Sunday, August 21, 2005

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

สวัสดีครับ ช่วงนี้ไม่ได้อัพบล็อกมานาน เพราะเปิดเทอมแล้ว งานค่อนข้างเยอะครับ

พรุ่งนี้ก็จะถึงเวลา Meet the Bloggers แล้ว รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่เด็กที่สุดในชุมชนนี้ (แฮ่ๆ)

วันนี้ตอนแรกผมกะว่าจะเขียน "เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้" ตอนสุดท้ายให้จบ แต่ปรากฎว่าอากาศที่บ้านผมมันร้อนมากๆ เลยไม่มีอารมณ์เขียนถึงแอฟริกาใต้อันหนาบเหน็บ (เกี่ยวกันไหมเนี่ย)

ผมเลยเขียนเรื่องนี้แทน

เดี๋ยวเจอกันนะครับ

.........

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้กันดีว่า ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์นั้นคือ “การเลือก” หรือ “การจัดสรร” ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การเลือก” เป็นกระบวนการที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่ทุกชั่วขณะเวลา เช่น เลือกว่าจะทำอะไร จะเรียนอะไร จะซื้ออะไร จะกินอะไร จะไปไหน ฯลฯ

การที่เราทุกคนต้องตัดสินใจ “เลือก” ทำอะไรบางอย่างนั้น ก็เป็นเพราะ “ทรัพยากร” ของเรามีอยู่อย่างจำกัด เช่น มีเงินจำกัดใช้ได้แค่วันละ 100 บาท หรือมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน

ในเมื่อ “ทรัพยากร” มีอยู่อย่างจำกัด แต่เรามีความต้องการอยากทำหรืออยากได้หลายอย่าง เราจึงต้อง “เลือก” ว่าจะทำอะไร

แน่นอนว่า การที่เรา “เลือก” ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เราต้องสูญเสียโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นๆไปพร้อมกันด้วย เช่น เราเลือกที่จะใช้เงิน 100 บาทซื้อตั๋วดูหนัง เราก็สูญเสียโอกาสที่จะใช้เงินจำนวนนั้นซื้อหนังสือ ซื้อเสื้อผ้า หรือซื้อซีดีเพลง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็คือ “ภาวะได้อย่างเสียอย่าง” (Trade-off) นั่นเอง

วันนี้ ผมอยากนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การเลือก” ที่แตกต่างกันระหว่างคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส ซึ่ง Paul Krugman เขียนไว้ในบทความใน New York Times เรื่อง “French Family Values” มาเล่าสู่กันฟังครับ

.........

ทุกวันนี้ พวกเราต่างก็รู้ดีว่า หากใช้ฐานะทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นตัววัด สหรัฐอเมริกาถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกชนิดที่ทิ้งคู่แข่งประเทศอื่นๆแบบขาดลอย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีขนาดใหญ่คิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของเศรษฐกิจโลก ส่วนรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของคนอเมริกันนั้นก็สูงถึงประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบกับคนอเมริกา ฐานะทางเศรษฐกิจของคนฝรั่งเศสดูจะด้อยกว่าอยู่มากพอสมควร เห็นได้จากตัวเลขรายได้ต่อหัวของคนฝรั่งเศสซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งน้อยกว่าของคนอเมริกันอยู่ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐทีเดียว

แต่คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ว่า คนอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ในชีวิตมากกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

กับคำถามนี้ คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนได้แน่ เพราะ “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ของแต่ละคนนั้นมันเป็นนามธรรมซึ่งยากจะเปรียบเทียบกันได้

แต่ถ้าผมลองตั้งคำถามใหม่อีกสองข้อต่อไปนี้ ผมคิดว่าเราน่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก

ข้อแรก คนอเมริกันร่ำรวยกว่าคนฝรั่งเศสเพราะคนอเมริกันทำงาน “เก่ง” และมีประสิทธิภาพกว่าคนฝรั่งเศสใช่หรือไม่?

