Friday, June 17, 2005

คุยเฟื่องเรื่องอาจารย์ที่ UCD


เย้! ในที่สุดการสอบ Finals ของผมก็เสร็จสิ้นลงอย่างสมบูรณ์เสียที (ช้ากว่าชาวบ้านชาวช่องเค้ามากๆ)

นั่นก็เท่ากับว่า หนึ่งปีของผมในฐานะนักศึกษาแลกเปลี่ยนที่ UC Davis ก็เกือบจะปิดฉากลงไปด้วย เพราะวันที่ 22 นี้ก็จะบินกลับเมืองไทยแล้ว

เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริงๆครับ รู้สึกว่าเพิ่งจะมาถึงที่นี่เมื่อวานนี้เอง

หนึ่งปีที่ผ่านมาก็ได้รับความรู้และประสบการณ์เพิ่มขึ้นพอตัว เกิดมาไม่เคยมาอเมริกาเลยครับ นี่เป็นครั้งแรก ได้มาเรียนในยูที่นี่ปีนึงก็ได้เปิดหูเปิดตาขึ้นมากะเค้าบ้าง

ถ้าพูดถึงเรื่องเรียน ก็ได้เรียนกับอาจารย์ดีๆหลายคนครับ

ตอน Fall ได้เรียน Development 1 กับ Steve Boucher คนนี้เป็นอาจารย์หนุ่มหล่อ (เคยเห็นเดินคู่กับนาวิน ตาร์ ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้หล่อกว่าอีก!) จบจาก UW Madison เป็นคนที่สอนดีมากๆ มี Passion ในการสอนและในตัววิชาอย่างสูง งานวิจัยที่เค้าทำจะเกี่ยวกับ micro-credit in rural Latin America เป็นส่วนใหญ่ครับ

ตอนเรียนเค้าได้เชิญเพื่อนเค้าคนหนึ่งชื่อคุณจอห์น (อาจารย์และคุณจอห์นเพิ่งเจอและคุยกันใน Art gallery ในเมืองนี่เองครับ) คุณจอห์นมาพูดให้พวกเราฟังคาบนึง คุณจอห์นเล่าถึงการเดินทางของเขาเข้าไปตามหมู่บ้านชนเผ่าซูลูในแอฟริกา ซึ่งชนเผ่าเหล่านี้เค้ามีภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำตะกร้าสาน (สานจากไม้พื้นเมืองพันธุ์หนึ่ง) คุณจอห์นเลยเกิดไอเดียนำตะกร้าสานเหล่านี้มาทำตลาดส่งออกมายังอเมริกาและยุโรป ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จดี สามารถสร้างรายได้เสริมให้กับคนในหมู่บ้านเผ่าซูลูได้ดี

สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมคุณจอห์นก็คือ เขาได้เข้าไปสร้างความสัมพันธ์กับคนในหมู่บ้าน จนเกิดความผูกพันกันเหมือนเป็นสมาชิกครอบครัวเดียวกัน เกิดความเข้าใจในวิถีชีวิตของคนในหมู่บ้าน เขาจึงได้ออกแบบระบบการจัดการที่ไม่ทำให้การทำตะกร้าสานนี้กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในหมู่บ้าน

นอกจากนี้ คุณจอห์นยังพยายามสร้างแรงรูงใจให้คนในหมู่บ้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพดีขึ้นๆ และเขาก็พยายามสอนให้คนในหมู่บ้านนั้นทำตะกร้าสานด้วยกระบวนการที่ยั่งยืน ไม่ใช่เร่งสานตะกร้าจนทรัพยากรในชุมชนร่อยหรอไป ต้องมีระบบอนุรักษ์ทรัพยากรในหมู่บ้านให้มีใช้ต่อไปอย่างยั่งยืน

เรียกว่าเป็นการใช้ความรู้ในการบริหารจัดการของตนเข้าไปช่วยเหลือคนในหมู่บ้านชนบท ด้วยความรัก ความเข้าใจ และความเคารพในตัวผู้คนและวัฒนธรรมของหมู่บ้านเหล่านั้นอย่างแท้จริง ทำให้ผู้คนเหล่านี้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่สบายขึ้น

กลับมาพูดถึงอาจารย์กันต่อนะครับ ตอนที่อาจารย์ Steve สอนเรื่อง Microfinance เขาได้นำวิดีโอเกี่ยวกับโปรแกรม Micro-credit ในบังกลาเทศและโบลิเวียมาฉายให้ชมกันด้วย เพื่อให้เห็นภาพมากไปกว่าการอ่านอย่างเดียว ต่อมาพอสอนเรื่อง Trade and Development อาจารย์ก็นำวิดีโอเกี่ยวกับ Special Export Zones ในจาไมก้ามาให้ดู มาให้คิดกันต่ออีกด้วย

