจุบัน เราจะพบว่าเยาวชนไทยมีความเป็น “มืออาชีพ” น้อยจนน่ากังวลใจ
อย่างเมื่อวันก่อน ในคลาสเรียนคลาสหนึ่งของผมซึ่งควรจะเริ่มตอนเก้าโมงตรง แต่นักศึกษาส่วนใหญ่กลับนำ “การบ้าน” มาทำในห้องเรียนอย่างไม่เกรงใจอาจารย์และเพื่อนคนอื่นที่ทำเสร็จมาก่อนแล้ว ทำให้อาจารย์และเพื่อนคนอื่นต้องรอจนถึงเกือบเก้าโมงครึ่งกว่าจะได้เริ่มเรียน ส่วนการเข้าเรียนสาย การลอก (ปั่น) การบ้าน ทานขนมในห้องเรียน คุยในห้องโดยไม่เกรงใจอาจารย์ ตลอดจนถึงการโดดเรียนไปเที่ยวเล่น ต่างก็เป็นพฤติกรรมที่นักศึกษาหลายคนทำเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ พวกเขาก็แค่ไปฟังการติวจากเพื่อนที่เข้าเรียนและถ่ายเอกสารเลกเชอร์ของเพื่อนที่ตั้งใจเรียนมาอ่าน หรือไม่ก็ทุจริตในการสอบ เท่านี้ก็สามารถสอบผ่านและเรียนจบปริญญาได้
ผมพยายามมองโลกในแง่ดีว่า นักศึกษาบ้านเรากระทำสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่รู้สึกตัว คือเห็นเพื่อนคนอื่นๆ ทำกันก็เลยทำตามไปโดยไม่รู้สึกว่าไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าหากความคิดและนิสัยเหล่านี้ติดตัวพวกเขาไปจนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม บ้านเมืองเราจะไม่ยิ่งเละเทะเข้าไปใหญ่หรือ?
เมื่อผมย้อนกลับไปมองดูสังคมอเมริกัน ผมพบว่านักศึกษาที่นั่นมีความเป็น “มืออาชีพ” สูงกว่าในเมืองไทยมาก พวกเขาดูจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนค่อนข้างสูงทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน พวกเขาจะมาจับจองที่นั่ง (แถวหน้า) ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน ระหว่างเรียนก็จะไม่คุยกันเพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติอาจารย์ผู้สอน เมื่อมีปัญหาสงสัยอะไรพวกเขาก็จะไปคุยกับอาจารย์ที่ห้องพักอาจารย์ ที่สำคัญ พวกเขายังรู้จักแบ่งเวลาเรียนและเวลาเล่น คือถ้าไม่ใช่เวลาเรียน พวกเขาก็จะเที่ยวเล่นและทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเต็มที่ เหมือนปรัชญา “Study hard and play hard.” นั่นเอง
นอกจากนักศึกษาอเมริกันจะมีความเป็น “มืออาชีพ” มากกว่านักศึกษาไทยโดยรวมแล้ว ผมยังคิดว่าพวกเขาดูจะมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปของสังคมส่วนรวมมากกว่านักศึกษาไทยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งล่าสุด นักศึกษาที่นั่นก็ได้จัดการพูดปราศรัยขึ้นหน้าโรงอาหารของมหาลัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของผู้สมัครจากทั้งสองพรรค ส่วนนักศึกษาคนอื่นก็สนใจมาฟังการปราศรัยกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยที่สวยงามยิ่งในหมู่นักศึกษาที่นั่น
นอกจากนี้ นักศึกษาที่นั่นยังได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เช่น กลุ่มต่อต้านสงคราม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานในประเทศยากจนอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น เรียกได้ว่าวัยรุ่นที่นั่นรู้จักคิดถึงผู้อื่น คิดถึงสังคม และมีความพยายามที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
ผมอยากเห็นวัยรุ่นไทย (และ “ผู้ใหญ่” ในสังคม) มีความเป็น “มืออาชีพ” และมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ และขอฝากคำพูดสองประโยคของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไว้ให้ทุกคนคิด
“Never regard study as a duty, but as the enviable opportunity to learn… for your own personal joy and to the profit of the community to which your later work belongs.”
“จงอย่าถือว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นหน้าที่ หากแต่เป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้... เพื่อความสุขของตัวเองและเพื่อประโยชน์ของสังคมที่เราจะทำงานให้”
“The value of a man resides in what he gives and not what he is capable of receiving.”
“คุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาให้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาสามารถแสวงหามาได้”
มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนกันเถอะครับ
Tuesday, October 18, 2005
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
9 comments:
อืม.....
ค่อนข้างเห็นด้วยกับคุณ Ginola นะครับ
บรรยากาศที่ผมเคยสัมผัสสมัยเป็นนิสิตปริญญาตรีก็ไม่ได้แตกต่างจากที่คุณว่าไว้เท่าไหร่ ลอกการบ้าน นั่งปั่นงาน แม้กระทั่งจดโพยลอกข้อสอบ ถือเป็นเรื่องปกติสามัญ ทำกันตั้งแต่ปีหนึ่งยันเรียนจบ สุดท้ายก็ได้ปริญญามาเหมือนกัน
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่าเพราะเหตุอันใดนิสิตในบ้านเมืองเราจึงมีพฤติกรรมเยี่ยงนี้ ซึ่งในความคิดผมมันไม่ใช่พฤติกรรมในกรณีพิเศษแต่อย่างใด หากเป็นกรณีที่สามารถพบได้ทุกแห่งทั่วไป ไม่ว่าจะในมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชน
อาจจะเป็นเพราะสังคมบ้านเราเป็นสังคมแบบหลวมๆ รักสบาย ชอบทำอะไรตามใจฉัน ตามสบาย ฯลฯ
ปัญหาที่น่าขบคิดก็คือจะทำอย่างไรให้เด็กไทยเรียนเพื่อ"เรียนรู้"ไม่ใช่เรียนเพื่อที่จะ"เรียน"เฉยๆ การเรียนมันต้องก่อให้เกิดการเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ของผู้ที่เรียนให้กว้างไกลยิ่งขึ้น แต่ในบ้านเราเด็กเรียนไปเพื่อที่จะสอบให้พ้นๆไปวันๆ และได้รับปริญญาเท่านั้นเอง
ปัญหามันแสนจะซับซ้อนเหลือเกินครับ ไม่รู้ว่าจะไปโทษระบบหรือโทษคนดี สิ่งที่ผมอยากจะเห็นก็คือ อยากเห็นเด็กไทยเรียนอย่างมี "ฉันทะ" กล่าวคือชอบในสิ่งที่เรียน เรียนเพื่อเรียนรู้ เรียนอย่างมีเป้าหมาย ใฝ่รู้ด้วยใจจริง แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่ผมวาดฝันเอาไว้มันก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
สุดท้ายผมก็หวังไว้ว่าสิ่งที่คุณกำลังทำอยู่ ไม่ว่าจะเป็นข้อคิดข้อเขียนหรือบทความต่างๆ มันอาจจะไปเป็นตัวจุดประกาย ให้กับนิสิตหลายๆคนที่ยังค้นคว้าหาตัวเองไม่เจอ และทำให้พวกเขาเหล่านั้นสามารถเปลี่ยนแปลงตนเองไปในทิศทางที่ดีได้
เห้อ....เห็นบทบรรณาธิการแล้วอยากอ่าน echo เล่มใหม่จริงๆ พับผ่าดิ เอ่อ แล้วฉบับย้อนหลังนี่ผมจะหาได้ที่ไหนล่ะครับคุณ Ginola วานบอกด้วย
เป็นบทความที่ดีมากครับ
สาเหตุมีเยอะมาก เช่นคนไทยมีนิสัยรักสนุก, ไม่รู้จักวางแผนในอนาคต, พฤติกรรม "พวกมากลากไป" (critical mass), ความเคยชินกับการ "ป้อน" มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม, ความเชื่อที่ว่าเรียนไปก็ไร้ค่า ทำงานกับสิ่งที่เรียนมันคนละเรื่อง หรือแม้แต่ประสิทธิภาพของผู้สอน หลักสูตร สื่อการสอน หรือบรรยากาศการเรียน ฯลฯ
ผมไม่แน่ใจว่าสาเหตุใดมีน้ำหนักมากกว่าสาเหตุไหน