กับคำถามข้อนี้ การศึกษาข้อมูลเรื่องผลิตภาพ (Productivity) ของ Organization for Economic Corporation and Development (OECD) บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผลิตภาพ (จีดีพีต่อหนึ่งชั่วโมงการทำงาน) ของคนฝรั่งเศสสูงกว่าผลิตภาพของคนสหรัฐฯอยู่เล็กน้อย พูดง่ายๆก็คือ ถ้าให้เวลาทำงานเท่าๆกัน คนฝรั่งเศสสามารถผลิตงานได้มีมูลค่ามากกว่าคนอเมริกัน

ดังนั้น เราจึงอาจสรุปได้คร่าวๆว่า ในความเป็นจริงนั้น คนอเมริกันไม่ได้ทำงาน “เก่ง” หรือมีประสิทธิภาพมากไปกว่าคนฝรั่งเศส

ข้อสอง คนอเมริกันซึ่งมีรายได้มากกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ชีวิตความเป็นอยู่” ดีกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

สำหรับคำถามข้อสองนี้ ผมขอตอบว่า “มันไม่แน่เสมอไป” ที่ผมตอบเช่นนี้เพราะผมสรุปจากข้อมูลที่น่าใจมากเกี่ยวกับพฤติกรรม “การเลือก” แบ่งเวลาการทำงานที่แตกต่างกันของคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส

ข้อมูลที่ผมว่านี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้คนฝรั่งเศสจะมีรายได้น้อยกว่าคนอเมริกันถึง 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่นั่นเป็นเพราะคนฝรั่งเศสให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ คนฝรั่งเศสให้เวลากับการพักผ่อนอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกันนั่นเอง

จริงอยู่ว่ามันมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้คนฝรั่งเศสมีชั่วโมงการทำงานและรายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนสหรัฐฯ เช่น เรื่องอัตราการว่างงานของฝรั่งเศสที่สูงกว่าของสหรัฐฯ เรื่องการเกษียณอายุการทำงานของคนฝรั่งเศสที่เร็วกว่าของคนอเมริกัน

แต่สุดท้ายแล้ว Krugman ก็สรุปว่าเหตุผลหลักจริงๆก็คือ คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกัน คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน และคนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะลาหยุดงานเพื่อเดินทางท่องเที่ยวนานกว่าคนอเมริกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งปี คนฝรั่งเศสจะหยุดงานไปเที่ยวคิดเป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์ ในขณะที่คนอเมริกันหยุดงานไปเที่ยวแค่ไม่ถึง 4 สัปดาห์ต่อปีเท่านั้น

ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในครอบครัวของคนฝรั่งเศส ครอบครัวคุณมีรายได้น้อยกว่าครอบครัวคนอเมริกัน ครอบครัวคุณจึงบริโภคสินค้าและบริการต่างๆได้น้อยกว่าครอบครัวอเมริกัน เช่น มีบ้านหลังเล็กกว่า มีรถน้อยคันกว่าหรือรุ่นเก่ากว่า มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกน้อยกว่าหรือคุณภาพด้อยกว่า แต่สมาชิกในครอบครัวของคุณมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าครอบครัวอเมริกัน

ชั่วโมงการทำงานและเงินรายได้ของครอบครัวคนฝรั่งเศสที่น้อยกว่านั้นได้ถูกทดแทนด้วย “เวลาพักผ่อนกับครอบครัว” ที่มีเพิ่มมากขึ้น

นี่คือการตัดสินใจ “เลือก” ของคนฝรั่งเศส ที่ยอมทำงานน้อยลง (ทำให้รายได้และการบริโภคลดลง) เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนและไปเที่ยวกับครอบครัวมากขึ้น เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของคนฝรั่งเศสเอง

ส่วนการตัดสินใจของอเมริกันชนผู้ “เลือก” ที่จะทำงานมากขึ้น (เพื่อเพิ่มรายได้และความสำเร็จ) โดยยอมลดเวลาพักผ่อนกับครอบครัวลงไป ก็เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของอเมริกันชนเองเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของคนอเมริกันที่สูงกว่าของคนฝรั่งเศสนั้น จึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนอเมริกันมี “ชีวิตความเป็นอยู่” ที่ดีกว่าคนฝรั่งเศส เพราะตัวเลขที่สูงกว่านั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความแตกต่างในเรื่องประสิทธิภาพหรือผลิตภาพการผลิต หากแต่เป็นผลมาจาก “การเลือก” หรือ “การจัดลำดับความสำคัญ” (Priority Setting) ที่ไม่เหมือนกันของคนสองประเทศ