แถมวิชานี้ยังมี TA ที่เด็ดมากอีกด้วย เขาชื่อ David ครับ เป็นคนสัญชาติอเมริกันแต่พื้นเพน่าจะมาจากแถบลาตินอเมริกา ที่ผมบอกว่าเด็ดก็เพราะนาย David นี่เขาได้ตะลุยเดินทางรอบโลกมาแล้วถึง 60 กว่าประเทศ! ใช่ครับ ผมเขียนไม่ผิดหรอก 60+ ประเทศ! แล้วที่ไปนี่เขาไม่ได้ไปพักโรงแรมนะครับ เขาไปพักกับชาวบ้าน อยู่กับคนท้องถิ่น เพื่อให้รับรู้ว่าวิถีชีวิตและปัญหาของคนเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้างครับ

สรุปแล้ว คอร์สนี้เป็นคอร์สที่สนุก ตื่นเต้น ได้ความรู้ และได้ข้อคิดมากที่สุดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา

ถัดมาตอน Winter ผมก็ติดใจวิชา Development เลยลงเรียน Development 2 ต่อ คราวนี้ Prof. Wing Thye Woo เป็นอาจารย์สอน

คนนี้ก็เด็ดเหมือนกัน แต่คนละแนวครับ Prof. Woo คนนี้อายุประมาณ 50 เกิดในครอบครัวฐานะค่อนข้างยากจนในมาเลเชีย ตอนเขาอายุ 13 เขาได้รับรู้ว่าในอเมริกามีมหาลัยบางแห่งที่ให้ทุนนักเรียนทุกคนที่สามารถเข้าเรียนได้ หนึ่งในนั้นคือ Swarthmore College อันมีชื่อเสียงใน Philadelphia

ปรากฏว่าอาจารย์ได้เข้าเรียนที่ Swarthmore ดังที่หวังไว้ครับ เรียนเมเจอร์ด้านวิศวะ ที่เจ๋งก็คือคอลเลจนี้เป็นสถานศึกษาที่ไม่เหมือนมหาลัยทั่วไปนะครับ เพราะที่นี่คลาสจะเล็กมากๆ อาจารย์ผมบอกว่าตอนที่เขาเรียนมีกันอยู่ 5 คนหรือ 8 คนในคลาสเองครับ (ผมไม่แน่ใจว่า 5 หรือ 8) วิธีการเรียนการสอนก็เน้นให้นักศึกษาคิดและเน้นการระดมสมอง แต่ละสัปดาห์นักศึกษาแต่ละคนจะต้องเขียน Paper แล้วเอามาแลกกันอ่านกับเพื่อนร่วมห้อง แล้วก็ระดมสมองวิจารณ์งานของแต่ละคนว่าดีไม่ดีอย่างไร ควรปรับปรุงตรงไหน ใครเห็นด้วยไม่เห็นด้วยตรงไหนบ้าง

เด็ดสะระตี่จริงๆครับ (อ้อ อาจารย์ปราณี ทินกรก็จบตรีที่ Swarthmore นี่เช่นกันครับ)

อาจารย์ Woo สอนดีใช้ได้เลยครับ (แต่สู้อาจารย์ Steve ไม่ได้) แกเป็นคนที่มี Passion ในการสอนอยู่ในตัวมากเช่นกัน เวลาสอนแกจะเดินไปเดินมาทั่วห้องเลยครับ แล้วก็มักจะมีเรื่องเล็กๆน้อยๆมาเล่าอยู่ตลอด เป็นคนที่มี Information สารพัดเรื่องอยู่ในตัวเยอะจริงๆ

งานวิจัยของอาจารย์ Woo นั้นส่วนใหญ่ก็เกี่ยวกับเรื่องที่สอนแหละครับ คือ Economic Development & Growth in China, Transition Economies (Formerly Socialist Economies) เรียกว่าทำวิจัยแล้วก็เอาเปเปอร์ที่เขียนนั่นแหละครับมาให้พวกเราเรียนกัน

………

ทั้งอาจารย์ Steve และอาจารย์ Woo ก็เป็นตัวอย่างของอาจารย์ที่ดีที่ผมได้เรียนด้วยในช่วงเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมา

ปัญหาก็คือ อาจารย์ที่สอนเก่งๆ มักจะไม่ค่อยได้สอนครับ เพราะที่อเมริกานั้นงานวิจัยคือการวัดผลการทำงานของอาจารย์มหาลัย และเป็นตัววัดสำคัญที่ใช้ในการจัด Ranking มหาลัยด้วย

