Sunday, August 21, 2005

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

สวัสดีครับ ช่วงนี้ไม่ได้อัพบล็อกมานาน เพราะเปิดเทอมแล้ว งานค่อนข้างเยอะครับ

พรุ่งนี้ก็จะถึงเวลา Meet the Bloggers แล้ว รู้สึกตื่นเต้นเล็กน้อย อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนที่เด็กที่สุดในชุมชนนี้ (แฮ่ๆ)

วันนี้ตอนแรกผมกะว่าจะเขียน "เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้" ตอนสุดท้ายให้จบ แต่ปรากฎว่าอากาศที่บ้านผมมันร้อนมากๆ เลยไม่มีอารมณ์เขียนถึงแอฟริกาใต้อันหนาบเหน็บ (เกี่ยวกันไหมเนี่ย)

ผมเลยเขียนเรื่องนี้แทน

เดี๋ยวเจอกันนะครับ

.........

ทางเลือกที่แตกต่างของอเมริกันชนและคนฝรั่งเศส

นักศึกษาเศรษฐศาสตร์ทุกคนรู้กันดีว่า ปัญหาพื้นฐานของเศรษฐศาสตร์นั้นคือ “การเลือก” หรือ “การจัดสรร” ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“การเลือก” เป็นกระบวนการที่เราทุกคนต้องเผชิญอยู่ทุกชั่วขณะเวลา เช่น เลือกว่าจะทำอะไร จะเรียนอะไร จะซื้ออะไร จะกินอะไร จะไปไหน ฯลฯ

การที่เราทุกคนต้องตัดสินใจ “เลือก” ทำอะไรบางอย่างนั้น ก็เป็นเพราะ “ทรัพยากร” ของเรามีอยู่อย่างจำกัด เช่น มีเงินจำกัดใช้ได้แค่วันละ 100 บาท หรือมีเวลาจำกัดแค่ 24 ชั่วโมงต่อวัน

ในเมื่อ “ทรัพยากร” มีอยู่อย่างจำกัด แต่เรามีความต้องการอยากทำหรืออยากได้หลายอย่าง เราจึงต้อง “เลือก” ว่าจะทำอะไร

แน่นอนว่า การที่เรา “เลือก” ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทำให้เราต้องสูญเสียโอกาสที่จะทำสิ่งอื่นๆไปพร้อมกันด้วย เช่น เราเลือกที่จะใช้เงิน 100 บาทซื้อตั๋วดูหนัง เราก็สูญเสียโอกาสที่จะใช้เงินจำนวนนั้นซื้อหนังสือ ซื้อเสื้อผ้า หรือซื้อซีดีเพลง ซึ่งปรากฏการณ์นี้ก็คือ “ภาวะได้อย่างเสียอย่าง” (Trade-off) นั่นเอง

วันนี้ ผมอยากนำเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การเลือก” ที่แตกต่างกันระหว่างคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส ซึ่ง Paul Krugman เขียนไว้ในบทความใน New York Times เรื่อง “French Family Values” มาเล่าสู่กันฟังครับ

.........

ทุกวันนี้ พวกเราต่างก็รู้ดีว่า หากใช้ฐานะทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นตัววัด สหรัฐอเมริกาถือเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของโลกชนิดที่ทิ้งคู่แข่งประเทศอื่นๆแบบขาดลอย โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯนั้นมีขนาดใหญ่คิดเป็นประมาณหนึ่งในห้าของเศรษฐกิจโลก ส่วนรายได้ต่อหัว (GDP per capita) ของคนอเมริกันนั้นก็สูงถึงประมาณ 40,000 เหรียญสหรัฐต่อปี

เมื่อเปรียบเทียบกับคนอเมริกา ฐานะทางเศรษฐกิจของคนฝรั่งเศสดูจะด้อยกว่าอยู่มากพอสมควร เห็นได้จากตัวเลขรายได้ต่อหัวของคนฝรั่งเศสซึ่งอยู่ที่ประมาณ 30,000 เหรียญสหรัฐต่อปี ซึ่งน้อยกว่าของคนอเมริกันอยู่ถึง 10,000 เหรียญสหรัฐทีเดียว

แต่คุณผู้อ่านสงสัยหรือไม่ว่า คนอเมริกันที่มีรายได้สูงกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ในชีวิตมากกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

กับคำถามนี้ คงไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่ถูกต้องชัดเจนได้แน่ เพราะ “ความพึงพอใจ” หรือ “ความสุข” ของแต่ละคนนั้นมันเป็นนามธรรมซึ่งยากจะเปรียบเทียบกันได้

แต่ถ้าผมลองตั้งคำถามใหม่อีกสองข้อต่อไปนี้ ผมคิดว่าเราน่าจะหาคำตอบได้ไม่ยาก

ข้อแรก คนอเมริกันร่ำรวยกว่าคนฝรั่งเศสเพราะคนอเมริกันทำงาน “เก่ง” และมีประสิทธิภาพกว่าคนฝรั่งเศสใช่หรือไม่?