จะว่าไปแล้ว พฤติกรรมการแบ่งเวลาของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของผู้คนในสองประเทศ

โดยคนอเมริกันนั้นมีค่านิยมแบบ Masculine บวกกับลัทธิปัจเจกชน (Individualism) ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่นับถือความสำเร็จในอาชีพการงานเป็นสำคัญ ยึดถือคติที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” และให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาในสังคมค่อนข้างมาก

ซึ่งประสบการณ์ของผมตอนที่ไปอยู่อเมริกาก็ได้พิสูจน์ให้ผมเห็นว่า พวกเขาค่อนข้าง “บ้างาน” และ “บ้าความสำเร็จ” มากกว่าคนประเทศอื่นจริง ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ทำงานวิจัยกันอย่างทุ่มเทมาก บางคนทำงาน 6 วันครึ่งต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ เรายังสามารถสังเกตความเป็น Masculine ของอเมริกันชนได้จากการที่คนอเมริกันซื้อรถยนต์ส่วนตัวและบริโภคสินค้าต่างๆที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขาให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรือสังเกตจากการยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคนอเมริกัน (เช่น นักกีฬา เจ้าของธุรกิจ) ให้เป็น Idols

ส่วนคนฝรั่งเศสและคนยุโรปส่วนใหญ่นั้นจะมีค่านิยมเอียงไปทางด้าน Feminine พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัวคุณภาพชีวิต และความสุนทรีย์มากกว่าความสำเร็จทางหน้าที่การงานหรือความมีหน้ามีตาทางสังคม

โดยจะสังเกตได้ว่าคนยุโรปจะไม่ค่อยยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากเท่ากับคนอเมริกัน หรือสังเกตจากชนชั้นสูงของอังกฤษ (เช่น นายธนาคารใหญ่ เจ้าของธุรกิจ) ที่ไม่ได้สนใจซื้อหารถยนต์ส่วนตัวมาโชว์ออฟ แต่ยังคงใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟใต้ดินเหมือนๆกับชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานอยู่ หรือจะสังเกตจากความตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยของอาหาร ซึ่งคนยุโรปตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้สูงกว่าคนอเมริกันมาก

.........

เรื่องราวทางเลือกที่แตกต่างกันของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสนี้ สอนให้เราตระหนักว่า การใช้ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของผู้คนในประเทศต่างๆเพื่อเปรียบเทียบ “ชีวิตความเป็นอยู่” ของพวกเขานั้น มันมีช่องโหว่และจุดด้อยที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายมิอาจมองข้ามไปได้

ตัวเลขจีดีพีที่สูงอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะให้เวลากับงานมากขึ้น ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยเวลาที่จะพักผ่อนกับครอบครัวนั้นน้อยลง (เหมือนคนอเมริกัน) ส่วนตัวเลขจีดีพีที่ต่ำอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้เวลาทำงานน้อยลงก็ได้ (เหมือนคนฝรั่งเศส)

บางคนอาจตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วสังคมไหนล่ะที่ “เลือก” ทางเลือกที่ดีกว่า?

ผมคิดว่า คำถามนี้มันไม่มีคำตอบ เพราะการที่ผู้คนในสังคมใดก็ตาม “เลือก” ที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มันแปลว่าผู้คนในสังคมนั้นได้ตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของความพึงพอใจสูงสุดของพวกเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกอย่างไร มันก็เป็นทางเลือกที่ทำให้พวกเขาได้รับความพึงพอใจมากที่สุดแล้วภายใต้สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่


เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาถูกบังคับหรือไม่ได้เต็มใจที่จะ “เลือก” ทางเลือกนั้นๆ (เช่น นโยบายของรัฐบาลทำให้คนบางคนต้อง “เลือก” ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา) ถ้าหากเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทางเลือกที่สังคมเลือกอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความพอใจสูงสุดของผู้คนในสังคมก็ได้

.........