ผมไม่ทราบว่าที่มหาลัยอื่นเป็นยังไงนะครับ แต่ที่นี่อาจารย์ที่เก่งๆ ได้สอนแค่ปีละ 1-2 ควอเตอร์เท่านั้น บางคนลาไปทำวิจัยที่อื่นทำให้ไม่ได้สอนเลยก็มี

ผมเคยคุยกับอาจารย์ Woo เรื่องนี้ อาจารย์ก็บอกว่าที่นี่เค้าวัดผลอาจารย์กันด้วยงานวิจัย ถ้าใครไม่มีผลงานวิจัยเป็นที่น่าพอใจ ก็จะถูกจัดให้ลงมาสอนบ่อยๆ ส่วนอาจารย์ที่มีผลงานวิจัยดี ก็ไม่ต้องสอนมาก (เช่น อาจารย์ Woo สอนปีละแค่ควอเตอร์เดียวเอง)

ผมและนักศึกษาระดับปริญญาตรีคนอื่นๆ จึงต้องเจอกับอาจารย์ที่สอนไม่ดีหลายคนทีเดียว เพราะว่า:

หนึ่ง Professors ดีๆที่ทำวิจัยเก่งๆก็ไม่ค่อยได้ลงมาสอน ทำให้ Professors ที่ลงมาสอนส่วนใหญ่ก็คือเป็นคนที่ไม่ค่อยมีผลงานวิจัย และสอนไม่ค่อยดี

สอง เวลา Professors แข่งกันทำวิจัยกันมากๆเข้า ก็ทำให้ขาด Professors ที่ว่างจะสอน ทำให้คณะต้องไปหา Lecturers มาสอนแทน (Lecturers ไม่ต้องทำวิจัย แค่สอนอย่างเดียว) ปัญหาก็คือ Lecturers หลายคนความรู้ไม่แน่นเท่ากับพวก Professors เวลาสอนก็ไม่ค่อยจะดี ทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์อยู่ไม่น้อยเวลาต้องไปเข้าคลาส

อารมณ์ประมาณว่า ผมอยากเรียนอยากรู้มากๆ แต่ทำไมอาจารย์ถึงสอนไม่ได้เรื่องอย่างนี้ พูดไม่รู้เรื่อง แถมเหตุผลที่นำมาอธิบายก็ไม่หนักแน่น มีอยู่คนหนึ่งสอน International Finance เค้าไปเอา Solow Growth Model (ซึ่งเป็นโมเดลสำหรับเศรษฐกิจปิด) มาสอนมาใช้กับเศรษฐกิจเปิด โดยเค้าใช้ตรรกะแปลกๆ ผมมองไปรอบๆห้องนักศึกษาแต่ละคนทำหน้างงๆกันทั้งนั้นเลยครับ ผมก็งงเหมือนกัน พูดอะไรวะ ไม่รู้เรื่องเว้ย ในหนังสือก็ไม่มีสอนด้วย วิชานี้ถ้าเรียนกับอาจารย์คนนี้คนเดียว ผมคงต้องรู้สึกว่าได้ความรู้น้อยเหลือเกินแน่ๆ

แต่ยังโชคดีครับที่ได้ TA ที่ดี ตอน TA Section เค้าก็สอนไม่เหมือนที่อาจารย์สอนในห้อง แล้วเวลาตอบข้อสอบเราก็ต้องตอบเหมือนที่ทีเอบอกนะครับ (ซึ่งบางครั้งก็ไม่เหมือนกับที่อาจารย์สอน) เพราะทีเอเป็นคนตรวจข้อสอบ

อีกวิชาคือ Econometrics 1 ผมลงเรียนกับอาจารย์คนญี่ปุ่นคนหนึ่ง เป็น Lecturer เหมือนกัน (อาจารย์ที่เป็น Professor ไม่ได้สอนควอเตอร์นี้เพราะต้องทำวิจัย) ปรากฏว่าอาจารย์คนนี้อธิบายไม่รู้เรื่องเลยครับ ไม่รู้เรื่องจริงๆ ยิ่งตั้งใจฟังยิ่งงง ทั้งๆที่เนื้อหาวิชาบางเรื่องก็ไม่ได้ยากอะไรเลย แต่อาจารย์เค้าทำให้ยากขึ้นมาเอง ผมยิ่งไม่ค่อยจะถูกกับเลขอยู่ด้วย แต่ก็ยังโชคดีครับที่ได้ TA ดีอีกแล้ว TA คนนี้มาจากยูเครน มาช่วยชีวิตพวกเราไว้ (TA บอกว่ายูน่าจะลงเมื่อควอเตอร์ก่อนจะได้เจออาจารย์ที่ดีกว่านี้ ได้เรียนอะไรดีๆกว่านี้มาก)


