Tuesday, October 18, 2005

บทบรรณาธิการ ECHO (ตุลาคม 2548)

กลับมารายงานตัวแล้วครับผ้ม!

David Ginola กลับมาแล้วพร้อมกับฟอร์มร้อนแรงของไก่เดือยทอง สเปอร์ส ที่ตอนนี้ตีปีกขึ้นไปอยู่อันดับ 2 ของตารางแล้ว (เหนือกว่าแมนยูฯ ลิเวอร์พูล และอาร์เซนอล ฮ่าๆๆ)...

ผมไม่ได้อัพบล็อกเสียนาน (เพราะเรื่องยุ่งๆและความขี้เกียจเป็นสาเหตุหลัก) ตอนนี้เลยจะพยายามกลับมาอัพอย่างสม่ำเสมออีกครั้ง

วันนี้เลยขอนำบทบก.ที่ผมเพิ่งเขียนเสร็จและจะลงใน ECHO เล่นใหม่มาให้อ่านกันนะครับ

เห็นด้วยหรือไม่อย่างไร ก็คอมเมนต์ได้เลยนะครับทุกท่าน

.........

บทบรรณาธิการ

เมื่อปีก่อน ผมโชคดีที่มีโอกาสไปเป็นนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ University of California, Davis เป็นเวลาหนึ่งปีการศึกษา สิ่งหนึ่งที่ผมได้รับจากการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นก็คือ การได้ทำความรู้จักกับ “ตัวตน” ของคนอเมริกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การได้เรียนรู้ถึงแนวทางการใช้ชีวิตของนักศึกษาอเมริกัน

จุดหนึ่งที่ผมสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ความเป็น “บริโภคนิยม” ของนักศึกษาที่นั่น เพราะนักศึกษาแต่ละคนต่างก็ใช้จ่ายบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ สารพัด ไม่ว่าจะเป็นอาหารการกิน (แต่ละอย่างมีขนาดใหญ่มาก) สินค้าแฟชั่น สินค้าที่เกี่ยวกับกีฬาและดนตรี หรือสินค้าเทคโนโลยีอย่าง iPod

แต่ถึงแม้พวกเขาจะบริโภคอะไรต่อมิอะไรมากมาย ผมกลับมีความรู้สึกว่าพวกเขามีชีวิตที่ค่อนข้าง “เรียบง่าย สบายๆ” ไม่ได้รู้สึกว่าพวกเขาใช้เงินอย่าง “ฟุ่มเฟือย” หรือใช้ชีวิตอย่าง “ฟุ้งเฟ้อ” แต่อย่างใด ที่ผมรู้สึกเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผมเห็นว่า นักศึกษาอเมริกันไม่ได้ “ใช้เงิน” เป็นอย่างเดียวแต่ยัง “หาเงิน” เป็นด้วย เพราะพวกเขารับจ้างทำงานพิเศษทั้งในช่วงปิดเทอมและเปิดเทอม ซึ่งการทำงานพิเศษเพื่อหาเงินด้วยตัวเองนี้เอง ที่ทำให้พวกเขารู้จักคุณค่าของเงินและรู้จักใช้เงินมากกว่าวัยรุ่นไทยส่วนใหญ่ แต่จะโทษวัยรุ่นไทยก็คงจะไม่ได้ เพราะสังคมไทย (พ่อแม่ผู้ปกครอง) ก็ไม่ได้ต้องการให้นักศึกษาทำงานพิเศษ หากแต่ต้องการให้พวกเขาตั้งใจเรียนให้จบปริญญาเร็วๆ มากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างฟุ่มเฟือยและฟุ้งเฟ้อของวัยรุ่นไทยในปัจจุบัน อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับตัววัยรุ่นเองและกับสังคมได้ในอนาคต ทั้งนี้ ปัญหาจะเกิดขึ้นก็เพราะวัยรุ่นไทยจำนวนมากขาดความเป็น “มืออาชีพ” (Professionalism) ใน “งาน” ของตัวเอง ซึ่งความเป็น “มืออาชีพ” ที่ผมพูดถึงนี้ก็คือ การรู้จักรับผิดชอบใน “งาน” ของตน รักใน “งาน” นั้น และทำ “งาน” นั้นให้ดีที่สุด

แน่นอนว่า “งาน” หลักของเยาวชนก็คือการศึกษาเล่าเรียน ดังนั้น ความเป็น “มืออาชีพ” ของเยาวชนจึงขึ้นอยู่กับ การตั้งใจศึกษาเล่าเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ แต่หากเราลองเหลียวดูพฤติกรรมการเรียนของเยาวชนไทยในปัจจุบัน เราจะพบว่าเยาวชนไทยมีความเป็น “มืออาชีพ” น้อยจนน่ากังวลใจ