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในบ้านเรา ตัวเลขการเจริญเติบโตของจีดีพีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอาจจะดูดีเป็นที่น่าพอใจ แต่มันอาจต้อง “แลก” ด้วยเวลาพักผ่อน (ทั้งกับตัวเองและกับครอบครัว) ที่น้อยลงก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีข้อมูล เพียงแต่อาศัยการสังเกตจากคุณแม่ผมและข้าราชการหลายคนที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาล (เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้า เป็นต้น)

ข้าราชการเหล่านี้ต้องทำงานกันหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หลายครั้งที่ต้องอยู่ทำงานจนค่ำหรือเอางานมาทำต่อที่บ้าน บางครั้งถ้าจำเป็นก็ต้องไปทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ เรียกว่าต้องทำงานมากขึ้นและนานขึ้น ในขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ผมไม่รู้ว่านี่เป็น “ทางเลือก” ที่พวกเขาได้รับความพึงพอใจสูงสุดหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอยากทำงานน้อยกว่านี้และให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้นหรือเปล่า

ผมรู้แต่ว่า ตัวเลขจีดีพีที่เติบโตนั้นมันต้อง “แลก” มาด้วยเวลาพักผ่อนกับตัวเองและครอบครัวที่ลดน้อยลง “แลก” มาด้วยเวลาที่จะใช้ชื่นชมศิลปะและสุนทรียะอื่นๆ ซึ่งเวลาพักผ่อนที่น้อยลงนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพเสื่อมโทรม ปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น เป็นต้น

ผมได้แต่หวังว่า ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะมองเห็นถึงสิ่งที่คนทำงานเหล่านี้ต้องสูญเสียไปด้วย มิใช่มัวสนใจแต่ตัวเลขการเติบโตของจีดีพี (และธุรกิจของตน) เพียงอย่างเดียว แล้วมา “บังคับ” ให้ข้าราชการทำงานหนักขึ้นๆ (ให้ทำงานเหมือนเป็นบริษัทเอกชน) แต่ไม่ได้เพิ่มค่าตอบแทนพวกเขาให้เหมาะสมกับงาน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ขึ้นอยู่คนไทยเองนั่นแหละว่าจะ “เลือก” ใช้ชีวิตแบบไหน...

แบบอเมริกัน แบบฝรั่งเศส หรือว่าแบบไทยๆ?

17 comments:

Etat de droit said...

จากการไปอยู่ฝรั่งเศสมาได้ ๓ ปี เห็นด้วยกับบล็อกตอนนี้ทุกประการ

อย่างที่ผมเคยบอกไปในบล็อกตอนเก่าๆของผมว่า เพื่อนชาวฝรั่งเศสผมบอกว่า เราชาวเอเชียบ้างานเกินไป ชีวิตไม่เป็นชีวิต

ผมเคยแอบหนีกลับเมืองไทยครั้งนึงตอนไปอยู่ได้ประมาณ ๖ เดือนแรก โรงเรียนภาษาผมปกติจะเข้มงวดมาก ไม่ยอมให้ลาหยุดเรียน แต่งานนั้น ผมโกหกไปว่าผมจำเป็นต้องกลับเมืองไทยด่วน เพราะมีปัญหาเรื่องที่บ้าน

เหลือเชื่อ ให้ผมกลับเฉยเลย

แถมทางครูเองก็มีสีหน้าเป็นกังวลมากด้วย

อิอิ

ratioscripta said...

ไอ้เวร...เดี๋ยวกรูจะแอบไปพูดลอยๆหน้าห้องคณบดีดีกว่า

แหะๆๆ เชิญเจ้าของบล็อกร่วมรำลึกบรรยากาศในงาน Meet the Bloggers ที่บล็อกของผมครับ

Dawdle Man said...

เยี่ยมมากครับ

ผมว่าสาเหตุที่อเมริกันชนมีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างกับชาวยุโรปก็คือ

1. ชาวอเมริกันส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจากชาวไอริช และผู้แสวงหาโอกาสจำนวนมากที่อพยพหนีความแร้นแค้นในเกาะอังกฤษและยุโรป ทำให้พวกเขาต้องดิ้นรนแข่งขันกับผู้คนจำนวนมาก ซึ่งแน่นอน มีส่วนหนึ่งประสบความสำเร็จ และจำนวนมากล้มเหลว แต่ด้วยความที่ขนะนั้นอเมริกายังเป็น "vergin land" ผู้ชนะจากการแข่งขันจึงสามารถสร้างตัวให้ยิ่งใหญ่ได้อย่างรวดเร็วจนดูราวกับเป็นเรื่องมหัศจรรย์