กับคำถามข้อนี้ การศึกษาข้อมูลเรื่องผลิตภาพ (Productivity) ของ Organization for Economic Corporation and Development (OECD) บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผลิตภาพ (จีดีพีต่อหนึ่งชั่วโมงการทำงาน) ของคนฝรั่งเศสสูงกว่าผลิตภาพของคนสหรัฐฯอยู่เล็กน้อย พูดง่ายๆก็คือ ถ้าให้เวลาทำงานเท่าๆกัน คนฝรั่งเศสสามารถผลิตงานได้มีมูลค่ามากกว่าคนอเมริกัน

ดังนั้น เราจึงอาจสรุปได้คร่าวๆว่า ในความเป็นจริงนั้น คนอเมริกันไม่ได้ทำงาน “เก่ง” หรือมีประสิทธิภาพมากไปกว่าคนฝรั่งเศส

ข้อสอง คนอเมริกันซึ่งมีรายได้มากกว่าคนฝรั่งเศสนั้น มี “ชีวิตความเป็นอยู่” ดีกว่าคนฝรั่งเศสหรือไม่?

สำหรับคำถามข้อสองนี้ ผมขอตอบว่า “มันไม่แน่เสมอไป” ที่ผมตอบเช่นนี้เพราะผมสรุปจากข้อมูลที่น่าใจมากเกี่ยวกับพฤติกรรม “การเลือก” แบ่งเวลาการทำงานที่แตกต่างกันของคนอเมริกันกับคนฝรั่งเศส

ข้อมูลที่ผมว่านี้ทำให้เราสามารถสรุปได้ว่า ถึงแม้คนฝรั่งเศสจะมีรายได้น้อยกว่าคนอเมริกันถึง 10,000 เหรียญสหรัฐต่อปี แต่นั่นเป็นเพราะคนฝรั่งเศสให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ คนฝรั่งเศสให้เวลากับการพักผ่อนอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกันนั่นเอง

จริงอยู่ว่ามันมีเหตุผลอื่นๆที่ทำให้คนฝรั่งเศสมีชั่วโมงการทำงานและรายได้ต่อหัวน้อยกว่าคนสหรัฐฯ เช่น เรื่องอัตราการว่างงานของฝรั่งเศสที่สูงกว่าของสหรัฐฯ เรื่องการเกษียณอายุการทำงานของคนฝรั่งเศสที่เร็วกว่าของคนอเมริกัน

แต่สุดท้ายแล้ว Krugman ก็สรุปว่าเหตุผลหลักจริงๆก็คือ คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากกว่าคนอเมริกัน คนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะให้เวลากับการทำงานน้อยกว่าคนอเมริกัน และคนฝรั่งเศส “เลือก” ที่จะลาหยุดงานเพื่อเดินทางท่องเที่ยวนานกว่าคนอเมริกัน

ยกตัวอย่างเช่น ในหนึ่งปี คนฝรั่งเศสจะหยุดงานไปเที่ยวคิดเป็นเวลาถึง 7 สัปดาห์ ในขณะที่คนอเมริกันหยุดงานไปเที่ยวแค่ไม่ถึง 4 สัปดาห์ต่อปีเท่านั้น

ลองนึกภาพว่าคุณอยู่ในครอบครัวของคนฝรั่งเศส ครอบครัวคุณมีรายได้น้อยกว่าครอบครัวคนอเมริกัน ครอบครัวคุณจึงบริโภคสินค้าและบริการต่างๆได้น้อยกว่าครอบครัวอเมริกัน เช่น มีบ้านหลังเล็กกว่า มีรถน้อยคันกว่าหรือรุ่นเก่ากว่า มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกน้อยกว่าหรือคุณภาพด้อยกว่า แต่สมาชิกในครอบครัวของคุณมีเวลาอยู่ด้วยกันมากกว่าครอบครัวอเมริกัน

ชั่วโมงการทำงานและเงินรายได้ของครอบครัวคนฝรั่งเศสที่น้อยกว่านั้นได้ถูกทดแทนด้วย “เวลาพักผ่อนกับครอบครัว” ที่มีเพิ่มมากขึ้น

นี่คือการตัดสินใจ “เลือก” ของคนฝรั่งเศส ที่ยอมทำงานน้อยลง (ทำให้รายได้และการบริโภคลดลง) เพื่อให้มีเวลาพักผ่อนและไปเที่ยวกับครอบครัวมากขึ้น เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของคนฝรั่งเศสเอง

ส่วนการตัดสินใจของอเมริกันชนผู้ “เลือก” ที่จะทำงานมากขึ้น (เพื่อเพิ่มรายได้และความสำเร็จ) โดยยอมลดเวลาพักผ่อนกับครอบครัวลงไป ก็เป็นการตัดสินใจที่อยู่บนพื้นฐานของความพอใจสูงสุดของอเมริกันชนเองเช่นกัน

เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของคนอเมริกันที่สูงกว่าของคนฝรั่งเศสนั้น จึงไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าคนอเมริกันมี “ชีวิตความเป็นอยู่” ที่ดีกว่าคนฝรั่งเศส เพราะตัวเลขที่สูงกว่านั้นไม่ได้เป็นผลมาจากความแตกต่างในเรื่องประสิทธิภาพหรือผลิตภาพการผลิต หากแต่เป็นผลมาจาก “การเลือก” หรือ “การจัดลำดับความสำคัญ” (Priority Setting) ที่ไม่เหมือนกันของคนสองประเทศ

จะว่าไปแล้ว พฤติกรรมการแบ่งเวลาของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสก็สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมและวิถีชีวิตที่แตกต่างกันของผู้คนในสองประเทศ