หรือถึงแม้เราโชคดีได้เรียนกับ Professors ที่เก่งๆ ทำวิจัยเยอะๆ คุณภาพการสอนก็อาจจะไม่ดีนัก เพราะอาจารย์ต้องยุ่งกับงานวิจัยของตนจนไม่มีเวลาเตรียมสอน ก็เลยสอนจากในหัวสมองโดยไม่ต้องเตรียมตัว ซึ่งการสอนแบบนี้ก็พอใช้ได้ครับ แต่บางครั้งการเรียบเรียงเนื้อหาในการสอนจะไม่ค่อยดีนัก การสอนจึงไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็น

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในมหาลัยผม ที่มหาลัยอื่นเป็นอย่างไรบ้างก็บอกเล่ามาได้นะครับ

ผมก็เข้าใจนะครับว่าเราที่เป็นนักศึกษาก็ต้องขวนขวายศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองโดยการอ่านหนังสือ แต่บางครั้งมันก็รู้สึกหงุดหงิดและเสียอารมณ์มากๆเวลาต้องจำใจไปเข้าคลาสของอาจารย์ที่สอนไม่รู้เรื่อง ทั้งๆที่เราอยากเรียนวิชานั้นมากๆ ผมก็เลยอดไม่ได้ต้องขอบ่นเสียหน่อยนะครับ

น่าคิดนะครับว่า การตัดสินผลงานของอาจารย์มหาลัยโดยดูจากงานวิจัยเพียงอย่างเดียวนั้น ทำให้คุณภาพการสอนระดับปริญญาตรีลดลงมากแค่ไหน? ภาวะได้อย่างเสียอย่างระหว่างงานวิจัยกับงานสอนมันมากแค่ไหน? มีวิธีการใดที่จะสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์ทำงานวิจัยและทำการสอนให้ดีควบคู่กันไปพร้อมๆกัน? หรือว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะมหาลัยที่นี่เขาไม่ได้สนใจการสอนระดับปริญญาตรีเสียแล้ว เลยปล่อยๆไปไม่ได้สนใจแก้ไข?

และถ้าคิดถึงในเมืองไทย ที่ผ่านมาผมก็เจออาจารย์ดีๆหลายท่าน แต่ก็เจออาจารย์ที่สอนไม่เป็น ถ่ายทอดไม่เป็น (ถึงแม้จะมีความรู้เยอะก็ตาม) หลายท่านเช่นกัน ผมเลยสงสัยว่า ก่อนจะเริ่มเป็นอาจารย์สอนหนังสือ อาจารย์ที่มหาลัยไทยต้องเข้าคอร์สเรียนวิธีการสอน วิธีการพูด วิธีการถ่ายทอดความรู้บ้างหรือไม่?

และต่อไปถ้ามหาลัยไทยออกนอกระบบ ผมคิดว่าระบบการวัดผลก็คงส่งเสริมให้อาจารย์เน้นการทำงานวิจัยกันมากยิ่งขึ้น เมื่อถึงวันนั้น คุณภาพการสอนจะตกลงไปบ้างหรือไม่?

.........

เอาล่ะครับ ยังไงก็แล้วแต่ตอนนี้ผมก็ปิดเทอมแล้ว เดี๋ยวจะไปเที่ยวซานฟรานฯทิ้งทวนก่อนบินกลับเมืองไทย คิดถึงขนมจีนน้ำยา, ต้มยำกุ้ง, น้ำจิ้มแจ่ว, เอ็มเคสุกี้ ฯลฯ จะแย่แล้วครับ!

ป.ล. ตอนจบนี่ไม่ได้เกี่ยวกับเนื้อเรื่องเลยนะครับ เพราะผมนึกไม่ออกว่าจะจบยังไงดี ใจมันมัวแต่นึกถึงอาหารไทยครับ แฮ่ๆ

Monday, June 06, 2005

ว่าด้วย Trade and WTO


ผมได้ไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคุณ kazamatsuri_sho มาเกี่ยวกับเรื่อง trade & WTO ในบล็อก

ความจริงใจของฝรั่งจากกรณีการกำจัดโควต้าสิ่งทอของจีน

ผมอยากฟังความคิดเห็นและมุมมองของทุกท่านเกี่ยวกับ free trade, WTO และผลดี/ผลเสียต่อประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆครับ


Saturday, June 04, 2005

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น


ช่วงนี้ผมกำลังยุ่งๆกับการสอบ final ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันจันทร์นี้ เลยไม่ค่อยมีเวลาอัพบล็อกสักเท่าไหร่ ไม่รู้ทำไมมหาลัยผมถึงได้สอบช้ากว่าชาวบ้านเค้าขนาดนี้ เพื่อนๆผมส่วนใหญ่ก็ปิดเทอมกันไปหมดแล้ว ช่างน่าอิจฉาเสียจริง