2. สืบเนื่องจาก 1. วัฒนธรรมอเมริกันเกิดจากการ "ปักชำ" ของวัฒนธรรมยุโรปบางกิ่งบางสาขา ทำให้วัฒนธรรมอเมริกันชนขาด "รากแก้ว" ซึ่งหมายถึงประวัติศาสตร์ ศิลปะ ปรัญชาการใช้ชีวิต หรือขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกัน

3. ยุโรปมีประวัติศาสตร์สืบเนื่องยาวกว่าอเมริกานับสิบเท่าปี ดังนั้นชาวยุโรปมี "ผู้ยิ่งใหญ่" (Hero) ในหลากสาขาอาชีพมากกว่าชาวอเมริกัน ตั้งแต่พระราชา ทหาร พ่อค้า นักประพันธ์ ศิลปิน ตีตกวี ฯลฯ

4. การที่รัฐบาลยุโรปมีดีกรีความเป็น "รัฐสวัสดิการ" สูงกว่ารัฐบาลของอีกฝั่งแอตแลนติค ทำให้ประชากรยุโรปมีแรงจูงใจในการทำงานน้อยลง และให้ priority กับสิ่งนอกเหนือจากงานได้

คิดเห็นยังไง debate กันได้นะครับ :)

ratioscripta said...

เห็นด้วยกับเจ้าของบล็อก และเจ้าของความเห็นที่ทิ้งความเห็นดีๆไว้ทุกคน

ความสุขความพึงพอใจในชีวิตผมว่าใครๆก็อาจจะเห็นต่างกันได้ แม้กระทั่งนิยามความ "รวย" หรือ "จน"

มันออกจะง่ายและหยาบเกินไปหากเราจะด่วนสรุปว่า คนที่มีโภคทรัพย์มากกว่าคือคนที่ "รวย" กว่า

มันอาจจะละเอียดอ่อนกว่านี้หากเรานำความพึงพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่มากำหนด "รวย" หรือ "จน"

นั่นหมายถึง รวย หรือ จน อาจขึ้นอยู่กับ "ช่องว่าง" ระหว่างสิ่งที่ตนมี กับสิ่งที่ตนต้องการ

ถ้าช่องว่างนั้นห่างมากมาย เราอาจจะเรียกคนๆนั้นได้ว่าเป็นคนจน

ถ้าช่องว่าระหว่างสองสิ่งมีเพียงเล็กน้อย หรือไม่มีเลย เราอาจจะเรียกคนๆนั้นได้ว่าคนรวย

ถ้าใช้ตรรกะเช่นนี้

ทักษิณอาจะเป็นคนที่จนที่สุดในประเทศ

ปู่เย็นก็อาจจะเป็นคนที่รวยที่สุดในประเทศ

ได้เช่นกัน

David Ginola said...

ขอบคุณสำหรับทุกความคิดเห็นครับ

ช่วงนี้ไม่ค่อยว่างอัพบล็อกเลยครับ และต้องสารภาพว่าไม่ค่อยได้ติดตามบล็อกของท่านอื่นบ่อยเหมือนก่อน เพราะ

หนึ่ง เรื่องเรียน
สอง เรื่องหนังสือ echo
สาม น้องผมมันใช้คอมฯที่บ้านทุกวัน แถมเน็ตก็อืดเหลือเกิน
และสี่ กำลังดู 24 season 3 อยู่ (ข้อสุดท้ายนี้ข้อเดียวกินเวลาผมเยอะมากๆ)

ไว้เดี๋ยววันจันทร์ผมกะว่าจะมาอัพบล็อกนะครับ (หวังว่าจะทำให้ได้)

sweetnefertari said...
This comment has been removed by a blog administrator.
sweetnefertari said...

ขอโชว์โง่นิดนึงนะคะ

สำหรับตัวเลขทางเศรษฐกิจ จะด้วย GDP หรืออะไรก็แล้วแต่ สำหรับฉันแล้วไม่เคยเห็นเป็นความสำคัญ เพราะมันมีปัจจัยชี้วัดด้านสังคมอยู่ด้วย จะบอกว่าเค้าก็ใช้กันทั้งโลก แต่อย่างที่เห็นๆ คนรวยมันก็รวยขึ้นทุกวันๆ ส่วนคนจนก็จนเท่าเดิม ไม่แตกต่าง