โดยคนอเมริกันนั้นมีค่านิยมแบบ Masculine บวกกับลัทธิปัจเจกชน (Individualism) ทำให้พวกเขาส่วนใหญ่นับถือความสำเร็จในอาชีพการงานเป็นสำคัญ ยึดถือคติที่ว่า “ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” และให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาในสังคมค่อนข้างมาก

ซึ่งประสบการณ์ของผมตอนที่ไปอยู่อเมริกาก็ได้พิสูจน์ให้ผมเห็นว่า พวกเขาค่อนข้าง “บ้างาน” และ “บ้าความสำเร็จ” มากกว่าคนประเทศอื่นจริง ยกตัวอย่างเช่น อาจารย์มหาวิทยาลัยก็ทำงานวิจัยกันอย่างทุ่มเทมาก บางคนทำงาน 6 วันครึ่งต่อสัปดาห์ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ เรายังสามารถสังเกตความเป็น Masculine ของอเมริกันชนได้จากการที่คนอเมริกันซื้อรถยนต์ส่วนตัวและบริโภคสินค้าต่างๆที่แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของพวกเขาให้ผู้อื่นได้รับรู้ หรือสังเกตจากการยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของคนอเมริกัน (เช่น นักกีฬา เจ้าของธุรกิจ) ให้เป็น Idols

ส่วนคนฝรั่งเศสและคนยุโรปส่วนใหญ่นั้นจะมีค่านิยมเอียงไปทางด้าน Feminine พวกเขาให้ความสำคัญกับครอบครัวคุณภาพชีวิต และความสุนทรีย์มากกว่าความสำเร็จทางหน้าที่การงานหรือความมีหน้ามีตาทางสังคม

โดยจะสังเกตได้ว่าคนยุโรปจะไม่ค่อยยกย่องบุคคลที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากเท่ากับคนอเมริกัน หรือสังเกตจากชนชั้นสูงของอังกฤษ (เช่น นายธนาคารใหญ่ เจ้าของธุรกิจ) ที่ไม่ได้สนใจซื้อหารถยนต์ส่วนตัวมาโชว์ออฟ แต่ยังคงใช้บริการระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟใต้ดินเหมือนๆกับชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงานอยู่ หรือจะสังเกตจากความตื่นตัวเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม เรื่องสุขภาพ และเรื่องมาตรฐานสุขอนามัยของอาหาร ซึ่งคนยุโรปตื่นตัวและให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้สูงกว่าคนอเมริกันมาก

.........

เรื่องราวทางเลือกที่แตกต่างกันของคนอเมริกันและคนฝรั่งเศสนี้ สอนให้เราตระหนักว่า การใช้ตัวเลขจีดีพีหรือรายได้ต่อหัวของผู้คนในประเทศต่างๆเพื่อเปรียบเทียบ “ชีวิตความเป็นอยู่” ของพวกเขานั้น มันมีช่องโหว่และจุดด้อยที่นักเศรษฐศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายมิอาจมองข้ามไปได้

ตัวเลขจีดีพีที่สูงอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะให้เวลากับงานมากขึ้น ซึ่งก็ต้องแลกมาด้วยเวลาที่จะพักผ่อนกับครอบครัวนั้นน้อยลง (เหมือนคนอเมริกัน) ส่วนตัวเลขจีดีพีที่ต่ำอาจจะมาจาก “การเลือก” ที่จะใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัวมากขึ้น ทำให้เวลาทำงานน้อยลงก็ได้ (เหมือนคนฝรั่งเศส)

บางคนอาจตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วสังคมไหนล่ะที่ “เลือก” ทางเลือกที่ดีกว่า?

ผมคิดว่า คำถามนี้มันไม่มีคำตอบ เพราะการที่ผู้คนในสังคมใดก็ตาม “เลือก” ที่จะให้ความสำคัญกับสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มันแปลว่าผู้คนในสังคมนั้นได้ตัดสินใจเลือกบนพื้นฐานของความพึงพอใจสูงสุดของพวกเขาอยู่แล้ว ไม่ว่าพวกเขาจะเลือกอย่างไร มันก็เป็นทางเลือกที่ทำให้พวกเขาได้รับความพึงพอใจมากที่สุดแล้วภายใต้สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอาศัยอยู่


เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาถูกบังคับหรือไม่ได้เต็มใจที่จะ “เลือก” ทางเลือกนั้นๆ (เช่น นโยบายของรัฐบาลทำให้คนบางคนต้อง “เลือก” ทำอะไรบางอย่างที่ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเขา) ถ้าหากเหตุการณ์เป็นแบบนี้ ทางเลือกที่สังคมเลือกอาจจะไม่ได้ก่อให้เกิดความพอใจสูงสุดของผู้คนในสังคมก็ได้

.........