ซึ่งผมคิดว่าเป็นประเด็นที่เราน่าจะมานั่งวิเคราะห์กัน เพื่อจะได้หาวิธีเยียวยาปัญหาเหล่านั้น
ขอให้หนังสือประสบความสำเร็จครับ
หนึ่งในลัทธิเอาอย่าง เรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วงมาก ในทุกๆครั้งที่พี่มองกลับไปดูเด็กในภาควิชาประวัติศาสตร์ ที่พี่เรียนอยู่นี้ เด็กหลายคน เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดก็ว่าได้ เลือกที่จะเอนทรานเข้าภาควิชานี้ ตามลำดับคะแนนที่คิดว่าจะทำให้เอนทรานส์ติด เพียงเท่านั้น โดยเฉพาะถ้าได้มหาวิทยาลัยชื่อดังก็จะดี เอาชื่อมหาวิทยาลัยเป็นตัวตั้ง เอาคณะเป็นตัวรอง เรียนมั่งลอกมั่ง ความรู้ไม่ต้องขอแค่จบก็พอ
หลายคนเลือกๆมันเอาไว้ก่อน แล้วค่อยเอนฯใหม่ เด็กปี 1 เกือบครึ่งของทุกปี มีแนวโน้มที่จะเอนฯใหม่ และหลายคนที่ไม่เอนก็เพราะกลัวเสียเวลา แล้วก็เลือกเรียนวิชาที่ชอบเป็นวิชาโทแทน
เศร้าใจที่ได้ยินเด็กคนหนึ่งพูดว่าทำไม่มีแต่วิชาโทพี่ถามเค้าไปว่า "ไม่ชอบแล้วมาเรียนทำไม เอนใหม่ไปสิ" เค้าตอบว่า "เอนแล้ว..ไม่ติด"
แต่ละรุ่นมีเด็กน้อยคนที่เรียนเพราะรัก และอยากเป็นนักประวัติศาสตร์ นักวิจัย หรือแม้แต่สายงานที่ใกล้เคียงอื่นๆ หลายคนจบไปแล้วเปลี่ยนสาย ไปเรียนปริญญาโทเป็นบริหาร หรืออื่นๆ ที่จะทำให้ได้เงินมากกว่า
หลายคนบอกว่าประวัติศาสตร์ไม่ใช่โลกของความจริง โลกของความจริงคือ เงิน
นี่หรือคือ วิธีคิดของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิต ในเมื่อเค้าไม่เข้าใจศาสตร์ ไม่เข้าใจแก่นแท้ของวิชาการ ที่ตัวเองร่ำเรียนมา 4 ปี เค้าก็จะไม่เข้าใจ แก่นของวิชาอื่นที่จะเลือกเรียนต่อไปเหมือนกัน รับรองได้ว่า เค้าคนนั้นก็จะไม่ใช่นักบริหารที่ดีอย่างแน่นอน
พี่เห็นด้วยกับสิ่งที่ท่านน้องเขียนมาก เมื่อได้มาเรียนในสหรัฐ จึงเห็นว่าระบบการเรียนการสอนของไทย กับของสหรัฐฯ ต่างกันราวฟ้าเหว .....
นักเรียนไทย ไม่เคยต้องเตรียมตัวเรียนก็ว่าได้ อาจารย์เราก็ใจป้อนฯ อย่างเดียว ปิ้งแผ่นใสกันไป บอกจดกันไป ..นักเรียนไทยส่วนหนึ่ง ก็คุยกันไป จดกันไปบ้าง ฯลฯ โดยไม่ต้องสนใจความรู้สึกอาจารย์ฯ
ต่างจากนักเรียนในสหรัฐฯ ที่ต้องเตรียมตัวเรียน อ่านหนังสือ Assignment ที่อาจารย์กำหนดไว้มากมาย ก่อนเข้าชั้นเรียน ... และตรงต่อเวลา ไม่มีการพูดคุยในชั้นเรียนเลยก็ว่าได้
เงินที่เขาได้มาก็ล้วนแต่มาจากการทำงาน พ่อแม่ของเด็กอเมริกันส่วนใหญ่ จะไม่ได้ร่ำรวย เด็กส่วนใหญ่ จะต้องกู้เงินเพื่อจ่ายค่าบำรุงการศึกษาที่แพงมาก และเด็กนักเรียน ก็ต้องทำงาน เพื่อใด้ค่าขนม และค่าเช่าที่พักฯ ซึ่งเด็กไทยเรา ขอเงินพ่อแม่ กันจนตายกันไปข้างหนึ่งเลย ... ต่างกันจริง ๆ
มหาวิทยาลัยไทย ระบบการเรียนการสอน และวัฒนธรรมของเด็กไทย แตกต่างจากของสหรัฐฯ โดยสิ้นเชิงจริง ๆ ....