ไม่ว่าตัวเลขจะสูงหรือต่ำ ขอยืนยันว่าตัวเลขนี้ไม่เหมาะอย่างแน่นอนสำหรับประเทศใดๆก็ตาม ที่มีช่องว่างทางฐานะเศรษฐกิจแตกต่างมหาศาล อย่างประเทศไทย เป็นต้น


ประเทศไทยไม่ได้มีแต่คนเมืองนะคะ ไม่เชื่อจะพาไปดู ^_^ คนบ้านนอกเค้าอยู่กันยังไง


แต่ชอบความเห็นนะ เพราะคนเมืองก็เป็นคนกลุ่มหนึ่งในประเทศ และมีความสำคัญยิ่ง เราก็ควรให้ความสำคัญกับเค้า (แม้จะไม่มองเรื่องGDP เป็นสาระก็ตาม)

Anonymous said...

น่าสนใจมากครับน้อง ไว้จะเข้ามาอ่านใหม่ครับ

Anonymous said...

ขออนุญาต copy บางส่วนของข้อเขียนนะครับ

"ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในบ้านเรา ตัวเลขการเจริญเติบโตของจีดีพีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอาจจะดูดีเป็นที่น่าพอใจ แต่มันอาจต้อง “แลก” ด้วยเวลาพักผ่อน (ทั้งกับตัวเองและกับครอบครัว) ที่น้อยลงก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีข้อมูล เพียงแต่อาศัยการสังเกตจากคุณแม่ผมและข้าราชการหลายคนที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาล (เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้า เป็นต้น)

ข้าราชการเหล่านี้ต้องทำงานกันหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หลายครั้งที่ต้องอยู่ทำงานจนค่ำหรือเอางานมาทำต่อที่บ้าน บางครั้งถ้าจำเป็นก็ต้องไปทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ เรียกว่าต้องทำงานมากขึ้นและนานขึ้น ในขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก"

สิ่งที่คุณเขียนมาก็เป็นเหตุการณ์ทีเกิดกับที่บ้านของผมเช่นกันครับ เห็นด้วยทุกประการ

ในความคิดผม....GDP มันก็เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หากจะนำมาวัด "ความสุข" มันก็คงจะเป็นเครื่องมือที่ "หยาบ" เกินไป

ผมชอบเวลาที่แม่กลับบ้านเร็วๆ แล้วผมกับแม่นั่งกันอยู่หลังบ้านคุยเรื่องสัพเพเหระตามประสาแม่ลูก...

ผมชอบเวลาที่สุดสัปดาห์พวกเราพร้อมหน้าพร้อมตาออกไปหาอะไรกินกันตามประครอบครัว...

ผมชอบเวลาที่มีคนโทรศัพท์มาตามแม่ แต่แม่ให้ผมโกหกไปว่าตอนนี้ไม่สบายอยู่...

ผมชอบเวลาที่แม่ลางาน(หรือจะเรียกว่าโดดงานก็ได้ อิอิ)เพราะมันเหนื่อยล้าจนเกินทน เพื่อที่จะมานอนแอ้งแม้งอยู่ที่ห้องรับแขกหน้าบ้านอย่างไม่เกรงกลัวฟ้าดิน.....

ที่อยากจะบอกก็คือ ผมชอบเวลาที่เห็นแม่มีความสุข มากกว่าที่จะหมกหมุ่นคร่ำเคร่งอยู่กับงานเพียงอย่างเดียว

ที่พิมๆมาไม่ค่อยมีประเด็นหรอกครับ แต่สำหรับท่านที่สนใจเกี่ยวกับเครื่อง เศรษฐศาสตร์ที่ว่าด้วยความสุขลองไปหาบทความ "เศรษฐศาสตร์แห่งความสุข : มุมมองว่าด้วยความสุขของเศรษฐศาสตร์นอกกระแสหลัก" ของ อาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิดครับ ซึ่งอยู่ในหนังสือ เศรษฐกิจแห่งความสุขและการแบ่งปันว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืนและชุมชน ลองไปหาอ่านดูนะครับ

แล้วผมจะแวะมาเยี่ยมชม blog นี้บ่อยครับ

Gelgloog said...