ย้อนกลับมาดูเหตุการณ์ในบ้านเรา ตัวเลขการเจริญเติบโตของจีดีพีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาอาจจะดูดีเป็นที่น่าพอใจ แต่มันอาจต้อง “แลก” ด้วยเวลาพักผ่อน (ทั้งกับตัวเองและกับครอบครัว) ที่น้อยลงก็เป็นได้ ซึ่งตรงนี้ผมไม่มีข้อมูล เพียงแต่อาศัยการสังเกตจากคุณแม่ผมและข้าราชการหลายคนที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญของรัฐบาล (เช่น กรมส่งเสริมการส่งออก กรมเจรจาการค้า เป็นต้น)

ข้าราชการเหล่านี้ต้องทำงานกันหนักขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก หลายครั้งที่ต้องอยู่ทำงานจนค่ำหรือเอางานมาทำต่อที่บ้าน บางครั้งถ้าจำเป็นก็ต้องไปทำงานวันเสาร์และอาทิตย์ เรียกว่าต้องทำงานมากขึ้นและนานขึ้น ในขณะที่เงินเดือนข้าราชการไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก

ผมไม่รู้ว่านี่เป็น “ทางเลือก” ที่พวกเขาได้รับความพึงพอใจสูงสุดหรือไม่ ผมไม่รู้ว่าพวกเขาอยากทำงานน้อยกว่านี้และให้เวลากับตัวเองและครอบครัวมากขึ้นหรือเปล่า

ผมรู้แต่ว่า ตัวเลขจีดีพีที่เติบโตนั้นมันต้อง “แลก” มาด้วยเวลาพักผ่อนกับตัวเองและครอบครัวที่ลดน้อยลง “แลก” มาด้วยเวลาที่จะใช้ชื่นชมศิลปะและสุนทรียะอื่นๆ ซึ่งเวลาพักผ่อนที่น้อยลงนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา เช่น ปัญหาสุขภาพเสื่อมโทรม ปัญหาครอบครัวขาดความอบอุ่น เป็นต้น

ผมได้แต่หวังว่า ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายจะมองเห็นถึงสิ่งที่คนทำงานเหล่านี้ต้องสูญเสียไปด้วย มิใช่มัวสนใจแต่ตัวเลขการเติบโตของจีดีพี (และธุรกิจของตน) เพียงอย่างเดียว แล้วมา “บังคับ” ให้ข้าราชการทำงานหนักขึ้นๆ (ให้ทำงานเหมือนเป็นบริษัทเอกชน) แต่ไม่ได้เพิ่มค่าตอบแทนพวกเขาให้เหมาะสมกับงาน

แต่ท้ายที่สุดแล้ว มันก็ขึ้นอยู่คนไทยเองนั่นแหละว่าจะ “เลือก” ใช้ชีวิตแบบไหน...

แบบอเมริกัน แบบฝรั่งเศส หรือว่าแบบไทยๆ?

Wednesday, August 03, 2005

เก้าวันกลางป่าแอฟริกาใต้ (3)

ในตอนที่แล้ว ผมได้เล่าถึงกิจกรรมการศึกษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแอฟริกาใต้ (เช่น การเดินป่าการเรียนรู้จากขี้สัตว์ การส่องสัตว์ การศึกษาแหล่งน้ำ) ไปแล้ว

มาในตอนนี้ ผมจะเล่าถึงกิจกรรมอื่นๆที่พวกเราเยาวชนกว่าห้าสิบชีวิตได้เข้าร่วมระหว่างเข้าค่าย Cathay Pacific Wilderness Experience นี้บ้างนะครับ ผมคิดว่ากิจกรรมเหล่านี้ก็น่าสนใจไม่แพ้การเดินป่าสำรวจธรรมชาติเลย

.........

กิจกรรมแรกที่ผมจะเล่าให้ฟังเป็นกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์หนึ่งที่สำคัญของค่ายนี้ มันมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า Mock Wedding

เรื่องของเรื่องก็คือ เยาวชนแต่ละชาติจะต้องแสดงพิธีแต่งงานประจำชาติ (พิธีแบบจำลองนะครับ ไม่ใช่ของจริง) ให้ทุกคนในค่ายได้ชมกันเป็นขวัญตา เก๋ดีไหมครับ?

เยาวชนทุกคนต่างก็ต้องเตรียมตัวอย่างดีเพื่อให้การแสดง “งานแต่งงานประจำชาติจำลอง” นี้ออกมาได้ดีที่สุด โดยเริ่มเตรียมตัวกันตั้งแต่ก่อนเข้าค่าย

งานนี้พวกเราเด็กไทยสามคนก็ต้องเตรียมชุดไทยและอุปกรณ์ประกอบการแสดงอื่นๆไปจากเมืองไทย โดยผมเตรียมชุดราชประแตน (สะกดอย่างนี้หรือเปล่าไม่แน่ใจนะครับ) พร้อมโจงกระเบนสีเหลืองๆทองๆและผ้าพาดไหล่แบบไทยๆไป ส่วนสองสาวก็เตรียมชุดไทยไปด้วยเช่นกัน

ส่วนอุปกรณ์ประกอบพิธีนั้น พวกเราก็เตรียมหอยสังข์ไป แล้วก็เตรียมขนมไทย(จีน)จำพวกถั่วตัด (ขนมแบบที่เห็นกันทั่วไปในช่วงตรุษจีน) นอกจากนั้นก็เตรียมพานไปอีกสองสามอันและเตรียมกระดาษเงินกระดาษทองไปด้วย

ตอนก่อนไปค่ายนี่พวกเราสามคนก็ยังไม่ได้ตกลงกันนะครับ ว่าใครจะแสดงเป็นเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ซึ่งมันก็มีความเป็นได้หลายทาง

ทางเลือกหนึ่งคือให้ผมแสดงเป็นเจ้าบ่าว แล้วก็จะต้องให้หนึ่งในสองสาวไทยมาเป็นเจ้าสาว (จำเป็น) ของผม

ปัญหาก็คือ ดูเหมือนว่าเธอทั้งสองจะเกี่ยงกันไม่มีใครต้องการเป็นเจ้าสาวของผมเลย (ฮือๆ)