วันก่อนเข้าไปอ่าน "คำให้การของ Anakin" ของอาจารย์ปิ่น อ่านจบแล้ว ไม่รู้ว่าอะไรมาดลใจทำให้ผมนึกถึงบทความชิ้นหนึ่งที่ผมเขียนไว้ปีกว่าๆมาแล้ว ผมเขียนลงตีพิมพ์ในวารสาร be Political Economy ซึ่งนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ธรรมศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) กลุ่มหนึ่ง (รวมทั้งผมด้วย) ได้ริเริ่มทำขึ้น

ผมกลับไปอ่านบทความชิ้นนั้นอีกครั้ง เพื่อดูว่าความคิดของผม ณ เวลานั้น เป็นเช่นไร เหมือนหรือแตกต่างจากความคิดของผม ณ เวลานี้อย่างไรบ้าง ผมพบว่า ความคิดผมเปลี่ยนไปบ้างในบางเรื่อง เวลาปีกว่าๆที่ผ่านมาสอนผมหลายอย่าง มันทำให้ผมรู้สึกไม่เห็นด้วยกับบางสิ่งที่ผมเคยเขียนลงในบทความ แต่ก็มีหลายสิ่งที่ผมรู้สึกเห็นด้วยมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

ย้อนไปตอนหลังจากบทความได้ลงตีพิมพ์ไปไม่นาน มีอาจารย์บางท่านและรุ่นพี่หลายคนบอกว่าชอบงานเขียนชิ้นนี้ ผมจำได้ว่ามีอาจารย์ผู้ใหญ่ที่คณะท่านหนึ่งส่งอีเมลล์มาบอกว่าในคณะมีอาจารย์ดีๆหลายคนพยายามต่อสู้กับปัญหาสารพัดอยู่ รู้สึกดีใจและมีกำลังใจมากขึ้นหลังได้อ่านงานเขียนของผม

ตอนนั้น ผมรู้สึกดีใจมาก... ดีใจเพราะว่า ถึงแม้งานเขียนของเราจะไม่ได้เพอร์เฟคเลิศเลออะไร แต่อย่างน้อยที่สุดมันก็ได้ส่ง "กำลังใจ" ให้กับคนดีๆที่พยายามทำสิ่งดีๆท่ามกลางอุปสรรคปัญหาต่างๆมากมาย

บทความนี้จึงเป็นงานเขียนของตัวเองชิ้นที่ผมชอบมากที่สุดครับ

ไหนๆช่วงนี้ผมก็ยุ่งๆกับการสอบอยู่ ก็ขอนำงานเขียนเก่าชิ้นนี้มานำเสนอแล้วกันนะครับ

......

แม่น้ำแห่งธรรมที่ผมอยากเห็น

สองปีที่แล้ว ผมเข้ามาเรียนที่โครงการภาคภาษาอังกฤษ คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ด้วยความมุ่งมั่นจะแสวงหาวิชาความรู้ไปพัฒนาสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่

เป็นเวลาสองปีที่ผมได้รับความรู้และประสบการณ์ใหม่ๆ เต็มไปหมด

ความรู้ต่างๆ ที่ผมได้รับไม่จำกัดอยู่เฉพาะในตำราเรียน แต่ยังรวมถึงความรู้นอกตำรา ทั้งจากการอ่านบทความและสื่อหนังสือต่างๆ ทั้งจากการสนทนากับพี่ๆ และอาจารย์ และทั้งจากการเข้าร่วมวงสัมมนาเชิงวิชาการต่างๆ

ส่วนใหญ่ งานเขียนที่ผมอ่านและการสนทนาของวงสัมมนาต่างๆ จะเป็นการเสนอความคิดเห็นและการถกเถียงกันในประเด็นทางเศรษฐกิจสังคมต่างๆ เช่น การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ, นโยบายประชานิยม, การเจรจาจัดตั้งเขตการค้าเสรี (FTA) และอีกสารพัดเรื่อง ซึ่งผมก็เห็นว่าเป็นสิ่งที่ดี เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาและสังคม

แต่บางครั้ง ผมเห็นว่า การแสดงความคิดเห็นและการถกเถียงในประเด็นเหล่านี้ มันมากเกินไป ซ้ำซากจำเจ วกไปวนมาไม่รู้จบ

จนบางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “เอียน” กับการถกเถียงทางวิชาการเหล่านี้