เอ่อ ...ผมขอนอกเรื่องหน่อยนะครับ .... นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อสองสัปดาห์ก่อนฯ ท่านผู้เจริญ ท่านหนึ่ง นำ Ranking ที่ดำเนินการโดยไทม์ ของอังกฤษมาโพสต์ในพันทิพ มหาวิทยาลัยของไทย (แห่งหนึ่ง) ติดอันที่ ๑๐๐ ของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลก ผมได้แต่สงสัยว่า เมื่อปีที่แล้ว แม้แต่ใน ๕๐๐ ลำดับแรก ยังไม่ติดเลย ปีนี้ มาแรงจริง ... อีกทั้ง ระบบการสอนแบบที่ว่ามา คือ ปิ้งแผ่นใส บอกจด ตั้งแต่ ป.ตรี ยัน ป.เอก ....แบบนี้ เราจะยอมรับกันหรือไม่ว่า มหาวิทยาลัยไทยของเรา นั้นดีที่สุดในลำดับที่ ๑๐๐ ได้
I think, though, that a lot of American college kids actually waste their lives away drinking, doing drugs and partying as well. It's true that there are those who truly care about what they are in college to do, but a handful of them. We get the picture of the 'liberal education', enthusiastic classrooms and active (not passive) learning because US colleges like to portray themselves that way and that's what we read on their websites, mission statements, etc. But it's more of a cliche notion that they're trying to make us see them to be. They do have a very good system implimented to facilitate learning, but I still don't think the kids are all that into it. and the students have to work on campus because they're ripped off by the impossible tuition fee. I think we still have to credit some good kids in Thailand that do in fact exist. It might seem small in number but we also have to consider that we're a much smaller country. I do agree though that we have so much room for improvement and we can be a lot better off if everyone starts growing up in college. We're not perfect, but neither are the Americans.
ปีใหม่นี้ ขอให้น้องมีความสุข ความเจริญ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปครับ
ไอสไตน์ ปวกเปียก เละ เละ
คุณไปอ้าง ไอสไตน์ได้ไง มันฉลาด แต่สุดท้าย กลายเป็นวินาศ
คนชอบคิดว่าไอสไตน์เจ๋ง ไม่รู้ว่าเขาเป็นพระเจ้ารึไง เขาก็แค่คนโง่ที่ฉลาดที่สุด รึอาจจะโง่ที่สุดเพราะความฉลาดก็เป็นได้
ขอแก้ เป็น
คุณค่าของมนุษย์คือสิ่งที่เขาแสวงหามาได้
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาได้ให้
ไอสไตน์ เขาพูด เขาใช่การคิดแบบเง่าๆ คือมองในแง่วัตถุ เพราะเขาเป็นนักวิทยาศาสตร์
คุณค่าของมนุษย์ต้องแสวงจากภายใน แสวงหาตัวตน รากเหง้า คือ จิตเดิมแท้ อันเป็นหนึ่งเดียว ยิ่งใหญ่มหาศาล แสวงหาได้แล้ว การให้จะเกิดขึ้นเอง อยู่แล้ว
ส่วนการให้นั้น เป็นเพียงเปลือก เป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นและตั้งต้นจากภายใน
ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ ทั้งหลายที่เป็นสุดยอด และความคิดที่ติดตามมา แท้จริงแล้ว คือร่างแหของแห่งการสัญจรจากความมืดมนสู่ความมืดมน เพิ่งจะมาใกล้เคียงปัญญา ก็ไอ้เรื่อง ควอนตัม นี่แหละ แต่ยังคลำช้างอยู่
ไอ้ E=m cc นะหรือ ขำดี ผมอ่านคำอธิบายเค้าไม่รู้เรื่องหรอก แต่ผมไม่เชื่อ เพราะผมมันไม่ฉลาด แต่คนทั้งโลก ท่องกันเท่ๆ ไม่รู้ฟังรู้เรื่องหรือไม่
เวลา คือ เรื่องบ้าๆของมนุษย์ ที่สะเออะไปอธิบายความมืดมน อธิบายในสิ่งที่อธิบายไม่ได้
ฮิโรชิมา คือหลักฐาน แห่งความมืดมน
ถ้าฉลาดจริง ทำไมไม่คิดถึงเรื่องโง่ที่อาจเกิดขึ้นได้
ไม่โกรธกันนะ และผมก็ไม่ได้เขียนด้วยอารมณ์ ด้วยครับ
แด่ไอสไตน์ ไปฝึกมาอีกสิบปี ไอ้น้อง
Post a Comment