อีกทางเลือกหนึ่งคือให้หนึ่งสาวแสดงเป็นเจ้าบ่าว อีกคนก็เป็นเจ้าสาวไป แต่ก็จะติดปัญหาเรื่องชุด เพราะสองสาวไม่มีเสื้อผู้ชาย ใส่ของผมก็ขนาดไม่ได้

เลยยังไม่ได้ข้อสรุปเรื่องเจ้าบ่าวเจ้าสาวจนถึงหนึ่งวันก่อนวันแสดงจริง

ถึงวันนั้น พวกเราตกลงกันว่า ผมจะเล่นบทพระเอกของเรื่อง นั่นคือเล่นเป็นเจ้าบ่าว ส่วนหญิงสาวผู้โชคดี (หรือโชคร้าย?) ที่จะมาเล่นบทเจ้าสาวของผมนั้นก็คือ ไผ่ สาวน้อยร่างเล็กจากพิษณุโลกนั่นเอง (ผมจำไม่ได้ว่าทำไมไผ่ถึงรับเล่นบทเจ้าสาว ไม่แน่ใจว่าสองสาวเป่ายิ้งฉุบหรือจับไม้สั้นไม้ยาวกันหรือเปล่า!)

เอาแหละครับ พอถึงวันแสดงจริง ช่วงบ่ายพวกเราก็เปลี่ยนชุดแต่งกายเป็นชุดไทย สองสาวก็ได้พี่นักข่าวสาวคนไทยสองคนช่วยแต่งหน้าให้

พอแต่งตัวเสร็จพวกเราก็เตรียมอุปกรณ์ให้เรียบร้อย หากิ่งไม้สองสามกิ่ง แล้วเอากระดาษสีเงินสีทองที่เตรียมมามาพันรอบกิ่งไม้ เอาไว้ใช้ในพิธี

ช่วงบ่ายวันนั้น ชาวค่ายทุกคนต่างก็แต่งกายด้วยชุดประจำชาติของตน ทำให้บรรยากาศภายในค่ายคึกคักและดูมีสีสันตระการตาขึ้นมาเป็นพิเศษ

เด็กจีนและฮ่องกงก็มาในชุดอาหม๋วยอาตี๋ เด็กมาเลย์ก็แต่งแบบมลายู เด็กอินโดนีเซียก็มาในชุดสีเหลืองทองหรูอร่าม เด็กไต้หวันมาในชุดชาวเขา (ทำให้ผมได้รู้ว่าไต้หวันเป็นประเทศที่มีภูเขาอยู่เยอะ มีชาวเขาอาศัยอยู่หลายเผ่า)

นอกจากนี้ก็ยังมีเด็กเกาหลี ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ รวมไปถึงแขกอย่างบาห์เรน ซึ่งทุกคนต่างก็สวมใส่ชุดประจำชาติอันสวยงามของตน

เห็นแล้วชวนให้นึกถึงคำพูดที่ว่า “ความหลากหลายคือความสวยงาม” ขึ้นมาทันที

พอตกค่ำ หลังทานอาหารเย็นกันเรียบร้อย พวกเราชาวค่ายก็มานั่งรอบกองไฟกัน เตรียมพร้อมที่จะชมการแสดงพิธีแต่งงานจำลองของแต่ละชาติ

เมื่อถึงเวลา พวกเราก็ตั้งหน้าตั้งตาชมการแสดงกันอย่างใจจดใจจ่อ พิธีของแต่ละประเทศนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่น่าสนใจมากๆ

ผมประทับใจในพิธีแต่งงานของทุกๆชาติเลยครับ แต่ผมยอมรับเลยว่าจำรายละเอียดของแต่ละพิธีไม่ค่อยจะได้ แต่จำชุดแต่งกายได้ค่อนข้างดี

ชุดแต่งกายที่ผมชอบที่สุดเป็นชุดของอินโดนีเซีย

คู่บ่าวสาวอินโดฯ (เจ้าบ่าวเป็นเด็กญี่ปุ่นที่ถูกยืมตัวมา เพราะเด็กอินโดฯที่ไปเป็นผู้หญิงทั้งหมด) มาในชุดสไตล์มลายูสีเหลืองทองดูหรูหรางามวิจิตรมากๆ เจ้าบ่าวใส่หมวกแบบมลายูสีครีม ส่วนเจ้าสาวก็มีปิ่นปักผมสีเหลือง ด้านหลังคู่บ่าวสาวมีคนถือร่มสีเหลืองทองคันใหญ่อยู่ด้วย

อ้อ... พิธีของอินโดฯนี้มีเอกลักษณ์หนึ่งที่แตกต่างไปจากของชาติอื่นๆ นั่นคือจะมีการให้เจ้าสาวล้างเท้าให้เจ้าบ่าวในขันด้วย (“ล้าง” ในที่นี้คือ ให้เจ้าสาวเทน้ำจากขวดดินผ่านเท้าเจ้าบ่าวลงขัน)

อีกชาติหนึ่งที่ผมชอบมาก คือ ชุดแต่งกายของเกาหลีครับ เจ้าบ่าวมาในชุดประจำชาติเกาหลี (ไม่รู้เรียกว่าอะไร) สีน้ำเงิน เสื้อมีลวดลายรูปคล้ายๆนกกระเรียนบนหน้าอก ผ้าผูกเอวสีแดง ใส่หมวกแบบขุนนางราชสำนักสีดำด้วย