อดไม่ได้ที่จะรู้สึก “สับสนวุ่นวาย” ในจิตใจ

อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามว่า “เรียนไปทำไม เถียงกันไปทำไมกัน?” หากสิ่งที่พูดหรือสิ่งที่เถียงกันนั้น มันไม่ได้ก่อประโยชน์อะไรสักเท่าไร

คือ มีแต่คน “พูดๆๆๆๆ” และ “เขียนๆๆๆๆ” แต่น้อยนักที่จะเห็นคน “ทำ” จริงๆ

---------------

เรามักได้ยินปัญญาชนคนดีหลายๆคนพูดว่า “พวกเราไม่ใช่ผู้มีอำนาจ ทำอะไรให้สังคมในวงกว้างไม่ได้สักเท่าไรหรอก จะเข้าไปทำการเมืองก็ไม่ได้ เพราะการเมืองสกปรก ระบบไม่เปิดโอกาสให้คนดีผู้ยึดถืออุดมคติเข้าไปทำหรอก เข้าไปมีแต่จะทำให้ตัวเองสกปรกเปล่าๆ”

การเมืองไทยมันแย่มาแทบทุกยุคสมัย คนดีๆที่เข้าไปถูกกลืนไปเสียหมด นักวิชาการส่วนใหญ่จึงคิดว่า นี่เป็น “อนิจลักษณะของการเมืองไทย” ที่ยากจะเปลี่ยนแปลงได้

ผมรู้สึกว่าเขามองโลกในแง่ร้ายเกินไป

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเขายังยึดมั่นถือมั่นใน “ทฤษฎี” มากจนเกินไป

ถามว่าทฤษฎีเหล่านี้มาจากไหน? คำตอบก็คือมาจากการศึกษาสิ่งต่างๆในอดีตแล้วประมวลออกมาเป็น “ทฤษฎี” ดังนั้นในความคิดของนักวิชาการ ทฤษฎีจึงเป็นตัวอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี

“ทฤษฎี” ของนักวิชาการส่วนใหญ่ อธิบายว่าการเมืองมันแย่ คนดีเข้ายาก เข้าไปทำอะไรไม่ได้ เป็นที่ของคนไม่ดีให้เข้าไปหาประโยชน์เข้าตัว

ผมอยากจะแย้งกลับไปว่า “ก็คุณมัวแต่คิดอย่างนี้ การเมืองมันถึงได้เป็นเช่นนี้นั่นแหละ”

ทำไมไม่รู้จักคิดถึงพระราชดำรัสในหลวงที่สอนว่าเราควรขัดขวางไม่ให้คนไม่ดีเข้าไปบริหารบ้านเมือง

นี่กระมังที่เป็นจุดอ่อนของนักวิชาการและปัญญาชนส่วนใหญ่

ความเชื่อถือใน “อดีต” นั้นสูงเสียจนพวกเขาคิดว่า มันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “การคิดในเชิงบวก” และ “การมองโลกในแง่ดี” อันเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของ “การเปลี่ยนแปลง”

นี่เองเป็นตัวบั่นทอน “จินตนาการ” และ “ความคิดสร้างสรรค์” อันเป็นของขวัญชิ้นล้ำค่าที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่กำเนิด

อยากให้ระลึกถึงคำพูดของไอน์สไตน์ที่ว่า

“Imagination is more important than knowledge.” จินตนาการสำคัญกว่าความรู้

และคำพูดของ Karl Marx ที่ว่า

“Philosophers have only interpreted the world. The point, however, is to change it.”

เราควรจะพูดให้น้อยลง แต่ลงมือทำกันมากขึ้น น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า

---------------

ในหนังสือ “มองโลกง่ายง่าย สบายดี” นั้น “หนุ่มเมืองจันท์” ได้ยกตัวอย่างเรื่อง “ต้นน้ำแห่งอุดมคติ” ผลงานเขียนของพระไพศาล วิสาโล มาอธิบายให้แง่คิดในเรื่อง “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ได้อย่างดี

กล่าวโดยสรุป “ต้นน้ำ” นั้นใสสะอาดบริสุทธิ์ดั่ง “อุดมคติ” แต่ต้นน้ำกว่าจะไหลมารวมกันเป็น “แม่น้ำ” ซึ่งเปรียบเสมือน “ขบวนการ” นั้น ย่อมต้องเจือจางอะไรต่อมิอะไรมากมาย

แต่ถึงแม้จะมีสิ่งเจือปนอยู่มาก แม่น้ำก็นำพาประโยชน์มาสู่มหาชนได้อย่างมหาศาล

เปรียบดั่งขบวนการที่จะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงกว้างได้นั้น ย่อมต้องรู้จักยืดหยุ่นและไม่ยึดติดในอุดมคติมากเกินไป อุดมคติดั้งเดิมย่อมต้องเจือจางไปบ้าง แต่ต้องไม่ให้เจือจางเกินไป