เอ้อ ขอฝากถามคุณเจ้าของ blog หน่อยครับว่าเรื่องหนังสือ echo นี่สามารถหาได้ที่ไหนครับ

แล้ว echo ที่กำลังจะทำกันอยู่นี่ใช่เจ้าเดียวกับหนังสือ be political economy หรือเปล่าครับถ้าใช่ล่ะก็ตอนสมัยเป็น be politcal economy ผมก็เคยติดตามอยู่บ้างครับ เป็นหนังสือที่ดีมากเลยทีเดียว

ขอเป็นกำลังใจให้คุณ david ginola ต่อไปครับ เพราะรู้สึกว่าติดพันภารกิจหลายประการจริงๆ (ไม่เหมอืนกับผมว่างตลอดกาล 5 5 5)

Anonymous said...

ไม่อัพเดทหรือครับท่านน้องฯ

David Ginola said...

ถึงคุณ gelgloog และพี่ pol

ใช่แล้วครับ หนังสือ ECHO ก็คือ be Political Economy เดิมครับ เพียงแต่เปลี่ยนชื่อและรูปเล่มให้ดูดีขึ้น ดึงดูดขึ้น ตอนนี้หาซื้อได้ที่ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ (ทั้งสองแคมปัส), จุฬาฯ, มศว. และเกษตรศาสตร์ครับ

อันที่จริงช่วงนี้ผมก็ไม่ได้ยุ่งขนาดนั้นครับ ยุ่งนิดหน่อยเรื่องปิดต้นฉบับ ECHO เล่มใหม่ แต่ไม่รู้เป็นอะไรครับ ช่วงนี้ผมไม่ค่อยมีอารมณ์อัพบล็อกเลย (นอกจากไม่มีอารมณ์แล้วยังแอบขี้เกียจด้วย แฮ่ๆ) แถมเน็ตที่บ้านตอนนี้ก็ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง แล้วแต่อารมณ์ของมัน แถมช่วงนี้มีหนังสือหลายเล่มที่ซื้อมาจากงานหนังสือให้อ่านตลอดเวลาด้วยสิครับ

แต่กำลังฮึดอยู่ครับ หวังว่าจะได้อัพภายในสองสามวันนี้ครับ

Dawdle Man said...

รู้สึกว่าช่วงนี้ชาว blog ทั้งหลายติดเชื้อขี้เกียจกันงอมแงมเลยแฮะ

ว่าแต่หนังสือ political ที่พวกเราทำนี่ก็กว้างไกลใช้ได้แฮะ :P

Gelgloog said...

ขอถามต่ออีกหน่อยนะครับ (คงไม่ว่ากัน)

แล้วตอนนี้ ECHO ออกมากี่เล่มแล้วครับ แล้วจะออกช่วงไหนของเดือนครับ วานบอกที จะได้ออกจากบ้านไปแล้วไม่เสียเที่ยว อิอิ เพราะช่วงนี้ไม่ค่อยได้เข้าไปที่มหาลัยน่ะครับ

แล้วจะแวะเข้ามาเยี่ยมอีกครับ

David Ginola said...

ECHO ออกมาแล้วสามฉบับครับ

เล่มต่อไป เป็นฉบับตุลาคม แต่คงออกช่วงต้นเดือน พ.ย.นะครับ พวกเราทีมงานก็ยุ่งเรื่องเรียนเรื่องสอบกัน หนังสือก็เลยออกช้าไปบ้างครับ

เดี๋ยวถ้าหนังสือออกแล้ว ผมจะโพสต์บอกนะครับ

ป.ล.ดีใจที่มีคนสนใจติดตามอ่านหนังสือของเรา

Be_my_angel said...

เป็นบทความที่น่าสนใจทีเดียวค่ะ แล้วก้อเห็นด้วยกับน้องเดวิดทุกประการ โลกเราทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะ คนใช้เวลากับครอบครัวและสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขที่แท้จริงและยั่งยืนน้อยลง เงินเป็นสิ่งสำคัญ แต่ก้อไม่ได้สำคัญที่สุด สุขภาพ และความสงบทางจิตใจก้อเป็นสิ่งที่ต้องดูแลและให้ความสำคัญด้วย

Unknown said...

ชอบ blog นี้ค่ะ เข้ามาอ่านแล้วคิดว่ามันเป็นเช่นนั้น เนื่องจากเคยใช้ชีวิตที่ฝรั่งเศสและกำลังอาศัยและทำงานในอเมริกา