ส่วนเจ้าสาวก็มาในชุดที่สีสันสดสวยที่สุดในงาน คือมีพื้นสีเขียว มีลวดลายสีทองบนเสื้อ ส่วนแขนเสื้อมีแถบสีหลายแถบ ทั้งสีแดง เหลือง น้ำเงิน ขาว และบานเย็น นอกจากนี้ยังมีผ้าคลุมหัวสีแดง และหมวดสีบานเย็นที่ประดับตกแต่งด้วยมุกและลูกปัดได้อย่างงดงาม แถมเจ้าสาวยังถือผ้าพาดมือพาดแขนสีขาวปักลวดลายสีสันไว้ด้วย อ้อ... หน้าเจ้าสาวมีจุดกลมๆสีแดงแต้มอยู่สามจุดด้วยครับ หนึ่งจุดกลางหน้าผากและอีกสองจุดอยู่ที่แก้มสองข้าง ดูแล้วน่ารักมาก

ส่วนอีกพิธีที่น่ารักมากก็คือพิธีของฟิลิปปินส์ เด็กฟิลิปปินส์ที่มาเข้าค่ายมีสี่คน เป็นผู้หญิงทั้งหมด เลยต้องไปยืมตัวหนุ่มฮ่องกงมาเป็นเจ้าบ่าว (ผมเริ่มสงสัยว่าทำไมไม่มีใครติดต่อยืมตัวผมบ้างวะ?...)

พิธีของฟิลิปปินส์นั้นได้รับอิทธิพลจากสเปนอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากฟิลิปปินส์เคยเป็นอาณานิคมของสเปนมาก่อน ชุดของเจ้าสาวนั้นเป็นชุดกระโปรงยาวสีขาว แขนเสื้อมีลูกไม้สวยงาม ดูแล้วก็คล้ายๆกับชุดผู้หญิงแบบสแปนิช ส่วนเจ้าบ่าวมาในเสื้อเชิ้ตขาวแขนยาว

พิธีของฟิลิปปินส์นี้ก็มีการโชว์การเกี้ยวเจ้าสาว โดยเจ้าบ่าวคว้ากีต้าร์มาออกลีลาทั้งเต้นทั้งร้องจีบสาวได้อย่างได้อารมณ์มาก ส่วนความแตกต่างของพิธีนั้นอยู่ที่ “ไข่” ครับ คือพิธีการของฟิลิปปินส์มีการนำไข่มาใช้ในพิธีด้วย แต่ผมจำไม่ค่อยได้ว่าเอามาทำอะไร แต่คลับคล้ายคลับคลาว่าเจ้าสาวถือไข่สองใบไว้ในมือแล้วก็อธิษฐาน แล้วก็ห่อไข่ในผ้า อะไรประมาณนี้นะครับ ต้องขอโทษจริงๆที่จำไม่ได้

เอาละครับ เล่าถึงพิธีของหลายชาติไปแล้ว ถึงเวลาเล่าถึงพิธีของพวกเราเด็กไทยแล้วครับ

พิธีของเราเริ่มต้นด้วยการรวบรวมเด็กชาติอื่นๆยี่สิบกว่าคนมาช่วยแสดงด้วย คือให้มาร่วมขบวนขันหมากครับ บางคนถือพานใส่ขนม บางคนถือกิ่งไม้ทองไม้เงินที่เตรียมไว้ และอีกสองคนถือพานใส่ถุงเงินถุงทอง ซึ่งเป็นเหมือนสินสอดทองหมั้นนั่นเอง

ก่อนเริ่มเดิน แน่นอนว่าจะต้องมีการร้อง “โห่....... งี้โอ่งี้โอ่งี้โอ่........ หิ้ววววว....” สามครั้ง ซึ่งผมได้ซักซ้อมกับเพื่อคนแอฟริกันอีกคนให้ช่วยโห่ให้ด้วย ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทีเดียว (เพื่อนคนอื่นๆหลายคนก็ชอบการ “โห่” และขบวนแห่ขันหมากแบบไทยๆเรามากเลยนะครับ)

โห่สามทีเสร็จ พวกเราก็เริ่มเดินขบวนกัน จำได้ว่ามีดนตรีประกอบด้วยนะครับ รู้สึกจะยืมกลองชาติอื่นมาเล่น แห่ไปถึงบ้านเจ้าสาว (จริงๆเป็นแค่ม้านั่ง) ผมกับเจ้าสาวก็ไปนั่งหน้าม้านั่งซึ่งมีพ่อแม่เจ้าสาวนั่งอยู่ (พ่อเป็นหนุ่มเกาหลี แม่เป็นสาวฟิลิปปินส์) แล้วเราก็กราบไหว้พ่อแม่ซึ่งก็รับสินสอดของหมั้นไปตามพิธี

หลังจากนั้นก็มีการรดน้ำสังข์ ผมกับไผ่ก็ไปนั่งให้แขกผู้ใหญ่รดน้ำสังข์และกล่าวคำอวยพร (ส่วนใหญ่อวยพรให้รักกันนานๆ forever love) เสร็จแล้วก็เป็นอันจบพิธี

เท่าที่คุยกับเพื่อนชาติอื่นๆ เค้าก็ชอบพิธีของไทยเรานะครับ ชอบตรงขบวนแห่ขันหมากกับการรดน้ำสังข์ ชาติอื่นๆเค้าไม่มีอะไรแบบนี้ ส่วนผมเองก็ได้เปิดหูเปิดตาขึ้นมาก ประทับใจการแสดงของแต่ละชาติมากๆเช่นกัน

...........