ทั้ง “ต้นน้ำ” และ “แม่น้ำ” หรือ “อุดมคติ” และ “ขบวนการ” ต่างก็มีความสำคัญ มีบทบาทของตนเอง

เราสามารถเลือกที่จะเป็น “ต้นน้ำ” คือเป็นคนกลุ่มน้อยที่มีพลังทางสติปัญญา หรือเป็น “แม่น้ำ” คือเป็นกำลังสำคัญของขบวนการอันยิ่งใหญ่ที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงก็ได้

ในความคิดของผม สังคมไทยมีคนที่เป็น “ต้นน้ำ” ที่ใสบริสุทธิ์อยู่มากพอควรแล้ว แต่ยังขาดคนที่เป็น “แม่น้ำ” ที่ดีอยู่

พวกที่เป็น “ต้นน้ำ” ส่วนมากมีข้อจำกัดหลายอย่าง และไม่ได้รับการสนับสนุน ทำให้ไม่สามารถทำอะไรในวงกว้างได้

ส่วนพวกที่เป็น “แม่น้ำ” ในปัจจุบัน (ผมหมายถึง ผู้มีอำนาจทั้งหลายทั้งในรัฐบาลและหน่วยงานราชการต่างๆ) ก็เป็นมลพิษเน่าเสีย ให้โทษมากกว่าให้คุณแก่สังคม

ดังนั้น ผมจึงอยากเห็นปัญญาชนในสังคมร่วมกันสร้าง “แม่น้ำ” ที่ดี ให้แก่สังคมไทยด้วย คือ กล้าที่จะรวมตัวกันและเป็นผู้นำในการสร้างขบวนการที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงขึ้น มิใช่แต่จะคอยเป็น “ต้นน้ำ” สายเล็กๆ เพียงอย่างเดียว

อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เคยเขียนไว้ใน “สันติประชาธรรม” ว่า

“ในบรรดาประชาชนนั้น ไม่ว่าแห่งใด ย่อมมีผู้นำ ในกรณีนี้คือ ผู้ที่ได้สำนึกแล้วในสิทธิเสรีภาพ และใครเล่าที่ได้สำนึกเช่นนี้ ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ได้มีวาสนาได้รับการศึกษา ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เมื่อมีวาสนาถึงเพียงนี้ ก็ย่อมต้องมีหน้าที่ความรับผิดชอบมากกว่าผู้อื่น การนำไม่ใช่เป็นสิทธิหรืออภิสิทธิ์ แต่เป็นหน้าที่”

ผู้ใหญ่ทุกท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เมื่อได้อ่านความคิดของอาจารย์ป๋วยนี้แล้ว ควรย้อนกลับไปถามตัวเองว่า ได้ทำ “หน้าที่” ในการนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงได้ดีแล้วหรือยัง?

---------------

ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มาเกือบสองปีแล้ว…

ผมรู้สึกแปลกใจที่ยังไม่มีอาจารย์ท่านใดนำงานเขียนของอาจารย์ป๋วย “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” มาเผยแพร่ให้ผมกับเพื่อนๆ ในชั้นได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำวิถีชีวิต คุณงามความดี และหลักการในการดำรงชีวิตของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่ให้นักศึกษาได้รับรู้

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่ไม่มีอาจารย์ท่านใดนำแนวคิด “สันติประชาธรรม” ของอาจารย์ป๋วยมาเผยแพร่

ผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์น้อยคนนักที่สอนให้นักศึกษาได้รู้ถึง “ความหมาย” ที่แท้จริงของเศรษฐศาสตร์ ความหมายที่ลึกซึ้งกว่า “การจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนองความต้องการของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพ” จนบางครั้งผมอดสงสัยไม่ได้ว่าอาจารย์ท่านรู้ถึงความหมายที่แท้จริงนี้หรือไม่…

และผมรู้สึกแปลกใจ ที่อาจารย์แทบจะไม่เคยพูดถึงหลัก “ธรรม” อันเป็นชื่อของมหาวิทยาลัยเลย

หาก “ศาสตร์” ต่างๆ ที่เราเล่าเรียนขาด “ธรรม” นำทางแล้ว ความรู้ต่างๆ จะมีประโยชน์กับสังคมได้อย่างไร กลับกันอาจเป็นโทษแก่สังคมด้วยซ้ำ หากถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด

อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ เคยกล่าวไว้ว่า

“การเรียนอย่างฝรั่งนั้น พัฒนาได้เพียงแค่หัวสมอง ถ้าธาตุแท้ของคนไม่มีดีเสียแล้ว ยิ่งเรียนสูงขึ้นไปเพียงใด มันก็ยิ่งโกงและกอบโกยได้มากเพียงนั้น”

ผมอยากให้อาจารย์ผู้สอนเศรษฐศาสตร์และวิชาการทุกสาขาคำนึงถึงจุดนี้ด้วย เพราะหากอาจารย์สอนแต่หลักวิชา โดยขาดการสอนคุณธรรมด้วยแล้ว มันจะเป็นโทษต่อสังคม มากกว่าเป็นประโยชน์ และหากเป็นเช่นนี้ จะมีการศึกษาไปเพื่ออะไรกัน?

แต่ผมยอมรับว่า “ธรรม” นั้น สอนยากกว่า “ศาสตร์” นัก แต่ถ้าจะให้มี “ศาสตร์” ที่ปราศจาก “ธรรม” แล้ว มันก็เหมือนกับมี “สมอง” แต่ไร้ซึ่ง “หัวใจ”… ถ้าเป็นเช่นนั้น ผมคิดว่า ไม่มี “ศาสตร์” เสียเลยจะดีกว่า

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับ “ความหมาย” ของเศรษฐศาสตร์ ไม่น้อยไปกว่า “เนื้อหา” ของเศรษฐศาสตร์

ผมอยากเห็น normative economics ไม่น้อยไปกว่า positive economics มิใช่มีแต่ positive อย่างเดียว เพราะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเป็นร่างที่ไร้จิตวิญญาณ

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเราให้ความสำคัญกับ เศรษฐศาสตร์นอกกระแสต่างๆ ตั้งแต่เศรษฐศาสตร์สถาบัน เศรษฐศาสตร์การเมือง เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ หรือความคิดแบบ Small is Beautiful ของ E.F. Schumacher ไปจนถึงพระราชปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงเช่นกัน

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ตระหนักถึงข้อจำกัดของวิชาเศรษฐศาสตร์ และตระหนักถึงความจริงที่ว่า “The really serious matters in life cannot be calculated.” (Schumacher, 1973) สิ่งที่สำคัญในชีวิต ดังเช่นความสุขของมนุษย์ ไม่สามารถประเมินค่าเป็นตัวเลขได้

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา ให้ความสำคัญกับข้อเขียนของ Schumacher ใน Small is Beautiful ที่ว่า

“…greed and envy demand continuous and limitless economic growth of a material kind, without proper regard for conservation, and this type of growth cannot possibly fit into a finite environment… infinite growth of material consumption in a finite environment is an impossibility…”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ของเรา สอนให้นักศึกษารู้จัก limit wants ของตัวเองบ้างคือ ละความโลภ ความเห็นแก่ตัว รู้จักพอ และรู้จักให้บ้าง มิใช่สอนแต่ว่ามนุษย์มีความเห็นแก่ตัว มีความต้องการไม่สิ้นสุด การสอนเช่นนี้อาจทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นวิชาที่เห็นแก่ตัวเสียเอง

ผมอยากเห็นวิชาเศรษฐศาสตร์มี “ชีวิต” มากกว่านี้ และ “บูรณาการ” มิติต่างๆทางสังคม มิใช่มีแต่แนวคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ซึ่งเต็มไปด้วยกราฟ และสมการคณิตศาสตร์ชั้นสูงไปหมดเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ผู้ใหญ่และนักศึกษาในคณะ ระลึกถึงอาจารย์ป๋วย และระลึกถึงข้อเขียนของอาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ใน “บทเรียนจากการตายของ นายป๋วย อึ๊งภากรณ์” ว่า

“…สำหรับคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ยกเอานายป๋วยเป็นดังบิดานั้น ก็จงอย่าทำตัวเป็นอวชาตบุตร โดยที่จะเป็นอภิชาตบุตรได้ ต้องเข้าใจถึงเศรษฐศาสตร์อย่างที่เป็นองค์รวม อย่างที่ท้าทายกระแสหลัก ด้วยการหันเอาเศรษฐศาสตร์มาสัมพันธ์กับศาสตร์อื่นๆ ในการอยู่ข้างคนยากไร้… หาทางโยงหัวสมองมาสู่หัวใจ…นี้แล คือการบูชาบุคคลที่ควรบูชา อย่างเป็นปฏิบัติบูชา ซึ่งมีค่ายิ่งกว่าอามิสบูชาด้วยวิธีอื่นๆ”

ผมอยากเห็นคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เป็น “แม่น้ำ” แห่ง “ธรรม” นำความเปลี่ยนแปลงที่ดีงามมาสู่สังคมไทย (อีกครั้ง)