อย่างเมื่อวันก่อน ในคลาสเรียนคลาสหนึ่งของผมซึ่งควรจะเริ่มตอนเก้าโมงตรง แต่นักศึกษาส่วนใหญ่กลับนำ “การบ้าน” มาทำในห้องเรียนอย่างไม่เกรงใจอาจารย์และเพื่อนคนอื่นที่ทำเสร็จมาก่อนแล้ว ทำให้อาจารย์และเพื่อนคนอื่นต้องรอจนถึงเกือบเก้าโมงครึ่งกว่าจะได้เริ่มเรียน ส่วนการเข้าเรียนสาย การลอก (ปั่น) การบ้าน ทานขนมในห้องเรียน คุยในห้องโดยไม่เกรงใจอาจารย์ ตลอดจนถึงการโดดเรียนไปเที่ยวเล่น ต่างก็เป็นพฤติกรรมที่นักศึกษาหลายคนทำเป็นประจำ เมื่อถึงเวลาใกล้สอบ พวกเขาก็แค่ไปฟังการติวจากเพื่อนที่เข้าเรียนและถ่ายเอกสารเลกเชอร์ของเพื่อนที่ตั้งใจเรียนมาอ่าน หรือไม่ก็ทุจริตในการสอบ เท่านี้ก็สามารถสอบผ่านและเรียนจบปริญญาได้

ผมพยายามมองโลกในแง่ดีว่า นักศึกษาบ้านเรากระทำสิ่งเหล่านี้ไปโดยไม่รู้สึกตัว คือเห็นเพื่อนคนอื่นๆ ทำกันก็เลยทำตามไปโดยไม่รู้สึกว่าไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้ แต่ถ้าหากความคิดและนิสัยเหล่านี้ติดตัวพวกเขาไปจนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในสังคม บ้านเมืองเราจะไม่ยิ่งเละเทะเข้าไปใหญ่หรือ?

เมื่อผมย้อนกลับไปมองดูสังคมอเมริกัน ผมพบว่านักศึกษาที่นั่นมีความเป็น “มืออาชีพ” สูงกว่าในเมืองไทยมาก พวกเขาดูจะมีความกระตือรือร้นในการเรียนค่อนข้างสูงทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียน พวกเขาจะมาจับจองที่นั่ง (แถวหน้า) ก่อนอาจารย์จะเข้าสอน ระหว่างเรียนก็จะไม่คุยกันเพราะถือเป็นการไม่ให้เกียรติอาจารย์ผู้สอน เมื่อมีปัญหาสงสัยอะไรพวกเขาก็จะไปคุยกับอาจารย์ที่ห้องพักอาจารย์ ที่สำคัญ พวกเขายังรู้จักแบ่งเวลาเรียนและเวลาเล่น คือถ้าไม่ใช่เวลาเรียน พวกเขาก็จะเที่ยวเล่นและทำกิจกรรมอื่นๆ อย่างเต็มที่ เหมือนปรัชญา “Study hard and play hard.” นั่นเอง

นอกจากนักศึกษาอเมริกันจะมีความเป็น “มืออาชีพ” มากกว่านักศึกษาไทยโดยรวมแล้ว ผมยังคิดว่าพวกเขาดูจะมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปของสังคมส่วนรวมมากกว่านักศึกษาไทยอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น เมื่อตอนก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯครั้งล่าสุด นักศึกษาที่นั่นก็ได้จัดการพูดปราศรัยขึ้นหน้าโรงอาหารของมหาลัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของผู้สมัครจากทั้งสองพรรค ส่วนนักศึกษาคนอื่นก็สนใจมาฟังการปราศรัยกันเป็นจำนวนมาก นับเป็นบรรยากาศแห่งประชาธิปไตยที่สวยงามยิ่งในหมู่นักศึกษาที่นั่น

นอกจากนี้ นักศึกษาที่นั่นยังได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในสังคม เช่น กลุ่มต่อต้านสงคราม กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มต่อต้านการใช้แรงงานในประเทศยากจนอย่างไม่เป็นธรรมของบริษัทข้ามชาติ เป็นต้น เรียกได้ว่าวัยรุ่นที่นั่นรู้จักคิดถึงผู้อื่น คิดถึงสังคม และมีความพยายามที่จะสร้างสรรค์สังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

ผมอยากเห็นวัยรุ่นไทย (และ “ผู้ใหญ่” ในสังคม) มีความเป็น “มืออาชีพ” และมีความสนใจในปัญหาและความเป็นไปในสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ และขอฝากคำพูดสองประโยคของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ไว้ให้ทุกคนคิด

“Never regard study as a duty, but as the enviable opportunity to learn… for your own personal joy and to the profit of the community to which your later work belongs.”
“จงอย่าถือว่าการศึกษาเรียนรู้เป็นหน้าที่ หากแต่เป็นโอกาสอันดีที่จะเรียนรู้... เพื่อความสุขของตัวเองและเพื่อประโยชน์ของสังคมที่เราจะทำงานให้”

“The value of a man resides in what he gives and not what he is capable of receiving.”
“คุณค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เขาให้ ไม่ใช่สิ่งที่เขาสามารถแสวงหามาได้”

มาร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเริ่มที่ตัวเราเองก่อนกันเถอะครับ