โอ้โห... นี่ผมเล่าถึงกิจกรรมเดียวมาสี่หน้ากระดาษแล้วหรือครับเนี่ย... เอาเป็นว่าผมจะเล่ากิจกรรมต่อไปเลยนะครับ กิจกรรมนี้มีชื่อว่า Mapping the World

กิจกรรมนี้ให้เยาวชนแต่ละชาติออกมา present นำเสนอเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับประเทศของตน โดยมีการจัดตารางให้หนึ่งหรือสองประเทศ present ในแต่ละวัน

อย่างของพวกเราคนไทย เราก็กางแผนที่ประเทศไทยโชว์บน chart แล้วเราก็พูดถึงเรื่องข้อมูลทั่วไป เช่น สถานที่ตั้ง สภาพอากาศ พื้นที่ เมืองหลวง ฯลฯ แล้วก็พูดถึงระบบการปกครอง พูดเรื่องเศรษฐกิจ บอกเค้าว่าบ้านเราแต่เดิมเป็นประเทศเกษตรกรรม มีข้าวเป็นผลผลิตสำคัญ ตอนนี้ถึงแม้ภาคอุตสาหกรรมจะเติบโตมามาก แต่แรงงานเกือบครึ่งก็ยังอยู่ในภาคเกษตร พูดเรื่องสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ฯลฯ

พอเราพูดเสร็จ เยาวชนชาติอื่นก็จะเริ่มถามคำถาม มีคำถามหนึ่งผมยังจำได้ดี คือเค้าถามว่า เคยได้ยินคนพูดถึงเมืองไทยว่าเป็นเมืองแห่งเซ็กส์ มีโสเภณี มีที่เที่ยวผู้หญิงขึ้นชื่อลือชา เค้าถามว่าเมืองไทยเป็นอย่างนี้จริงหรือเปล่า?

ผมกะอีกสองสาวก็ตอบเค้าไปว่า มันก็จริงอยู่ที่มีที่เที่ยวผู้หญิงที่ขึ้นชื่ออยู่ (พัฒน์พงษ์) มีซ่องโสเภณีอยู่มาก แต่เป็นเพราะเด็กสาวในชนบทถูกขายหรือถูกล่อลวงมาเป็นนะ แล้วตอนนี้ปัญหาโสเภณีก็เริ่มบรรเทาลงมากแล้ว เพราะรัฐบาลมีการปราบปรามและให้ความรู้และสร้างอาชีพในชนบทมากขึ้น... ตอนนั้นตอบไปประมาณนี้แหละครับ เท่าที่จะพอมีความรู้ตอบเขาได้ (ต้องตอบเป็นภาษาอังกฤษด้วย สำหรับพวกเราในตอนนั้นถือว่าไม่ง่ายเลย)

สรุปว่ากิจกรรมนี้ทำให้พวกเราได้เปิดโลกทัศน์ขึ้นมาอีกเยอะ ได้ความรู้เกี่ยวกับประเทศที่เราไม่ค่อยจะรู้จักมักคุ้นนัก เช่น บาห์เรน ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆในตะวันออกกลาง


.........

กิจกรรมอีกอันหนึ่งที่ทุกคนเข้าร่วมอย่างสนุกสนานและเอร็ดอร่อยก็คือ การทำอาหารประจำชาติครับ

ในช่วงเวลาแปดเก้าวันที่เราอยู่กันในค่ายนั้น เยาวชนแต่ละชาติจะผลัดกันทำอาหารประจำชาติเลี้ยงชาวค่ายกันชาติละหนึ่งมื้อครับ โดยทางค่ายเค้ากำหนดมาก่อนแล้วว่าจะให้เราทำอะไร แล้วก็ให้พวกเราเตรียมส่วนประกอบไปจากประเทศเรา

กิจกรรมการทำอาหารประจำชาตินี้ ทำให้อาหารแต่ละมื้อของเรามันน่าสนใจและน่าตื่นเต้นขึ้นมาเยอะ เพราะได้ลองของใหม่ทุกๆมื้อ เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังครับว่าอยู่ค่ายเก้าวันได้ลองอะไรมาบ้าง

เริ่มด้วยของไทยเราก่อนเลย ทางค่ายได้กำหนดให้เราทำอาหารเย็นเลี้ยงชาวค่าย โดยให้ทำแกงเขียวหวานไก่และส้มตำแครอทเลี้ยง

วันนั้นพวกเราเด็กไทยสามคนกับพี่นักข่าวไทยอีกสองคนก็ต้องช่วยกันเตรียมอาหาร ต้องต้มน้ำแล้วใส่เครื่องแกงเขียวหวานแล้วก็เคี่ยว ต้องหั่นแครอทเพื่อเอาไว้ตำส้มตำ

ตอนที่ผมกำลังจะหั่นแครอท เพื่อนชาติอื่นสองสามคนเค้าก็มาจะช่วยหั่นด้วย แล้วเค้าก็ถามผมว่าหั่นอย่างนี้ถูกมั้ย ผมก็ตอบไปว่าไม่ใช่ๆ ต้องหั่นเป็นเส้นๆ เค้าก็เลยให้ผมหั่นให้ดูเป็นตัวอย่าง ผมเลยหั่นให้ดู ปรากฎว่าออกมาเหมือนของเพื่อนเป๊ะเลย คือไม่เป็นเส้นเหมือนกัน (หน้าแตกเต็มเปา) ไอ้เพื่อนฮ่องกงคนที่ถามมันเลยป่าวประกาศให้เพื่อนอีกคนฟังว่า “He doesn’t know how to do it. Ask the girls.”


ผมฟังแล้วอยากจะมุดหัวลงดินไปไม่ให้ใครเห็นอีกเลย อายมากๆๆ (อยากจะบอกมันว่า ก็เรามันทำกับข้าวไม่เป็นนี่หน่า อุตส่าห์หัดมานิดหน่อยก่อนมาแล้วนะโว้ย แกจะกินรึเปล่า ถ้าจะกินก็อย่ามาว่ากันดิ เรานะอยากจะทำอะไรที่มันง่ายๆกว่านี้ แบบไข่เจียวหรือหมูทอดกระเทียม ง่ายกว่าแต่อร่อยเหมือนกัน แต่เค้ากำหนดมาให้ทำแกงเขียวหวานกะส้มตำแครอท มันยากนะเฟ้ย)

แต่ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งแกงเขียวหวานไก่และส้มตำแครอทก็ออกมาอร่อยใช้ได้ เพราะฝีมือพวกเราคนไทยทั้งห้า (จริงๆแล้วต้องบอกว่าเป็นฝีมือของสาวไทยทั้งสี่ ผมเป็นตัวถ่วงมากกว่า)

ส่วนอาหารชาติอื่นๆ ก็อร่อยไม่แพ้กัน พวกเราได้ลองทานอาหารแอฟริกาใต้ที่เรียกว่า “บ๊าบ” (ออกเสียงประมาณนี้แหละครับ แต่สะกดยังไงผมไม่แน่ใจ) “บ๊าบ” หน้าตาคล้ายๆมันฝรั่งบด แต่มันทำมาจากพืชพื้นเมืองของแอฟริกาใต้เขา จะว่าไปแล้ว “บ๊าบ” กับคนแอฟริกาใต้ ก็เหมือนกับ ข้าวกับคนไทยนั่นแหละครับ

ส่วนเด็กเกาหลีก็ทำเนื้อย่างร้อนๆมาให้พวกเราได้ทานกัน ส่วนเด็กเวียดนามก็ทำปอเปี๊ยะญวน ส่วนอาหารของชาติอื่นๆนั้นก็อร่อยไม่แพ้กัน

แต่อาหารประจำชาติที่เด็ดที่สุดนั้น ผมขอยกให้อาหารญี่ปุ่นครับ

นึกถึงอาหารญี่ปุ่น หลายคนคงนึกถึงกุ้งเทมปุระ ปลาดิบ ปลาซาบะย่างซีอิ้ว ซูชิ ข้าวปั้น ข้าวห่อสาหร่าย อะไรทำนองนี้ใช่ไหมครับ? ผมเองก็คิดเช่นนั้น ตั้งหน้าตั้งตารอคอยอาหารญี่ปุ่นเต็มที่ คิดว่าต้อง “เด็ด” สะระตี่แน่ๆ

พอถึงเวลากินก็ “เด็ด” จริงๆครับ แต่ไม่ได้ “เด็ด” แบบที่ผมคิดไว้ตอนแรก

ไม่มีวี่แววของเทมปุระ ซูชิ ปลาย่าง หรือข้าวปั้นให้เห็นเลยครับ พี่แกเล่นเอาอาหารญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อลือชามากกว่านั้นมาให้พวกเราทานกัน

อาหารจานนั้นก็คือ... บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป!!!

เพื่อนญี่ปุ่นก็บอกว่าให้เอาบะหมี่ใส่ถ้วย แล้วแบบเติมน้ำร้อนปิดฝาไว้สามนาทีแล้วซดได้ทันที ไม่ต้องต้มให้ยุ่งยาก แถมมีสาหร่ายและเครื่องเล็กน้อยในซองให้ใส่ด้วย

ผมเห็นแล้ว... อึ้งไปเลยครับ อึ้งจริงๆ... เทมปุระ ซูชิ และอะไรอีกหลายๆอย่างที่คิดไว้มันอันตรธานหายไปในทันที เหลือก็แต่บะหมี่หนึ่งซองตรงหน้า...

ผมก็ทำอะไรไม่ได้นอกจากใส่น้ำร้อนปิดฝาไว้สามนาทีแล้วก็กินบะหมี่ถ้วยนั้นเสีย (ทีเราต้องทำส้มตำกับแกงเขียวหวานเป็นชั่วโมงๆ) หลังจากนั้นเพื่อนชาวญี่ปุ่นก็สอนให้พวกเราพูดวลีภาษาญี่ปุ่นอะไรสักอย่างก่อนกินข้าวตามประเพณี แล้วก็ลงมือโซ้ยกันทันที ซึ่งรสชาติของบะหมี่มันก็อร่อยดีแหละครับ

ทีนี้เชื่อผมหรือยังครับว่าอาหารญี่ปุ่นจานนี้ “เด็ด” จริงๆ

.........

(ทีแรกผมกะว่าจะเรื่องนี้จบในตอนที่สามนี้ แต่มันเขียนเพลินยืดเยื้อไปหน่อยเลยยังไม่จบ ขอเลื่อนไปให้ตอนหน้าเป็นตอนจบนะครับ มีกิจกรรมที่ผมประทับใจที่สุดในค่ายมาเล่าให้ฟังด้วยครับ)